การให้ความคุ้มครองแรงงานไทย
1. ภาพรวมการให้ความคุ้มครองแรงงานไทย
ที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และสถานกงสุลใหญ่ ณ กรุงแฟรงก์เฟิร์ต เป็นหน่วยงานหลักในการให้ความคุ้มครองแรงงานไทยและคนไทยที่มีปัญหาในสหพันธ์ฯ และกระทรวงแรงงานได้เปิดสำนักงานแรงงานขึ้น ประจำ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 เป็นต้นมาเพื่อรับช่วงงานต่อไป ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานไทยที่ส่งเรื่องให้สถานเอกอัครราชทูตฯ และสถานกงสุลใหญ่ฯ ในแต่ละปีมีไม่มากนัก ซึ่งปัญหาที่สำคัญได้แก่ (1) การถูกนายหน้าหลอกให้มาทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้างตามที่ตกลงไว้ก่อนหน้านี้ (2) การถูกล่อลวงให้มาทำงานในสหพันธ์ฯ โดยใช้ visa นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการเข้ามากับคนรู้จัก แล้วถูกปล่อยทิ้งไว้ และ (3) การขอรับเงินที่ถูกหักจากเงินเดือนรายเดือนเพื่อเป็นค่าสวัสดิการสังคมและเงินเกษียณอายุคืน ซึ่งการขอรับเงินดังกล่าวคืน แรงงานไทยสามรถสอบถามจากบริษัทประกันสุขภาพและสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ขณะทำงาน หรือดูรายละเอียดได้จากเว็บไซด์ของDeutsche Rentenversicherung Bund
ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กำหนดให้ลูกจ้างทุกคนทำประกันสังคม ซึ่งรายละเอียดและเงื่อนไขของการประกัน นายจ้างและลูกจ้างจะเป็นผู้ตกลงกันเองในแต่ละกรณีไป ลักษณะเงื่อนไขและผลครอบคลุมของการประกันสังคมในเยอรมนีไม่มีความแตกต่างระหว่างคนท้องถิ่นและคนต่างชาติ ไม่ว่าอายุ ศาสนา หรือเชื้อชาติใดๆ
การประกันอุบัติเหตุ และการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการประกันสังคม ซึ่งสิทธิประโยชน์จะครอบคลุมกรณีการเกิดอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยทั้งหมด รวมทั้งผลที่เกิดขึ้นและการฟื้นฟูเพื่อกลับไปสู่สภาพปกติ โดยผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ได้แก่ลูกจ้างที่ทำประกันเอง และบุคคลในครอบครัว
1. ในกรณีเสียชีวิต ไม่ว่าจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน จะได้รับค่าทำศพเป็นเงิน 4,200 ยูโร (3,540 ยูโร สำหรับเยอรมนีส่วนที่เคยเป็นเยอรมนีตะวันออก) หากไม่ได้เสียชีวิตในบริเวณที่จะทำศพก็จะได้รับเงินเพื่อเป็นค่าส่งศพไปให้ญาติหรือสถานที่ที่จะทำพิธีต่อไป
– คู่สมรสจะได้รับเงินรายปี 30 % จากรายได้ต่อปีของผู้เสียชีวิต หรือ 40 % จากรายได้ต่อปีของผู้เสียชีวิต ในกรณีที่คู่สมรสมีอายุเกิน 45 ปี หรือคู่สมรสไม่สามารถประกอบอาชีพได้ หรือมีบุตรที่ต้องเลี้ยงดู
– บุตรที่อายุไม่เกิน 18 ปี หรือ 27 ปี ในกรณีศึกษาอยู่ จะได้รับเงินรายปี 20% จากรายได้ต่อปีของผู้เสียชีวิต หรือ 30% จากรายได้ต่อปีของผู้เสียชีวิตในกรณีบิดาและมารดาเสียชีวิตทั้งคู่
2. ในกรณีได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ก็จะได้รับค่ารักษาพยาบาล ค่าแพทย์ และค่ากายภาพบำบัด
3. ในกรณีได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน และต้องพักรักษาตัว ก็จะได้รับเงินค่าเจ็บป่วย ซึ่งระยะเวลาและจำนวนเงินจะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีไป ในบางกรณีก็จะได้รับเงินค่าเจ็บป่วยไปจนตลอดชีวิต และสำหรับบุคคลต่างชาติที่ต้องการเดินทางกลับไปพำนักที่ประเทศของตนก็จะได้รับเงินค่าเจ็บป่วยส่งไปให้เช่นกัน
4. ในกรณีได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน และไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพเดิมได้ ก็จะได้รับความช่วยเหลือเพื่อการกลับเข้าไปทำงานอีกครั้ง เช่นการให้คำแนะนำ การอบรมความรู้ความชำนาญเพิ่มเติม หรือการฟื้นฟูศักยภาพในการทำงานใหม่ ซึ่งความช่วยเหลือในส่วนนี้จะมีระยะเวลาไปจนถึงการสิ้นสุดการฟื้นฟูหรือการอบรม
5. จำนวนเงินของค่าเจ็บป่วยจะขึ้นอยู่กับความเสื่อมถอยของความสามารถใน
การปฏิบัติหน้าที่ และจำนวนรายได้ต่อปีก่อนเกิดอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย ความเสื่อมถอยของความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่จะถูกประเมินโดยแพทย์ที่เกี่ยวข้อง
6. ในกรณีที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือในการจ้างคนดูแลพิเศษ ทั้งในส่วนของความช่วยเหลือด้านร่างกายและที่อยู่อาศัยด้วย
7. ลูกจ้างที่ได้ทำประกันสังคมแล้ว ไม่ต้องกรอกใบสมัครหรือคำร้องใดๆในการได้รับสิทธิประโยชน์ เนื่องจากลูกจ้างทุกคนจะได้รับการคุ้มครองและสิทธิ์ประโยชน์ตามกฎหมายเบื้องต้นอยู่แล้ว
1503