พยาบาลวิชาชีพด้านการดูแลผู้สูงอายุของฟิลิปปินส์ได้เข้าทำงานในเยอรมนี
พิธีลงนามข้อตกลงการจัดส่งพยาบาลวิชาชีพด้านการดูแลผู้สูงอายุเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
นาง Rosalinda Baldoz รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและจัดหางานฟิลิปปินส์ (คนแรกจากซ้ายมือ ) และนาง Ursula von der Leyen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมเยอรมนี (คนแรกจากขวามือ) ได้เป็นสักขีพยานในพิธี ลงนามข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ ณ กรุงมะนิลา ซึ่งลงนามโดย นาย Leo J. Cacdac ผู้บริหารองค์กร Philippine Overseas Employment Administration (POEA) ฟิลิปปินส์ และนาง Monika Varnhagen ผู้อำนวยการหน่วยงาน International Placement Services (ZAV) เยอรมนี
ขณะนี้เยอรมนีกำลังขาดแคลนพยาบาลด้านการดูแลผู้สูงอายุอย่างมาก โดยมีตำแหน่งงานว่างถึง 10,000 ตำแหน่ง ดังนั้นเพื่อเป็นการสนองตอบต่อความต้องการดังกล่าว จึงได้มีการลงนามระหว่างทั้งสองหน่วยงานของฟิลิปปินส์และเยอรมนี ณ กรุงมะนิลา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 ซึ่งการลงนามข้อตกลงนับเป็นสิ่งแรกที่ต้องดำเนินการก่อนจัดส่งพยาบาลวิชาชีพของฟิลิปปินส์เข้าไปทำงานในเยอรมนี ในปัจจุบันมีเพียงประเทศโครเอเชียและเซอร์เบียเท่านั้นที่ได้มีการจัดทำข้อตกลงกับเยอรมนีแล้ว
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นไปตามแนวปฏิบัติองค์การอนามัยโลกว่าด้วยการสรรหาบุคลากรด้านสุขภาพเข้าทำงานระหว่างประเทศ หรือ World Health Organization (WHO) Global Code of Practice ที่กำหนด ว่าการจ้างบุคลากรด้านสุขภาพควรส่งเสริมให้มีจ้างงานบุคลากรจากประเทศผู้ส่งที่มิได้ประสบปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ ซึ่งแรงงานชาวฟิลิปปินส์กลุ่มนี้จะได้รับการฝึกอบรมด้านภาษาและวัฒนธรรม ณ ประเทศฟิลิปปินส์ก่อน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าไปทำงานในเยอรมนี โดยมีเงื่อนไขสัญญาจ้างงานเหมือนกับการจ้างบุคลากรด้านสุขภาพของเยอรมนี
นาง Ursula von der Leyen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมเยอรมนี กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขณะนี้เยอรมนีมีความต้องการนักวิชาชีพด้านสุขภาพเป็นอย่างมาก ข้อตกลงดังกล่าวได้เปิดประตูภาคการดูแลสุขภาพของเยอรมนีให้กับนักวิชาชีพด้านการดูแลสุขภาพของฟิลิปปินส์ และในอนาคตก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าเยอรมนีจะมีความต้องการบุคลากรที่มีฝีมือด้านการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้นและคงไม่อาจพึ่งพิงตลาดแรงงานในประเทศและสหภาพยุโรปได้แต่จะต้องส่งเสริมวิชาชีพนี้ในเยอรมนีในระดับสากลด้วย”
สำหรับปัญหาขาดแคลนฝีมือนั้น เมื่อเดือนธันวาคม 2555 รัฐบาล รัฐต่างๆ และสมาคมผู้แทนนักวิชาชีพได้นำเสนอ Training and Qualification Initiative Geriatric Care และเห็นพ้องกันที่จะดำเนินมาตรการต่อเนื่องในการดำเนินงาน 10 ด้านเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนนักวิชาชีพด้านการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมาตรการนอกจากจะรวมการพัฒนาการฝึกอบรมและคุณสมบัติของนักวิชาชีพให้มากขึ้นแล้ว ยังรวมถึงการนำเข้านักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจากประเทศที่สามภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว
ที่มา: http://www.bmas.de/EN/Home/home.html;jsessionid=A0D949CB77D38D8D7A3354C077C92045
——————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
24 กรกฎาคม 2556