Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : “ข้อมูลเกี่ยวกับการรับรองคุณสมบัติด้านวิชาชีพของประเทศเยอรมนี”

สถานการณ์ด้านแรงงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ฝ่ายแรงงานฯ

11 พ.ย. 56

 

ข้อมูลเกี่ยวกับการรับรองคุณสมบัติด้านวิชาชีพของประเทศเยอรมนี

 

ประชาชนจาก EU สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี และสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด ยกเว้นชาวโรมาเนียและบัลแกเรียที่ถูกจำกัดสิทธิจนถึงสิ้นปี 2013 โดยต้องลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียนภายในเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่วันที่เดินทางเข้าสู่ประเทศเยอรมนี

             หากเป็นชาวออสเตรเลีย  อิสราเอล ญี่ปุ่น แคนาดา นิวซีแลนด์ เกาหลี หรือสหรัฐอเมริกา ที่ประสงค์จะทำงานและพำนักในประเทศเยอรมนีนานเกินกว่า 3 เดือน สามารถเดินทางเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องมีวีซ่า อย่างไรก็ตามภายใน 3 เดือน หลังเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีและก่อนเริ่มทำงาน จะต้องยื่นขออนุญาตมีถิ่นพำนักที่แผนกต่างด้าวในเมืองที่พำนักเพื่อขออนุญาตทำงาน

             หากเป็นคนจากประเทศอื่นที่มิได้ระบุข้างต้น จะต้องยื่นขอวีซ่าที่สถานกงสุลในประเทศของตนก่อน เดินทางเข้าสู่ประเทศเยอรมนี โดยสามารถค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.diplo.de แต่หากเข้ามาอยู่ในประเทศเยอรมนีแล้ว ให้ยื่นขออนุญาตมีถิ่นพำนักที่แผนกต่างด้าวที่รับผิดชอบต่อการมีถิ่นพำนักของบุคคลนั้นก่อนวีซ่าหมดอายุ

             สำหรับผู้ที่ได้รับปริญญาบัตรจากประเทศเยอรมนี หรือมีปริญญาบัตรที่ได้รับการรับรองหรือปริญญาบัตรจากต่างประเทศที่เทียบเท่ากับปริญญาบัตรของเยอรมันและยังไม่ได้งานในประเทศเยอรมนี สามารถยื่นขอวีซ่าพิเศษซึ่งให้สิทธิหางานเป็นเวลา 6 เดือน โดยต้องมีปัจจัยเพียงพอที่จะสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตลอดช่วงเวลาหางานได้

             ผู้ที่ประสงค์จะทำงานในประเทศเยอรมนี จะต้องได้รับอนุญาตให้มีถิ่นพำนักที่อนุญาตให้พำนักอยู่เพื่อการทำงาน  ทั้งนี้ ประเทศเยอรมนีมีข้อกำหนดเฉพาะสำหรับผู้ชำนาญการระดับสูง นักวิจัยและผู้ประกอบการอิสระ โดยนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2012 ผู้ที่ได้รับปริญญาบัตรจากประเทศเยอรมนีหรือมีปริญญาบัตรที่ได้รับการรับรองหรือปริญญาบัตรจากต่างประเทศที่เทียบเท่ากับปริญญาบัตรของเยอรมันก็จะสามารถได้รับ “EU Blue Card” และได้รับเงินเดือนขั้นต่ำ 

             ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.bamf.de/Aufenthalt-in-Deutschland  และ

www.bamf.de/Arbeiten-in-Deutschland

การหางานทำ

             มีหลายบริษัทประกาศรับสมัครงานออนไลน์ ผู้สนใจสามารถค้นหาตำแหน่งงานว่างได้จาก

             –  ตำแหน่งงานของสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ www.jobboerse.arbeitsagentur.de

             –  หน่วยบริการการจ้างงานระหว่างประเทศ www.zav.de/arbeiten-in-deutschland 

             –  ตำแหน่งงานสำหรับวิชาชีพระหว่างประเทศของรัฐบาลสหพันธ์ฯ  www.make-it-in-germany.com

