อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) นางสุชาดา ชี้เจริญ เข้าหารือกับนาย Michael van der Cammen หัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ สำนักกิจการแรงงาน (จัดหางาน)ของรัฐบาลกลางสหพันธ์ฯ (Bundesagentur für Arbeit ) สำนักงานใหญ่ ณ เมือง Nürnberg เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 เพื่อหารือแนวปฏิบัติด้านนโยบายการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในสหพันธ์และเป็นการประสานขอการสนับสนุนความร่วมมือด้านการขยายตลาดแรงงานนวดสปา/พยาบาลวิชาชีพ โดย ฝ่ายต่างประเทศฯเห็นพ้องกับฝ่ายแรงงานฯว่า งานสาขานวด/สปาไทยเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะฝีมือระดับกลาง (Semi-skilled labour) เป็นวิชาชีพเฉพาะที่แรงงานเยอรมันหรือชาติอื่นไม่สามารถทำได้ดีเท่าแรงงานไทย และควรได้รับการพิจารณาผ่อนปรนในลักษณะเดียวกันกับงานสาขาพ่อครัว/แม่ครัวพิเศษสำหรับภัตตาคารอาหารไทยที่ทางการเยอรมันอนุญาตให้จ้างแรงงานจากประเทศไทยได้ ในการนี้มีความเห็นร่วมกันว่าสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากในการเจรจากับสหพันธ์ฯคือต้องมีสถิติตัวเลขที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมยืนยันความต้องการที่แท้จริงของสถานประกอบการที่มีเจ้าของเป็นชาวเยอรมัน/ไทย นอกจากนี้ต้องกำหนดมาตรฐานของร้านหรือธุรกิจ สปาที่จะรับแรงงานจากไทย รวมทั้งคุณสมบัติเบื้องต้นของแรงงานที่จะได้รับการยอมรับในการทำงาน และสวัสดิการแรงงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ฝ่ายต่างประเทศให้ข้อมูลขั้นตอนการจ้างแรงงานจากประเทศที่สามในเบื้องต้น ดังนี้
1. ต้องเป็นตำแหน่งงานที่มีการประกาศหางานอย่างชัดเจน
2. หากแรงงานจากต่างประเทศต้องการสมัครงานดังกล่าว นายจ้างและลูกจ้างติดต่อกันโดยตรง เมื่อนายจ้างและลูกจ้างตกลงเรื่องสัญญาจ้าง และสภาพการจ้างเรียบร้อยแล้ว
3. Agentur für Arbeit ตรวจสอบเรื่อง ลำดับความสำคัญของตำแหน่งงานและประสานกับนายจ้าง ว่ามีแรงงานชาวเยอรมันหรือแรงงานในประเทศที่จะสามารถทำงานนั้นได้หรือไม่
4. หากไม่มีแรงงานในประเทศที่สามารถทำงานตำแหน่งดังกล่าวได้ แรงงานยื่นขอวีซ่าผ่านกงสุลหรือสถานทูตเยอรมัน
5. กงสุล/สถานทูตประสานต่อเรื่องต่อไปที่ Ausländerbehörde
6. Ausländerbehörde สอบถามและให้ ZAV ร่วมพิจารณา (แล้วแต่สาขาอาชีพที่กำหนดให้ ZAV ร่วมพิจารณาหรือไม่ เช่น หากเป็นอาชีพพ่อครัว/แม่ครัวพิเศษ ZAV ต้องร่วมพิจารณา)
7. ZAV แจ้งผลการพิจารณาต่อ Ausländerbehörde
8. Ausländerbehörde แจ้งผลการพิจารณาต่อกงสุลเยอรมันประจำประเทศไทย
9. กงสุลออกวีซ่า หรือ ปฏิเสธ
10. แรงงานต่างด้าวสามารถ/ไม่สามารถเดินทางเข้าทำงานในสหพันธ์ฯได้
ฝ่ายต่างประเทศฯอยู่ระหว่างการประสานไปยังแผนกจัดหาแรงงานต่างด้าวและจัดหาตำแหน่งงานในต่างประเทศ (Zentrale Auslands- und Fachvermittlung : ZAV) แห่งสำนักจัดหางานสหพันธ์ฯ ที่กรุงบอนน์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องข้อปฏิบัติการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศในรายละเอียดเชิงลึกเรื่องแนวโน้มการขยายตลาดแรงงานเฉพาะสาขาอาชีพนวดสปา เพื่อเป็นโอกาสร่วมหารือกับรัฐบาลกลางของสหพันธ์ฯต่อไป ในการนี้ได้พูดคุยเรื่องความร่วมมือในกรอบของเครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อการจ้างงาน (World Association of Public Employment Service)ที่ประเทศไทย โดยกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เป็นหนึ่งในเครือข่ายสมาชิกภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือของสหพันธ์ฯ โดยผ่านหน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน GIZ (Die Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit GmbH)โดยได้จัดทำโครงการนำร่องจ้างงาน ตั้งแต่ 2554 เป็นระยะเวลา 2 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 60 คน ดังนี้
• พยาบาล จากประเทศบอสเนียและอัลเบเนีย
• วิศวกรจากประเทศอินโดนีเซีย
• ช่างเชื่อมจากประเทศเวียตนาม
——————————-
ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
ตุลาคม 2555