กฎหมายแรงงาน (Arbeitsrecht) ของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีเป้าหมายหลักคือ การคุ้มครองลูกจ้างในการทำงาน เนื่องจากลูกจ้างจำเป็นต้องพึ่งพานายจ้าง ไม่เพียงแต่ในด้านรายได้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงด้านความสัมพันธ์ด้วย ซึ่งจะผูกพันกันภายใต้สัญญาการทำงานระหว่างกัน กฎหมายแรงงานจะครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภท รวมทั้งบุคคลที่รับงานไปทำที่บ้านด้วย
กฎหมายแรงงานแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ กฎหมายแรงงานรายบุคคล (Individual Labour Law) ซึ่งครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างโดยตรง และกฎหมายแรงงานกลุ่มร่วม (Collective Labour Law) ใช้กับความสัมพันธ์ด้านกฎหมายระหว่างกลุ่มสหภาพแรงงานและสมาคมหรือกลุ่มนายจ้างต่าง ๆ ในระดับบริษัทหรือระดับเหนือบริษัทขึ้นไป กฎหมายแรงงานกลุ่มร่วมมีจุดมุ่งหมายในการกำหนดเงื่อนไขการทำงานให้เป็นไปในทางเดียวกัน และกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง การไกล่เกลี่ย และการยุติความขัดแย้ง การเป็นตัวแทนของกลุ่มลูกจ้างและการมีสิทธิในการตัดสินใจร่วม
1.กฎหมายแรงงานรายบุคคล (Individual Labour Law)
กฎหมายแรงงานบุคคลครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับสัญญาการทำงานระหว่างกัน ในกฎหมายการทำงานจะประกอบไปด้วยสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ที่จะกำหนดเงื่อนไขการทำงานโดยทั่วไป ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับทั้งลูกจ้างและนายจ้างโดยตรง กฎหมายบางชนิดจะกำหนดให้ลูกจ้างต้องได้รับสิทธิขั้นต่ำ อาทิ กฎหมายวันหยุดสหพันธ์ (Federal Holidays Act) และกฎหมายการจ่ายเงินต่อเนื่อง (the Continuation of Pay Act) ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าเจ็บป่วยจากนายจ้างได้ถึง 6 สัปดาห์ในกรณีลูกจ้างลาป่วย
สิทธิทางกฎหมายขั้นต่ำนี้เป็นเพียงสิทธิพื้นฐานที่ลูกจ้างจะต้องได้รับ ซึ่งลูกจ้างจะสามารถได้รับสิทธิมากกว่าขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยการตกลงตามสัญญาการทำงาน หรือตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานกับกลุ่มนายจ้าง (ที่ครอบคลุมสถานที่ทำงานนั้น ๆ ) อาทิ ลูกจ้างสามารถได้รับวันหยุดมากกว่าจำนวนวันหยุดขั้นต่ำตามกฎหมายที่ลูกจ้างมีสิทธิได้
นอกจากนี้ กฎหมายแรงงานรายบุคคลได้กำหนดระยะเวลาการแจ้งล่วงหน้าในการยกเลิกสัญญาจ้าง โดยปกติไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ล่วงหน้า และ ระยะเวลาในการแจ้งยกเลิกสัญญาจ้างก็จะต้องนานขึ้นตามระยะเวลาการทำงานกับสถานประกอบการนั้นๆตามลำดับ ดังนี้
– ทำงาน 1 ปี ระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน
– ทำงาน 5 ปี ระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า 2 เดือน
– ทำงาน 8 ปี ระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า 3 เดือน
– ทำงาน 10 ปี ระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า 4 เดือน
– ทำงาน 12 ปี ระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า 5 เดือน
– ทำงาน 15 ปี ระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า 6 เดือน
– ทำงาน 20 ปี ระยะเวลาแจ้งล่วงหน้า 7 เดือน
ทั้งนี้ การนับระยะเวลาการทำงานกับนายจ้างเดิมจะเริ่มตั้งแต่ลูกจ้างอายุ 25 ปีบริบูรณ์อย่างไรก็ตาม สัญญาการจ้างงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอาจกำหนดให้ระยะเวลาการแจ้งล่วงหน้านานกว่าระยะที่กฎหมายกำหนดได้ ในกรณีที่ทั้ง 2 ฝ่ายยินยอมตกลงกัน แต่ต้องไม่น้อยกว่ากฎหมายกำหนด
ตามกฎหมายป้องกันการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม (the Unfair Dismissal Protection Act) การเลิกจ้างโดยปกติ (และภายใต้ระยะเวลาการแจ้งล่วงหน้าที่ถูกต้อง) ถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ทั้งทางสังคมและกฎหมาย ในกรณีที่สาเหตุของเลิกจ้างเกี่ยวข้องกับบุคคลหรือพฤติกรรมของบุคคลนั้นหรือมีความจำเป็นที่ไม่อนุญาตให้บุคคลนั้นทำงานต่อไปได้
กฎหมายป้องกันการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมนั้น มีผลบังคับใช้ต่างกัน ขึ้นอยู่กับขนาดของสถานประกอบการ และวันเริ่มต้นในสัญญาการทำงาน ดังนี้
– มีผลใช้กับประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2004 เป็นต้นมา
– มีผลใช้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป และลูกจ้างดังกล่าวมีสัญญาจ้างเริ่มต้น ณ หรือ ก่อนวันที่31 ธันวาคม 2003 ก็จะเข้าข่ายกับกฎหมายดังกล่าว ตราบใดที่สถานประกอบการนั้นยังมีคนมากกว่า 5 คน ส่วนลูกจ้างที่เริ่มทำงานหลังวันที่ 31 ธันวาคม2003 จะไม่เข้าข่ายและได้รับสิทธิในกฎหมายนี้
สำหรับการนับจำนวนคนทำงานพิจารณาโดย ลูกจ้างทำงานไม่เต็มเวลา (part time) จะนับจำนวนชั่วโมงในการทำงาน ส่วนลูกจ้างฝึกงานจะไม่เข้าข่ายนี้ และลูกจ้างที่จะมีสิทธิในกฎหมายป้องกันการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมจะต้องทำงานติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 6 เดือนก่อนที่จะถูกเลิกจ้าง
กฎหมายสัญญาจ้างงานชั่วคราวและสัญญาจ้างงานระบุระยะเวลาการจ้าง (the Act on Part-time Work and Fixed-term employment Contracts) จะควบคุมดูแลเงื่อนไขต่าง ๆ ของการจำกัดสัญญาการทำงานและผลทางกฎหมายอันเกิดจากการจำกัดที่ไม่ถูกต้อง อาทิ สัญญาการจ้างงานที่ระบุระยะเวลาจ้างชัดเจนสามารถยกเลิกโดยไม่ต้องแจ้งล่วงหน้าเมื่อสัญญานั้นสิ้นสุดลง แต่อาจแจ้งล่วงหน้าก่อนวันสิ้นสุดสัญญาได้ หากมีการตกลงกันในสัญญาดังกล่าว หรือการตกลงร่วมกันระหว่างสหภาพแรงงานกับกลุ่มนายจ้าง
ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2000 เป็นต้นไป การแจ้งยกเลิกสัญญาหรือการตกลงสิ้นสุดการทำงาน หรือการตกลงใด ๆ เกี่ยวกับการจำกัดระยะเวลาของสัญญาการจ้างงานจะต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้มีผลทางกฎหมาย
หากลูกจ้างไม่เห็นด้วยกับการให้ออกจากงาน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าหรือเหตุผลอื่นใดแล้ว ลูกจ้างสามารถนำเรื่องยื่นต่อศาลแรงงานภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์ นับจากวันที่ได้รับแจ้ง ในขณะเดียวกันลูกจ้างมีเวลา 3 สัปดาห์ที่จะนำเรื่องขึ้นศาลหากลูกจ้างไม่เห็นด้วยกับการระบุระยะเวลาของสัญญาจ้างงาน