ครอบครัว

             ประชาชนของ EU, EEA หรือสวิตเซอร์แลนด์ คู่สมรสและบุตรสามารถอาศัยและทำงานในประเทศเยอรมนีโดยไม่มีข้อจำกัดและไม่จำเป็นต้องยื่นขอมีถิ่นพำนักเป็นการเฉพาะ แต่สำหรับประชาชนจากประเทศอื่น ๆ  โดยหลักแล้ว สมาชิกครอบครัวจะต้องมีวีซ่าในการเดินทางเข้าประเทศเยอรมนี ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้จากแผนกกงสุล สถานทูตเยอรมนีในประเทศของตน หรือหากเป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีแล้ว สามารถสอบถามได้ที่แผนกต่างด้าว  ณ ท้องถิ่นของตนหรือที่สำนักงานที่ปรึกษาด้านการย้ายถิ่น ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเพื่อการอพยพและย้ายถิ่นแห่งสหพันธ์ฯ: www.bamf.de  เบอร์โทรศัพท์ +49 911 943-6390  อีเมล์: info.buerger@bamf.bund.de

            ผู้เข้าไปทำงานในประเทศเยอรมนีและครอบครัวจะปรับตัวเข้ากับชีวิตประจำวัน ชีวิตการทำงาน และโรงเรียนได้ดีขึ้นหากสามารถพูดภาษาเยอรมัน  มีสถาบันและโรงเรียนสอนภาษาหลายแห่งที่เปิดสอนภาษาเยอรมัน  รัฐบาลสหพันธ์ฯ สนับสนุนการเงินสำหรับหลักสูตรสอนภาษาเช่น หลักสูตรสอนภาษาแบบเร่งรัด หรือหลักสูตรภาษาที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ และสำหรับผู้ที่จะย้ายมาอยู่ประเทศเยอรมนีพร้อมครอบครัวก็มีหลักสูตรในประเทศให้ด้วยเช่นกัน ในบางรายจำเป็นต้องมีความรู้ภาษาเยอรมันขั้นพื้นฐานก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศ ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเพื่อการอพยพและย้ายถิ่นแห่งสหพันธ์ฯ www.bamf.de/Deutschlernen และ สถาบันเกอเธ่ www.goethe.de/Deutschlernen 

การยื่นขอรับรองคุณวุฒิจากต่างประเทศ

            ประเทศเยอรมนียินดีต้อนรับนักวิชาชีพที่มีคุณวุฒิสูง โดยผู้สนใจสามารถขอเทียบคุณวุฒิทางวิชาชีพของตนจากต่างประเทศกับคุณวุฒิทางวิชาชีพของเยอรมัน สำหรับบางสาขาวิชาชีพจำเป็นจะต้องได้รับการประเมินก่อนเข้าทำงาน การรับรองคุณวุฒิจะช่วยเพิ่มโอกาสในตลาดแรงงาน โดยผู้ประสงค์จะเข้าไปทำงานในประเทศเยอรมนีไม่ว่าจะเป็นพลเมืองชาติใดและได้รับอนุญาตให้มีถิ่นพำนักแล้วหรือไม่ ก็สามารถยื่นขอรับรองคุณวุฒิได้ก่อนการเดินทางเข้าประเทศ  โดยก่อนทำการยื่นขอรับรองจะต้องตรวจดูว่าตนจะได้รับอนุญาตให้ย้ายและเข้าไปทำงานในประเทศเยอรมนีหรือไม่ตามขั้นตอนในลำดับถัดไป

เหตุผลที่ต้องมีการประเมินคุณวุฒิทางวิชาชีพ

            เพื่อยืนยันว่าบุคคลนั้นมีความสามารถที่จะทำงาน การเปรียบเทียบคุณวุฒิทางวิชาชีพที่บุคคลนั้นมีกับคุณวุฒิที่จำเป็นต่อการเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมันนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากบุคคลนั้นต้องการทำงานในวิชาชีพที่มีการกำหนดระเบียบข้อบังคับในการประกอบวิชาชีพในประเทศเยอรมนี

