ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 9 / 2556
การเลิกจ้างในระบบของเยอรมัน
ประเทศเยอรมนีมีกฎหมายป้องกันการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งจำกัดวิธีที่นายจ้างจะสามารถเลิกจ้างแรงงานได้ แต่จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อแรงงานนั้นพ้นช่วงทดลองงาน 6 เดือนแล้ว
แม้ว่าการเลิกจ้างในประเทศเยอรมนีจะมีขั้นตอนยุ่งยากกว่าในอังกฤษและอเมริกาไม่มากนัก แต่การที่ลูกจ้างจะถูกให้ออกจากงานในประเทศเยอรมนีนั้นดูเหมือนแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะหากลูกจ้างสงสัยว่าตนถูกให้ออกอย่างไม่เหมาะสมก็สามารถดำเนินเรื่องภายในสามสัปดาห์ ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดคือขอคำแนะนำจากทนายความซึ่งได้รับประกาศนียบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่าด้วยการจ้างงาน
หากลูกจ้างมิได้อยู่ในข่ายที่จะถูกเลิกจ้างเป็นกรณีพิเศษ เช่น ก่ออาชญากรรม ลักทรัพย์
ละเมิดหรือทำลายความไว้วางใจอย่างรุนแรงแล้ว ก็สามารถถูกเลิกจ้างได้ใน 3 กรณี
– กรณีที่ 1 นายจ้างสามารถเลิกจ้างด้วยเหตุผลส่วนบุคคล โดยทั่วไปมักเป็นเรื่องการเจ็บป่วยระยะยาว หากลูกจ้างป่วยอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลาหกสัปดาห์หรือมากกว่านั้น นายจ้างก็อาจใช้เรื่องนี้เป็นสาเหตุในการเลิกจ้างได้ อย่างไรก็ตาม นายจ้างจะต้องพยายามฟื้นฟูสุขภาพลูกจ้างนั้นเสียก่อนโดยต้องจ่ายค่ารักษาเพื่อให้ลูกจ้างสามารถกลับไปทำงานได้
– กรณีที่ 2 นายจ้างสามารถเลิกจ้างด้วยเหตุผลเรื่องความประพฤติ – การกระทำผิดซ้ำๆ เช่น มาทำงานสาย เปิดเผยความลับ หรือแกล้งป่วย ซึ่งสามารถทำให้ถูกออกจากงานได้ แต่ก่อนให้ออกก็จะต้องมีการแจ้งเตือนเพื่อให้โอกาสลูกจ้างนั้นเปลี่ยนแปลงความประพฤติเสียก่อน
– กรณีที่ 3 นายจ้างจะสามารถให้ลูกจ้างออกจากงานได้ด้วยเหตุผลด้านการดำเนินธุรกิจ เช่น เมื่อบริษัทลดจำนวนคนงาน แต่ก็มีข้อกำหนดที่เข้มงวดในเรื่องนี้เช่นกัน โดยเริ่มจากการที่นายจ้างจะต้องพิสูจน์ว่าตำแหน่งงานนั้นไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป และจะต้องเสนองานอื่นที่มีให้แก่ลูกจ้างก่อนให้ออกจากงาน หลังจากนั้น ลูกจ้างอาจจำเป็นต้องได้รับ “การเลิกจ้างโดยมีตัวเลือกเกี่ยวกับงานที่จะเปลี่ยนแปลง” เป็นการเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงการไล่ออก
เมื่อจะทำการปลดคนออกจากงาน ตามกฎหมายแล้วบริษัทเยอรมันจะต้องจัดลำดับตำแหน่ง
ของลูกจ้างโดยพิจารณาจากภาระหน้าที่ทางสังคมและสถานการณ์ และต้องให้คะแนนเพิ่มสำหรับบุตร ความทุพพลภาพ อายุ และระยะเวลาที่ทำงานกับบริษัทเสียก่อน แล้วจึงจะปลดคนที่มีคะแนนน้อยที่สุดออกจากงานเป็นคนแรกซึ่งก็หมายความว่าแม้ตำแหน่งงานของลูกจ้างรายนั้นจะถูกตัด แต่ก็อาจเป็นลูกจ้างรายอื่นซึ่งมีภาระน้อยกว่าหรือมีโอกาสจ้างงานใหม่มากกว่าจะถูกไล่ออกก่อน
หากลูกจ้างถูกไล่ออกภายในช่วงทดลองงานหกเดือน ก็จะมีเพียงสิทธิ์ที่จะได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าสองสัปดาห์ แต่ภายหลังจากช่วงทดลองงาน ยิ่งลูกจ้างทำงานกับบริษัทนานเท่าไรช่วงเวลาที่จะได้รับการบอกกล่าวทางกฎหมายก็จะนานขึ้น โดยนานได้ถึงเจ็ดเดือนสำหรับผู้ที่ทำงานในบริษัทนาน 20 ปี และหากลูกจ้างถูกให้ออก ก็ยังมีข้อกำหนดจำเพาะที่ระบุว่าจะให้ออกอย่างไร โดยต้องแจ้งให้ทราบเป็น ลายลักษณ์อักษรและลงนามโดยนายจ้าง และฉบับจริงจะต้องมอบให้ลูกจ้างผู้นั้น
บริษัทต้องสามารถพิสูจน์ว่าได้ทำตามระเบียบทุกประการ ในกรณีที่ลูกจ้างฟ้องร้องว่าถูกให้ออกอย่างไม่เป็นธรรม
ที่มา: นสพ. The Local, 28 ตค. 56
———————————————-
ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
11 พฤศจิกายน 2556