การประชุมหารือเกี่ยวกับอนาคตของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
“หากสหพันธ์ฯ ประสงค์จะคงไว้ซึ่งความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรม สหพันธ์ฯ ก็จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อระบบการฝึกอบรมของประเทศ รวมทั้งต้องดึงดูดและรักษาไว้ซึ่งแรงงานฝีมือที่มีความจำเป็นต่อประเทศเหล่านี้”
นาง Merkel นายกรัฐมนตรีสหพันธ์ฯ ได้หารือถึงการรับมือกับความท้าทายในอนาคตในระหว่างการประชุมร่วมกับนาย Otto Kentzler ประธาน German Confederation of Skilled Crafts นาย Philipp Rösler รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจแห่งสหพันธ์ฯ และนาย Michael Sommer ประธานสหภาพแรงงาน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า การหารือครั้งนี้มิได้เน้นเฉพาะงานที่ทำอยู่ เป็นประจำเท่านั้น แต่ยังจะต้องมองถึงความท้าทายในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นด้วย
นาง Merkel กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจากต่างประเทศ ว่านับตั้งแต่ปี 2552 สหพันธ์ฯ ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญอย่างเพียงพอ และในช่วงของรัฐบาลชุดนี้ แรงงานต่างด้าวจะได้รับการรับรองคุณสมบัติทางวิชาชีพง่ายขึ้น โดยมีการอนุมัติใช้ระบบ Blue Card ทำให้ผู้เชี่ยวชาญระดับสูงจากนอก EU สามารถเข้ามาใช้ชีวิตและทำงานใน EU ได้มากยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากสมาคมอุตสาหกรรมและสหภาพแรงงาน และรัฐมนตรีสหพันธ์ฯ ของทั้งเจ็ดรัฐ ได้หารือกันถึงแนวทางในการรับมือกับความท้าทายของโลกแห่งการทำงานยุคใหม่และความต้องการความรู้ที่มีมากยิ่งขึ้น การประชุมได้จัดขึ้นที่เรือนรับรองรัฐบาลในเมือง Meseberg โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นเป็นครั้งที่สี่ ผู้เข้าร่วมการประชุมได้หารือเกี่ยวกับความท้าทาย จากความเปลี่ยนแปลงด้านประชากรในส่วนของการฝึกอบรมวิชาชีพและระบบการศึกษาเพื่อให้มั่นใจว่าสหพันธ์ฯ จะมีผู้เชี่ยวชาญอย่างเพียงพอ และสร้างความตระหนักรู้ถึงความสามารถของสหพันธ์ฯ ใน การขยายอายุการทำงานของประชากรซึ่งที่ผ่านมาสหพันธ์ฯ มีพัฒนาการเรื่องนี้ค่อนข้างดี และเพื่อให้คนมีอายุสามารถทำงานได้นานขึ้น จึงต้องมีมาตรการเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิตและการดูแลสุขอนามัยของประชากร
นาง Angela Merkel ได้รายงานว่า การศึกษานับเป็นสิ่งสำคัญลำดับที่สองของการประชุมในครั้งนี้ – ทั้งในเรื่อง dual vocational training (ซึ่งผู้รับการฝึกแบ่งเวลาระหว่างการเรียนทฤษฎีที่โรงเรียนและการฝึกปฏิบัติในภาคอุตสาหกรรม) และการศึกษาในมหาวิทยาลัย โดยกล่าวว่าที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าระบบ dual vocational training system ได้ทวีความสำคัญไม่เฉพาะแต่ในสหพันธ์ฯ แต่ยังเป็นระดับนานาชาติ อีกทั้ง ยังเป็นระบบที่ดีเพราะช่วยทำให้ความสามารถในการแข่งขันและการคิดค้นนวัตกรรมต่าง ๆ เข้มแข็งมากขึ้น
นอกจากนั้นผู้เข้าประชุมยังได้หารือถึงความจำเป็นในการปรับให้ให้ผู้เข้าอบรมสามารถย้ายจากการฝึกอบรมวิชาชีพไปยังการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือจากระดับอุดมศึกษาไปยังการฝึกอบรมวิชาชีพ เนื่องจากขณะนี้คนหนุ่มสาวจำนวนมากเข้าเรียนหลักสูตรที่ได้รับปริญญาในมหาวิทยาลัย และหลายสิ่งหลายอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใน คศ. 2020 เป็นต้นไป ดังนั้นสหพันธ์ฯ จึงจำเป็นต้องฝึกคนที่สหพันธ์ ฯ ต้องการอย่างแท้จริง เช่นการฝึกอบรมวิศวกรซึ่งมีความสำคัญยิ่ง และความสามารถในส่วนที่ล้นเกินของมหาวิทยาลัยก็สามารถนำมาใช้ในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในลักษณะของมาตรการฝึกอบรมขั้นสูงได้
ทั้งนี้ที่ประชุมได้ตกลงกันที่จะพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับ digitalisation (การเปลี่ยนระบบของอุปกรณ์และเทคโนโลยีให้เป็น digital) ในอนาคตต่อไป
ที่มา: http://www.bundesregierung.de/Webs/Breg/EN/Homepage_node.html;jsessionid=8541FB68817A632DD3A6BABF5DBDA5C4.s4t1
——————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
5 สิงหาคม 2556