ประกาศฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
เรื่อง การแจ้งเตือน กรณีหลบหนีหรือลักลอบทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
________________________________
ด้วยขณะนี้มีคนไทยบางส่วนหลบหนีในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการแจ้งเตือนให้ตระหนักถึงผลที่ตามมา และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการทำงาน ฝ่ายแรงงานฯ จึงขอออกประกาศเตือน ดังต่อไปนี้
1. สหพันธ์ฯ อนุญาตให้แรงงานต่างชาติ รวมถึงแรงงานไทยในสาขาวิชาชีพขั้นสูงหรือผู้เชี่ยวชาญ และวิชาชีพขาดแคลน อาทิ วิศวกร พยาบาลดูแลผู้สูงอายุ นักเทคนิคการแพทย์ เข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ โดยแรงงานไทยสาขาอาชีพพ่อครัว/ แม่ครัวพิเศษนับเป็นแรงงานกึ่งฝีมืออาชีพเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน
2. นายจ้างต้องยื่นขออนุญาตจ้างงานจากสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ เมื่อสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ ให้สิทธิพำนักและใบอนุญาตทำงาน (วีซ่าเชงเก้น) แรงงานไทยต้องทำงานในอาชีพ ระยะเวลา และทำงานกับนายจ้างที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
3. สิทธิพำนักและใบอนุญาตทำงาน (วีซ่าเชงเก้น) ที่แรงงานไทยได้รับจะสามารถใช้เดินทางในกลุ่มประเทศสมาชิกอียูได้ แต่ไม่สามารถทำงานในประเทศอียูอื่นๆ ได้ นอกเหนือจากประเทศที่เป็นผู้ออก วีซ่าเชงเก้นดังกล่าว
4. ในกรณีที่แรงงานต้องการเปลี่ยนสถานที่ทำงานในสหพันธ์ฯ นายจ้างใหม่และแรงงานไทยจะต้องแจ้งเพื่อขออนุญาตจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยระหว่างรอการพิจารณา ห้ามมิให้แรงงานไทยทำงานใดๆ หากฝ่าฝืน จะเข้าข่ายลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย มีโทษปรับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และลูกจ้างอาจถูกส่งกลับประเทศ
5. นายจ้างว่าจ้างแรงงานต่างชาติโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษปรับสูงสุด 500,000 ยูโร หรือจำคุกสูงสุด 10 ปี นายจ้างว่าจ้างแรงงานต่างชาติโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน ด้วยสภาพการจ้างงานที่ด้อยกว่าการจ้างงานชาว เยอรมันในสาขาอาชีพเดียวกัน มีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี หรือมีโทษปรับ ในบางกรณีที่รุนแรง มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี
6. แรงงานไทยที่หลบหนีหรือลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย มีโทษปรับสูงสุด 5,000 ยูโร และถูกส่งกลับประเทศ แรงงานไทยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่งกลับประเทศทั้งหมด และจะถูกห้ามเข้าสหพันธ์ฯ อย่างน้อย 5 ปี ทั้งนี้ หากแรงงานไทยไม่สามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายนี้ นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด นอกเหนือจากค่าปรับส่วนของนายจ้างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
7. แรงงานไทยที่หลบหนีหรือลักลอบทำงานจะไม่สามารถเข้าระบบประกันสังคม ของสหพันธ์ฯ ซึ่งได้แก่ ประกันสุขภาพกรณีเจ็บป่วย ประกันกรณีทุพลภาพ ประกันกรณีว่างงาน และการประกันกรณีชราภาพ/บำนาญ ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน อีกทั้งไม่สามารถยื่นเรื่อง ร้องทุกข์ต่อทางการสหพันธ์ฯ ในเรื่องใดๆ จากนายจ้างได้
ในกรณีมีข้อสงสัยและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ที่อยู่ Lepsiusstr. 64/66, 12163 Berlin หมายเลขโทรศัพท์ 030 79481231-2
Email: labour_berlin@hotmail.com
Facebook: https://www.facebook.com/labour.berlin
Website: http://germany.mol.go.th/
ประกาศ ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2560
ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอรืลิน
ไฟล์แนบ | ขนาด |
---|---|
annoucement-2-3.pdf | 573.74 KB |