Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : การสวมผ้าคลุมผมของสตรีในการทำงานใน EU

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 20 /2560


การสวมผ้าคลุมผมของสตรีในการทำงานใน EU

 

เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2560 ศาลยุติธรรมยุโรป (EU Court of Justice) ได้มีคำตัดสินว่า “นายจ้างสามารถห้ามการสวมผ้าคลุมผมของสตรีในสถานที่ทำงานในสถานการณ์เฉพาะหนึ่งๆได้ (certain circumstances)” ซึ่งการสวมผ้าคลุมผมในสถานที่ทำงานนี้เป็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ในเยอรมนี

คำตัดสินของศาล EU นี้มีพื้นฐานมาจากกรณีที่เกิดขึ้น 2 กรณีในฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม ที่สตรีมุสลิมต้องการสวมผ้าคลุมผม (headscarves) ไปทำงาน คำถามที่เกิดขึ้น คือ จะตีความนโยบายต่อต้านการแบ่งแยก (anti-discrimination) และนโยบายการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน (equal treatment) ของอียูอย่างไร

ศาลได้กล่าวว่า นายจ้างอาจห้ามการสวมผ้าคลุมผมได้ ถ้าบริษัทมีนโยบายห้ามการใช้สัญญลักษณ์ทางการเมือง ปรัญชา และศาสนา และถ้ามีเหตุผลที่ดีในการห้ามดังกล่าว คำตัดสินยังได้ระบุในรายละเอียดว่าสถานการณ์ไหนที่สามารถห้ามการสวมผ้าคลุมผมของสตรีได้ โดยในกรณีของสตรีในเบลเยี่ยมที่ทำงานในตำแหน่ง พนักงานต้อนรับ ในบริษัทรักษาความปลอดภัย ที่ถูกห้ามสวมผ้าคลุมผมในที่ทำงาน ศาลกว่าวว่าในกรณีเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นการก่อให้เกิด “การแบ่งแยกโดยตรง” (direct discrimination) เนื่องจากบริษัทมีกฎห้ามการแสดงสัญญลักษณ์ทางศาสนาในที่ทำงาน

แต่สำหรับสตรีในฝรั่งเศส ศาลตัดสินว่าการห้ามดังกล่าวไม่ถูกต้อง วิศวกรออกแบบถูกไล่ออกหลังจากลูกค้าของบริษัทบ่นเกี่ยวกับผ้าคลุมผมของเธอ ศาลกล่าวว่าสถานการณ์เช่นนี้ “ไม่สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นสถานการณ์ด้านความปลอดภัยที่สามารถอยู่เหนือการแบ่งแยก” ได้

คำตัดสินของศาลดังกล่าว หมายความว่าเยอรมนีจะต้องปฏิบัติตามด้วย กลุ่มชาวมุสลิม และกลุ่มผู้ต่อต้านการแบ่งแยก ได้แสดงความไม่พอใจกับคำตัดสินดังกล่าว สภากลางมุสลิมเยอรมนีกล่าวว่า “คำตัดสินของศาล EU นี้เบี่ยงเบนไปจากหลักการของสิทธิพลเมือง (civil rights)” เมื่อสตรีจำเป็นต้องเลือกระหว่างศาสนากับอาชีพ นั่นหมายความว่า การห้ามการแบ่งแยก หลักการความเท่าเทียมกัน และเสรีภาพส่วนบุคคล ซึ่งเป็นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอียู มีค่าน้อยกว่ากระดาษที่ใช้เขียนรัฐธรรมนูญ และไม่ตอบสนองต่อแนวคิดความเป็นกลาง

สภากลางมุสลิมเยอรมนีกล่าวต่อว่า คำตัดสินครั้งนี้เป็นการ “เปิดประตูสำหรับสตรีมุสลิมในยุโรปให้ตกเป็นเป้าของการแบ่งแยก และจำกัดโดยกฎหมาย” ผู้นำองค์กรต่อต้านการแบ่งแยกของเยอรมนี ได้กล่าวว่า การตัดสินในครั้งนี้จะทำให้เกิดความยุ่งยากมากขึ้นสำหรับสตรีมุสลิมในการหางานทำ มาตรา 4 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญเยอรมนีระบุไว้ว่า เสรีภาพทางศาสนาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน “เสรีภาพในความศรัทธา ศาสนา ปรัชญาจะไม่สามารถถูกละเมิดได้”  และ “การไม่แทรกแซงการปฎิบัติทางศาสนาจะต้องได้รับการรับรอง” ซึ่งนั่นหมายความว่า สถานที่ทำงานถูกห้ามไม่ให้มีการแบ่งแยกบุคคลบนพื้นฐานของศาสนา ดังนั้น จึงไม่สามารถห้ามมิให้บุคคลสวมผ้าคลุมผมอันเนื่องมาจากความเชื่อทางศาสนาได้ แต่ศาลได้ตีความเรื่องนี้แตกต่างออกไปในคำตัดสินของศาลในกรณีต่างๆ ซึ่งในบางกรณีอนุญาตให้สวมผ้าคลุมผมได้ แต่บางกรณีกลับไม่อนุญาต เป็นต้

ในปี 2546 ศาลแรงงานสหพันธ์ฯ ได้ตัดสินกรณีพนักงานขายสตรีว่าเธอไม่ควรถูกไล่ออก เนื่องจากการสวมผ้าคลุมผม ในปี 2557 ศาลแรงงานสหพันธ์ฯ ได้ตัดสินว่านายจ้างในโบสถ์สามารถห้ามลูกจ้างมิให้สวมผ้าคลุมผมได้ และในปี 2558 ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินว่าการห้ามครูสวมผ้าคลุมผมในโรงเรียนของรัฐนั้นเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญ โดยศาลกล่าวว่า การสวมผ้าคลุมผมควรถูกห้ามก็ต่อเมื่อพบว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อความสงบของโรงเรียน และศาลรัฐธรรมนูญยังได้ตัดสินในปี 2559 ในกรณีผู้ดูแลเด็กชาวมุสลิมว่า การสวมผ้าคลุมผมไม่ใช่สิ่งผิดปกติในเยอรมนี
 

 


—————————————————
 

 


ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
16  มีนาคม 2560

 


1455
TOP