2. กฎหมายแรงงานกลุ่มร่วม (Collective Labour law) แบ่งออกได้เป็น 2 ระดับ คือ
1. กฎหมายการต่อรองร่วม (Collective Bargaining Law) จะครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพแรงงาน สมาคมนายจ้าง และนายจ้างทั่วไป
2. กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในสถานที่ทำงาน (The Law on Labour Relations at the workplace) จะครอบคลุมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างทั้งหมดในแต่ละสถานที่ทำงาน
2.1 กฏหมายการต่อรองร่วม
สหภาพแรงงานและสมาคมนายจ้างต่าง ๆ มีสิทธิที่จะเจรจาต่อรองกันเกี่ยวกับค่าจ้างและเงื่อนไขในการทำงาน โดยรัฐจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยระบุไว้ในรัฐธรรมนูญสหพันธ์ฯ ถือว่าเป็นสิทธิการต่อรองร่วมโดยเสรี โดยแต่ละฝ่ายจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อการตกลงระหว่างกัน
อัตราค่าจ้างและเงื่อนไขในการทำงานสำหรับงานเกือบทั้งหมดในสหพันธ์ฯ จะถูกกำหนดโดยการต่อรองระหว่างทั้งสองฝ่าย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอำนาจสิทธิในการต่อรองร่วมโดยเสรีมีความสำคัญมากในประเทศนี้
การต่อรองร่วมจะเป็นการต่อรองระหว่างสหภาพกับสมาคมนายจ้าง หรือระหว่างสหภาพกับนายจ้างรายบุคคล ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของทั้งสองฝ่ายในการสนับสนุนผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย และกำหนดออกเป็นเงื่อนไขในการทำงานและในด้านเศรษฐกิจระหว่างกัน
การต่อรองร่วมมีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่
1. การป้องกัน
การตกลงร่วมจะช่วยป้องกันลูกจ้างจากการถูกนายจ้างเอาเปรียบในเงื่อนไขของการทำงาน ดังนั้นสัญญาจ้างงานของลูกจ้างรายบุคคลจะต้องไม่ขัดกับเงื่อนไขที่การตกลงร่วมระหว่างสหภาพกับนายจ้างที่ได้กระทำไว้สำหรับสาขาอาชีพแต่ละสาขาภายในแต่ละรัฐ
2. การกำหนดลักษณะองค์กร
ข้อตกลงร่วมจะแจ้งสาระที่แสดงความสัมพันธ์การทำงานในทุกรูปแบบในขณะที่มีผลบังคับใช้
3. การรักษาสันติสุขในอาชีพ
ในขณะที่การตกลงร่วมมีผลบังคับใช้ ลูกจ้างจะไม่มีสิทธิในการประท้วงหรือเรียกร้องใด ๆ เกี่ยวกับเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าจ้างหรือการทำงานที่ได้ตกลงกันไว้ โดยเงื่อนไขที่การตกลงร่วมจะครอบคุลมประเด็น ดังนี้
– อัตราค่าจ้าง
– จำนวนชั่วโมงการทำงาน
– วันหยุด
– ระยะเวลาการแจ้งล่วงหน้า
การตกลงร่วมจะมีผลบังคับใช้กับลูกจ้างรายใด ก็ต่อเมื่อ
– นายจ้างเป็นสมาชิกในสมาคม/กลุ่มนายจ้าง และลูกจ้างก็อยู่ในสหภาพแรงงานที่กำหนดการตกลงร่วม (หรือเป็นการตกลงกับนายจ้างโดยตรง)
– หรือ ลักษณะความสัมพันธ์ด้านการทำงานของลูกจ้างจะต้องเป็นไปในลักษณะที่การตกลงร่วมครอบคลุมไว้
– หรือ นายจ้างสามารถทำความตกลงกับลูกจ้างในสัญญาจ้างงาน ว่าเงื่อนไขที่มีในการตกลงร่วมสามารถถูกนำมาใช้กับความสัมพันธ์ในการทำงานของทั้งสองฝ่ายได้
2.2 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการ
กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในสถานประกอบการจะเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทหรือองค์กรอื่นๆและลูกจ้าง การที่ใช้คำว่า “สถานประกอบการ” เนื่องจากในบางองค์กรใหญ่ กฎระเบียบจะใช้เฉพาะเจาะจงกับบางส่วน แต่บางองค์กรก็จะใช้กับทั้งองค์กร หลักพื้นฐานก็คือ เพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีความร่วมมืออันดีระหว่างสหภาพและสมาคมนายจ้างในสถานประกอบการแต่ละแห่งเพื่อผลประโยชน์ของลูกจ้าง
สภาแรงงาน (The Work Council) จะถูกเลือกจากกำลังแรงงานทั้งหมดเพื่อดำเนินการในภารกิจทั่ว ๆ ไป อาทิ กำกับดูแลเงื่อนไขทางกฎหมาย กฎระเบียบความปลอดภัย การตกลงร่วมและการตกลงในสถานที่ทำงานนั้น ๆ มีความถูกต้องและได้รับการปฏิบัติตามเพื่อผลประโยชน์ของลูกจ้าง
นอกจากนี้สภาแรงงานยังมีหน้าที่ดูแลด้านสวัสดิการสังคม ประเด็นต่าง ๆ ด้านบุคลากรและเศรษฐกิจด้วย สิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมของสภาทำงานมี 2 ประเภท คือ
1. สิทธิในการตัดสินใจร่วม จะให้สิทธิสภาแรงงานที่จะให้ความเห็นชอบกับนายจ้างก่อนที่นายจ้างจะดำเนินการใด ๆ หากสภาแรงงานไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของนายจ้าง เรื่องหรือประเด็นดังกล่าวก็จะถูกนำขึ้นไปตัดสินโดยคณะกรรมการการทำงาน (Board of Arbitration)โดยมีตัวแทนจากสภาแรงงานและนายจ้างฝ่ายละเท่ากัน และมีคนกลางเป็นประธาน
2. สิทธิในด้านข้อมูลข่าวสารและคำปรึกษา นายจ้างจะต้องรายงานข้อมูลต่าง ๆ ให้สภาแรงงานทราบ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็น หรือปรึกษาประเด็นปัญหาต่าง ๆ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงานในสหพันธ์ฯ ประกอบด้วย
– ประมวลกฎหมายพลเรือน (The Civil Code)
– กฎหมายป้องกันการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม (Protection against Unfair Dismissal Act)
– กฎหมายวันหยุดสหพันธ์ (Federal Holidays Act)
– กฎหมายคุ้มครองมารดาที่ทำงาน (Protection of Working Mothers Act)
– กฎหมายการจ่ายเงินต่อเนื่อง (Continuation of Pay Act)
– กฎหมายเอกสารเงื่อนไขการจ้างงาน (Documentation of Employment Conditions Act)
– กฎหมายคุ้มครองแรงงานเยาวชน (Protection of Minors at Work Act)
– กฎหมายการต่อรองร่วม (Collective Bargaining Act)
– กฎหมายสัญญาจ้างงานชั่วคราว และสัญญาจ้างงานระบุระยะเวลาจ้าง (Part-time and Limited-term Employment Contracts Act)
– กฎหมายรัฐธรรมนูญการทำงาน (Works Constitution Act)
– กฎหมายคณะกรรมการผู้แทนฝ่ายจัดการอาวุโส (Senior Management Representative Committees Act)
– กฎหมายการตัดสินใจร่วมในอุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก และเหล็กกล้า (Coal, Iron and Steel Industry Codetermination Act)
– กฎหมายการมีส่วนร่วมแบบหนึ่งในสาม (One-Third Participation Act)
– กฎหมายการตัดสินใจร่วม (Codetermination Act)
** หมายเหตุ งานภาคราชการจะใช้กฎหมายผู้แทนบุคลากรสหพันธ์และรัฐ (the Federal and Lander Personnel Representation Acts) แทนกฎหมายรัฐธรรมนูญการทำงาน (Works Constitution Act) ซึ่งจะใช้สำหรับความสัมพันธ์ด้านแรงงานของภาคเอกชน
ที่มาข้อมูล : กระทรวงแรงงานและกิจการสังคม สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ฝ่ายแรงงานประจา สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน
8 มิถุนายน 2553
5202