Skip to main content

หน้าหลัก

การเคลื่อนย้ายแรงงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

     คนต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี รัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษกับบุคคลสัญชาติในสหภาพยุโรป   (European Union : EU)  รุ่นแรก ๆ เป็นอันดับแรก  ได้แก่  เบลเยี่ยม เดนมาร์ก  ฟินแลนด์  ฝรั่งเศส  กรีซ  ไอร์แลนด์  อิตาลี  ลักเซมเบิอร์ก  มอลต้า  เนเธอร์แลนด์  ออสเตรีย  โปรตุเกส  สวีเดน  สเปน  สหราชอาณาจักรและไซปรัส  บุคคลสัญชาติดังกล่าวไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตในการทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  และสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมนีได้โดยไม่มีข้อจำกัดใด ๆ
             สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ในสหภาพยุโรป  ซึ่งกำลังอยู่ช่วงเปลี่ยนผ่านมาเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป  ก็มีข้อจำกัดบางประการในการเข้ามาทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี  ประเทศสหภาพยุโรปในกลุ่มนี้  ได้แก่  บัลแกเรีย  เอสโตเนีย  ลัตเวีย  ลิธัวเนีย  โปแลนด์  โรมาเนีย  สโลวาเกีย  สโลวาเนีย  เช็ค  และฮังการี  จะสามารถทำงานในสหพันธ์ฯ  โดยขอใบอนุญาตจากสำนักงานจัดหางานในส่วนที่ดูแลประเทศในกลุ่มนี้
             ทั้งนี้เมื่อกลุ่มประเทศนี้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเต็มที่แล้ว  ก็จะได้รับสิทธิพิเศษเหมือนประเทศสหภาพยุโรปรุ่นเก่าและเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมันได้โดยเสรี
             สำหรับบุคคลที่มาจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป  หรือกลุ่มเศรษฐกิจยุโรป    (European Economic Area-EEA)   หรือบุคคลสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์จะต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่าง ๆ อันดับแรกคือ  บุคคลดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุญาตให้พำนักอยู่ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี    และการพำนักอยู่ในสหพันธ์ฯนั้นจะต้องเป็นลักษณะที่อนุญาตให้ทำงานเลี้ยงชีพในสหพันธ์ฯได้ด้วย
             บุคคลสัญชาติออสเตรีย  อิสราเอล  ญี่ปุ่น  แคนาดา  เกาหลีใต้  นิวซีแลนด์และสหรัฐอเมริกาสามารถยื่นขอสิทธิการพำนักในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเพื่อทำงานได้ภายหลังจากที่เดินทางเข้ามาในสหพันธ์ฯ แล้ว โดยการยื่นเรื่องกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของเยอรมัน  ส่วนบุคคลที่มีสัญชาติอื่นจะต้องยื่นเรื่องขอวีซ่าที่เหมาะสมก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
             แรงงานต่างชาติจะเข้าสู่ตลาดแรงงานของเยอรมันได้ยากลำบากมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจากที่เยอรมันได้ยุติการนำเข้าแรงงานต่างชาติในปี 1973  และสภาวะการว่างงานในประเทศสูงขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังจากการรวมประเทศในปี 1989  ในปัจจุบันแม้ว่าตัวเลขการว่างงานจะลดน้อยลงบ้าง แต่รัฐบาลสหพันธ์ฯก็ไม่มีทีท่าว่าจะเปิดรับแรงงานต่างชาติมากนัก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่สหภาพยุโรปกำลังขยายการรับสมาชิกใหม่ ๆ เข้ามา  ก็ทำให้โอกาสของแรงงานไทยที่จะเข้าไปทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันมีไม่มากนัก
             อย่างไรก็ดี  รัฐบาลสหพันธ์ฯ  มีนโยบายที่จะเปิดรับแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในบางสาขาเฉพาะ  เช่น  สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ   และวิศวกรรม ซึ่งเป็นที่ต้องการมาก  และอินเดียเป็นประเทศหลักในการส่งแรงงานดังกล่าว   เนื่องจากอินเดียมีศักยภาพและความพร้อมในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศสูง  และมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี  ดังนั้นสาขาอาชีพเฉพาะที่แรงงานไทยสามารถเข้ามาประกอบอาชีพได้เป็นหลัก จึงเป็นสาขา  พ่อครัว/แม่ครัว  และพนักงานนวด     เป็นต้น 

——————————————-

ที่มาข้อมูล: กระทรวงแรงงานและกิจการสังคม   สหพัน์สาธารณรัฐเยอรมนี

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน
8 มิ.ย. 2553


578
TOP