            ระเบียบข้อบังคับในการประกอบวิชาชีพทำให้บุคคลทั่วไปไม่สามารถทำงานในวิชาชีพที่จำเป็นต้องมีคำนำหน้าวิชาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสหพันธ์ฯ หรือไม่ได้รับการรับรองคุณวุฒิทางวิชาชีพ อาชีพที่มีการกำหนดระเบียบข้อบังคับในการประกอบวิชาชีพ ได้แก่ ด้านสุขภาพและการศึกษา (อาทิเช่น แพทย์ พยาบาล และนักการศึกษา) นอกจากนั้น ยังมีบางวิชาชีพที่มีระเบียบข้อบังคับเป็นการเฉพาะ หากต้องการประกอบอาชีพอิสระ (อาทิเช่น ช่างอบขนมและช่างทำผม)  

            สำหรับวิชาชีพที่มิได้มีการกำหนดระเบียบข้อบังคับ (เช่น เสมียนงานอุตสาหกรรม  ช่างซ่อมรถยนต์และช่างไฟฟ้า) นั้นไม่จำเป็นต้องได้รับการรับรองคุณวุฒิอย่างเป็นทางการในการประกอบอาชีพ ผู้สนใจสามารถสมัครงานเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องมีการรับรองคุณวุฒิทางวิชาชีพ อย่างไรก็ตาม การรับรองคุณวุฒิดังกล่าวยังคงเป็นประโยชน์ในแง่ของการช่วยให้นายจ้างและบริษัทสามารถคาดคะเนทักษะและความรู้ของบุคคลนั้นได้ดีขึ้น

กระบวนการรับรองคุณวุฒิทางวิชาชีพ

            ในการยื่นขอให้มีการรับรอง ผู้สนใจจะต้องติดต่อกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในสายงานของตน (www.anerkennung-in-deutschland.de หรือโทรศัพท์ +49 30-1815-1111) โดยต้องพิจารณาว่าต้องการเปรียบเทียบคุณวุฒิทางวิชาชีพกับกลุ่มวิชาชีพใดในประเทศเยอรมนี ซึ่งสามารถขอรับคำแนะนำจากหน่วยงานของเยอรมันที่รับผิดชอบแต่ละกลุ่มวิชาชีพได้

             เมื่อดำเนินการยื่นเอกสารคำขอแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำการตรวจสอบว่ามีความแตกต่างใดบ้างระหว่างคุณวุฒิที่บุคคลนั้นมีกับคุณวุฒิของเยอรมัน หากมีข้อแตกต่างเกิดขึ้น จะพิจารณาว่าสามารถชดเชยคุณวุฒิในส่วนที่ขาดด้วยใบรับรองหรือประสบการณ์ทำงานได้หรือไม่ และหากเอกสารประกอบการยื่นขอไม่เพียงพอต่อการประเมินคุณวุฒิ ก็อาจต้องทำการวิเคราะห์คุณสมบัติเพิ่มเติม เช่น การทดลองทำงานหรือการสัมภาษณ์พิเศษ เป็นต้น

ผลจากการรับรองคุณวุฒิ

              หากไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างคุณวุฒิของบุคคลกับคุณวุฒิทางวิชาชีพของเยอรมันก็จะมีการรับรองคุณวุฒิทางวิชาชีพและออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้ ทำให้บุคคลนั้นสามารถประกอบวิชาชีพได้เสมือนมีคุณวุฒิทางวิชาชีพของเยอรมัน

              หากมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างคุณวุฒิของบุคคลกับคุณวุฒิของเยอรมัน ในกรณีของวิชาชีพที่มิได้มีการกำหนดระเบียบข้อบังคับ บุคคลนั้นจะได้รับหนังสือแจ้งรายละเอียดความแตกต่างของคุณวุฒิซึ่งสามารถนำไปสมัครงานโดยตรงกับนายจ้างหรือขอรับการฝึกอบรมที่เหมาะสมเพิ่มเติม สำหรับวิชาชีพที่มีการกำหนดระเบียบข้อบังคับ บุคคลนั้นสามารถชดเชยความแตกต่างด้วยการเข้าร่วมหลักสูตรเพื่อปรับความรู้หรือเข้ารับการทดสอบสำหรับผู้ชำนาญเฉพาะทางต่อไป

กระบวนการรับรองคุณวุฒิใช้เวลากี่เดือน

             กรณีที่มีเอกสารครบถ้วน กระบวนการรับรองอาจใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน

ค่าใช้จ่ายในการรับรองคุณวุฒิ

             กำหนดโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ผู้สนใจต้องตรวจสอบค่าใช้จ่ายก่อนยื่นขอให้มีการรับรอง

เอกสารที่จำเป็นต้องใช้

             – ใบสมัคร (ขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง)

             – ตารางภาพรวมการฝึกอบรมและงานที่เคยทำ (ภาษาเยอรมัน)

             – เอกสารประจำตัว (บัตรประจำตัวประชาชน หรือพาสปอร์ต)

             – หลักฐานคุณสมบัติทางวิชาชีพที่ได้รับจากต่างประเทศ

             – หลักฐานเกี่ยวกับประสบการณ์ทำงานและการฝึกอบรมระดับสูง

             – คำชี้แจงว่าไม่เคยยื่นขอให้มีการเปรียบเทียบคุณสมบัติมาก่อน

             – หลักฐานว่าบุคคลนั้นประสงค์จะทำงานในประเทศเยอรมนี (ไม่ใช้กับประชาชนของ EU  EEA และสวิตเซอร์แลนด์ รวมถึงผู้มีถิ่นพำนักในประเทศเหล่านี้)

             สำหรับวิชาชีพที่มีการออกระเบียบข้อบังคับอาจต้องยื่นหลักฐานเพิ่มเติมบางส่วนเพื่อขอรับใบประกอบวิชาชีพ โดยให้ขอรายละเอียดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนยื่นคำขอ

หมายเหตุ

             โดยระเบียบจะต้องจัดแปลเอกสารเป็นภาษาเยอรมันและรับรองสำเนา ขอให้ตรวจสอบก่อนว่าจำเป็นต้องจ้างผู้แปลที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการหรือไม่

ความสามารถด้านภาษาเยอรมัน

              ผู้สนใจทำงานในประเทศเยอรมนี ความรู้ด้านภาษาเยอรมันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจต้องใช้ภาษาเยอรมันในการประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะวิชาชีพที่มีการออกระเบียบข้อบังคับ ได้แก่  แพทย์ ครู หรือผู้ชำนาญการด้านสุขภาพซึ่งผู้สมัครจะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพได้ต่อเมื่อมีความรู้ภาษาเยอรมันเท่านั้น

การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม

              หากประสงค์จะค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนการรับรองคุณสมบัติทางวิชาชีพ หรืออยากทราบว่าวิชาชีพของบุคคลนั้นเป็นวิชาชีพที่มีการออกระเบียบข้อบังคับในประเทศเยอรมนีหรือไม่ ข้อมูลเกี่ยวกับระเบียบ  ข้อกฎหมาย หน่วยงานที่จำเป็นต้องติดต่อและต้องยื่นขอให้รับรองคุณวุฒิ ผู้สนใจสามารถค้นหาได้ทางอินเตอร์เน็ตทั้งภาษาเยอรมันและภาษาอังกฤษที่ www.anerkennung-in-deutschland.de รวมทั้งติดต่อขอรับข้อมูลทั้งภาษาเยอรมันและอังกฤษได้ ที่สำนักงานเพื่อการอพยพและย้ายถิ่นแห่งสหพันธ์ฯ หมายเลขโทรศัพท์ +49 30 1815-1111

————————


2876
TOP