การตรวจสอบประวัติแรงงานต่างชาติที่เข้าทำงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
กฎหมายที่เกี่ยวข้องและแนวปฏิบัติ
สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีมีพระราชบัญญัติปกป้องข้อมูลส่วนตัว (Bundesdatenschutzgesetz) เป็นกรอบปฏิบัติเรื่องข้อมูลส่วนตัวของส่วนราชการและส่วนบุคคล ซึ่งโดยทั่วไปส่วนราชการหรือเอกชนไม่สามารถให้ข้อมูลส่วนตัวของบุคคลใดๆหากไม่ได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นๆ ยกเว้นข้อมูลนั้นมีผลต่อความมั่นคงและการก่อการร้ายในประเทศ สำหรับข้อมูลของผู้ต้องโทษ มีกฎหมายการจำคุกและแนวปฏิบัติต่อผู้ต้องโทษ (Gesetz über den Vollzug der Freiheitsstrafe und der freiheitsentziehenden Maßregeln der Besserung und Sicherung StVollzG ) มาตรา 179 – 187 ระบุว่าหน่วยงานราชการและราชทัณฑ์ไม่สามารถให้ข้อมูลส่วนตัวของ ผู้ต้องโทษได้ หากผู้ต้องโทษไม่ยินยอมและต้องแจ้งให้ผู้ต้องโทษทราบอย่างเป็นทางการถึงวัตถุประสงค์การให้ข้อมูลของผู้ต้องโทษ การเข้าทำงานในสหพันธ์ฯ มีแนวปฏิบัติเพื่อตรวจสอบประวัติของแรงงานที่ทำงานในสหพันธ์ฯ ดังนี้
1. สำหรับแรงงานที่จะขอวีซ่าเข้าทำงานในสหพันธ์ฯ หรือวีซ่าพำนักตั้งแต่ 3 เดือนเป็นต้นไป ผู้ยื่นขอวีซ่าต้องระบุในคำร้องขอวีซ่าว่า ตนเองเคยต้องโทษมาก่อนหรือไม่ ต้องโทษที่ประเทศใด สาเหตุและลักษณะความรุนแรงของโทษดังกล่าว นอกจากนี้ทางสถานเอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยสามารถตรวจสอบประวัติของผู้ที่เคยต้องโทษจำคุกในสหพันธ์ฯมาก่อนจากกระทรวงยุติธรรมสหพันธ์ฯ (Bundesministerium der Justiz) และตรวจสอบประวัติการก่อการร้ายจากกระทรวงมหาดไทยสหพันธ์ฯ(Bundesministerium des Innern)โดยผ่านสำนักตรวจคนเข้าเมืองสหพันธ์ฯ (Ausländerbehörde) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อการออกวีซ่าเป็นอย่างมาก
2. สำหรับแรงงาน (ทั้งชาวเยอรมันและชาวต่างชาติ) ที่อยู่ในสหพันธ์ฯแล้ว
2.1 ก่อนที่ลูกจ้างจะเข้าทำงานอย่างเป็นทางการ โดยทั่วไปลูกจ้างต้องยื่นหนังสือรับรองความประพฤติ (Führungszeugnis) ต่อนายจ้าง ซึ่งเอกสารนี้ลูกจ้างสามารถขอได้จากกระทรวงยุติธรรม (โดยผ่านสำนักงานเขตในท้องถิ่น) หากผู้ใดเคยมีประวัติต้องโทษจำคุกมาก่อน จะมีข้อมูลดังกล่าวปรากฏในใบรับรองความประพฤตินี้ และมีผลต่อการตัดสินใจของนายจ้างเรื่องการจ้างงานเป็นอย่างมาก
2.2. สำหรับผู้ประสงค์เปิดกิจการของตน เช่น กิจการร้านอาหาร ก็ต้องยื่นหนังสือรับรองความประพฤตินี้ต่อทางการเพื่อประกอบการพิจารณาขอใบอนุญาตเปิดร้านอาหาร
…………………………………
ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน