ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 21 /2560
สิทธิประโยชน์ของแรงงานตามกฎหมายเยอรมัน
1. เวลาทำงาน
เวลาทำงานไม่รวมช่วงพักจะต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ อาจจะถึง 10 ชั่วโมงต่อวันได้เป็นการชั่วคราว หากรวมกันแล้วในระยะเวลา 6 เดือนตามปฏิทินหรือในระยะเวลา 24 สัปดาห์โดยเฉลี่ยมีเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน
2. เวลาพัก
หลังจากทำงานเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ลูกจ้างมีสิทธิพัก 30 นาที หรือพักได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที สถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 10 คน จะต้องมีห้องสำหรับพักผ่อน
3. ทำงานล่วงเวลาและงานกะกลางคืน
ลูกจ้างไม่จำเป็นต้องทำงานล่วงเวลาหากมิได้ทำข้อตกลงไว้ หากทำงานกะกลางคืน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับวันลาเพิ่มหรือได้รับค่าจ้างพิเศษ
4. การหยุดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ
เยอรมนีมีการระบุวันหยุดราชการประจำปีแตกต่างกันในแต่ละรัฐ อย่างไรก็ตาม วันอาทิตย์และวันหยุดราชการถือเป็นวันหยุดงาน กรณีที่ต้องให้ลูกจ้างทำงานในวันอาทิตย์จะต้องจัดให้ลูกจ้างได้มีวันหยุดวันอาทิตย์อย่างน้อย 15 วันต่อปี ลูกจ้างที่มาทำงานวันอาทิตย์จะได้รับวันหยุดเพิ่ม 1 วันเป็นการชดเชย แต่มีหลายภาคที่ไม่รวมอยู่ในระเบียบนี้ (เช่น ลูกจ้างโรงแรมและภัตตาคาร)
5. ค่าจ้างขั้นต่ำ
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เยอรมนีได้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ชั่วโมงละ 8.84 ยูโร (ก่อนหักภาษีและประกันสังคม) สำหรับบางสาขา อัตราค่าจ้างจะต้องไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่สาขานั้นได้กำหนดไว้ก่อนหน้าการประกาศใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเป็นอัตราที่นายจ้างและสหภาพแรงงานได้เจรจาหารือและตกลงร่วมกัน
6. การไม่จ่ายค่าจ้าง
หากมีการจ่ายค่าจ้างล่าช้าหรือยืดระยะเวลาจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างสามารถหยุดงานจนกว่าจะได้รับค่าจ้างโดยต้องแจ้งล่วงหน้า และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในช่วงที่หยุดทำงานด้วย
7. ระยะเวลาทดลองงาน
ระยะเวลาทดลองงานมีกำหนดไม่เกิน 6 เดือน กรณีที่ลูกจ้างไม่ผ่านการทดลองงาน นายจ้างจะต้องแจ้งและมีหลังสือแจ้งยุติการจ้างงานเป็นลายลักษณ์อักษร 2 สัปดาห์ก่อนกำหนดเวลาที่ประสงค์ให้ยุติการทำงาน
8. ผู้รับงานอิสระ
ผู้รับงานอิสระจะต้องได้รับค่าจ้างภายในหนึ่งเดือนหลังจากยื่นใบแจ้งยอดเงินที่ต้องชำระ แต่จะไม่ได้รับสิทธิส่วนใหญ่ดังที่ระบุไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตาม หากทำงานเป็นผู้รับงานอิสระและนายจ้างเป็นผู้บอกถึงวิธีการทำงานหรือผู้รับงานอิสระนั้นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการทำงาน ผู้รับงานอิสระนั้นอาจมิใช่ผู้รับงานอิสระอย่างแท้จริง ในกรณีเช่นนั้นก็มีสิทธิ เช่น ลูกจ้างประจำ ซึ่งการพิสูจน์ในเรื่องนี้กระทำได้ค่อนข้างยาก
9. การลาป่วย
หากลูกจ้างป่วยและไม่สามารถทำงานได้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเต็มจำนวนของรายได้ปกติเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ในกรณีที่ป่วยเกิน 6 สัปดาห์ บริษัทประกันสุขภาพจะจ่ายเงินทดแทนให้ตามอัตราส่วน ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องทำงานมาแล้วอย่างน้อยที่สุด 4 สัปดาห์ และต้องแจ้งให้นายจ้างทราบโดยทันทีว่าตนไม่สามารถทำงานได้และเป็นเวลานานเท่าใด
10. วันหยุดพักผ่อนประจำปี
ลูกจ้างมีสิทธิลาโดยได้รับค่าจ้าง 24 วันทำการต่อปี ทั้งนี้ วันทำการ หมายถึง วันตามปฏิทินที่มิใช่วันอาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับสิทธิในการลาหยุดเต็มจำนวนครั้งแรกหลังจากมีการจ้างงาน 6 เดือน ลูกจ้างที่อยู่ในระยะเวลาทดลองงานได้รับสิทธิลางานโดยได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกัน โดยคำนวณระยะเวลาที่มีสิทธิลาได้เป็น 1 ส่วน 12 ของระยะเวลาที่ทำงานเต็มเดือน
11. การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร
ลูกจ้างสามารถลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างในช่วง 6 สัปดาห์ก่อนการคลอดบุตร และจนถึง 8 สัปดาห์หลังการคลอดบุตร กรณีที่คลอดบุตรก่อนกำหนดหรือตลอดบุตรแฝด มารดามีสิทธิลาหลังคลอดได้ 12 สัปดาห์ บิดาและมารดาสามารถลาเลี้ยงดูแลบุตรรวมกันได้นานถึง 14 เดือนหลังการคลอดบุตรโดยได้รับเงินช่วยและไม่สามารถถูกเลิกจ้างได้ ทั้งนี้ บิดาและมารดามีสิทธิลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้นาน 3 ปี โดยสามารถลาได้จนกระทั่งบุตรอายุ 8 ปี โดยไม่ได้รับค่าจ้าง และนายจ้างต้องรักษาตำแหน่งเดิมไว้สำหรับลูกจ้างดังกล่าว ในช่วงการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ลูกจ้างสามารถร้องขอทำงาน 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยทำงานกับนายจ้างเดิมหรือนายจ้างอื่นได้
12. การประกันสังคม
ประกันสังคมภาคบังคับ ประกอบด้วยประกันสังคม 5 ประเภท ซึ่งได้แก่ ประกันสุขภาพประกันกรณีทุพลภาพ ประกันกรณีว่างงาน ประกันบำนาญ และ ประกันอุบัติเหตุ อัตราการจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมในแต่ละปีจะมีการปรับตามประกาศของรัฐบาลเยอรมนี
13. การเลิกจ้าง
ตามกฎหมายป้องกันการเลิกจ้าง การเลิกจ้างโดยเหตุผลด้านความประพฤติจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการแจ้งเตือนมิให้ประพฤติตนเช่นนั้นซ้ำเสียก่อน ยกเว้นกรณีมีปัญหาความประพฤติขั้นร้ายแรงเท่านั้นที่จะสามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ การเลิกจ้างต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
การยุติการจ้างงานโดยทั่วไป นายจ้างสามารถให้ลูกจ้างสิ้นสุดการทำงานวันที่ 15 หรือสิ้นเดือน โดยต้องแจ้ง เป็นลายลักษณ์อักษรให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า 4 สัปดาห์
ระยะเวลาในการแจ้งยุติสัญญาจ้าง จะแปรผันตามอายุงานของลูกจ้าง
- ลูกจ้างระยะทดลองงาน (ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน) ต้องแจ้งล่วงหน้า 2 สัปดาห์
- ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาน้อยกว่า 2 ปี ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน (4 สัปดาห์)
- ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาครบ 2 ปี ต้องแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน
- ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาครบ 5 ปี ต้องแจ้งล่วงหน้า 5 เดือน
- ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาครบ 8 ปี ต้องแจ้งล่วงหน้า 3 เดือน
- ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาครบ 10 ปี ต้องแจ้งล่วงหน้า 4 เดือน
- ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาครบ 12 ปี ต้องแจ้งล่วงหน้า 5 เดือน
- ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาครบ 15 ปี ต้องแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน
- ลูกจ้างทำงานเป็นเวลาครบ 20 ปี ต้องแจ้งล่วงหน้า 7 เดือน
กรณีที่ลูกจ้างพิจารณาแล้วว่า การยุติการจ้างไม่เป็นธรรม จะต้องดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแรงงานภายใน 3 สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งยุติการว่าจ้าง ศาลจะรับฟ้องร้องคดีภายหลังจากระยะเวลา 3 สัปดาห์ เฉพาะกรณที่ลูกจ้างสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถยื่นคำร้องในระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้
14. การเกษียณอายุ
ลูกจ้างจะเกษียณอายุงาน เมื่ออายุ 67 ปี ลูกจ้างจะได้รับเงินบำนาญเมื่อมีอายุครบตามที่กำหนดไว้ (โดยทั่วไป 67 ปี หรือตามที่ตกลงไว้ในระเบียบการประกัน) โดยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถขอรับเงินบำนาญเมื่ออายุ 63 ปีได้ ในกรณีที่ทำงานนานและจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วเป็นเวลาครบ 45 ปี
—————————————————
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
25 มีนาคม 2560