Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : ความสำเร็จของ “EU Blue Card”

ความสำเร็จของ  “EU Blue Card”

สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้นำ “EU Blue Card” มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555  เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะและคุณภาพสูงเดินทางเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ  และจนถึงขณะนี้ ได้มีการออกบัตร EU Blue Card ให้แก่แรงงานต่างชาติคุณภาพสูงจำนวนทั้งสิ้น 8,879 ราย และคาดว่าภายในสิ้นปี 2556 จะมีแรงงานต่างชาติจำนวน 10,000 คนที่ได้รับ Blue Card

 

 

สิ่งที่ทำให้ “EU Blue Card” ประสบความสำเร็จคือการให้สิทธิพำนักในสหพันธ์ฯ แก่แรงงานต่างชาติรวมทั้งลดขั้นตอนในการออก Blue Card ของทางการสหพันธ์ฯ  

 

ขณะนี้ยังมีงานที่น่าสนใจอีกมากในสหพันธ์ฯ

สหพันธ์ฯ จะออก Blue Card ให้แก่แรงงานที่มีคุณสมบัติสูง โดยผู้ขอรับ  Blue Card  จะต้อง    มีหลักฐานการศึกษาขั้นสูงและจะต้องได้รับเงินเดือนตามสัญญาการจ้างงานรวมแล้วอย่างน้อยที่สุด 46,400   ยูโรต่อปี สำหรับอาชีพที่มีแรงงานเพียงพอแล้ว หรือ 36,200 ยูโรต่อปี สำหรับอาชีพที่ยังคงขาดแคลนแรงงาน การตัดสินใจที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหพันธ์ฯ เป็นประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกครอบครัวของผู้ถือบัตร Blue Card  ด้วยเช่นกัน เพราะสมาชิกครอบครัวสามารถทำงานได้ทันทีที่แรงงานต่างชาตินั้นเดินทางถึงสหพันธ์ฯ โดยไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด

 

ปัจจัยที่เสริมให้ EU Blue Card ประสบความสำเร็จคือ การที่นักศึกษาต่างชาติหลายรายซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยของสหพันธ์ฯ ต่างได้รับประโยชน์จาก Blue Card ด้วยเช่นกัน  เพราะ Blue Card ได้เปิดโอกาสใหม่ให้ผู้สำเร็จการศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นประกอบอาชีพ จากสถิติ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 ระบุว่ามีจำนวนนักศึกษาที่สามารถหางานทำได้ทันทีภายหลังสำเร็จการศึกษาและได้รับ Blue Card แล้วถึง 1,149 คน ส่วนนักศึกษาอีก 305 คนก็สามารถเข้าทำงานที่เหมาะสมในสหพันธ์ฯ ภายหลังจากที่ได้ทำการหางานในระยะเวลาอันสั้น  อีกทั้งแรงงานต่างชาติจำนวน 764 คนที่ผ่าน in-company training ต่างก็ได้งานทำในบริษัทเดิมและขณะนี้ก็ได้รับ Blue Card ด้วยเช่นกัน

 

การอพยพเข้ามาทำงานของแรงงานฝึมือไม่ได้เกิดขึ้นเอง

นาย Hans-Peter Friedrich รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธ์ฯ ระบุว่าการขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือนั้นเป็นสิ่งที่สังเกตได้ในหลายภาคส่วนของสหพันธ์ฯ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำคือ การใช้ประโยชน์จากศักยภาพของคนเยอรมันให้มากที่สุดเสียก่อน รวมถึงจะต้องให้การฝึกอบรมที่ดีที่สุดแก่คนเยอรมันรุ่นใหม่  แต่สหพันธ์ฯ ก็ยินดีต้อนรับแรงงานฝีมือจากต่างประเทศเพิ่ม และผู้เชี่ยวชาญต่างก็เห็นพ้องกันว่าเศรษฐกิจของสหพันธ์ฯ จะเติบโตช้าหากไม่มีแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ

 

นาง Ursula von der Leyen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแห่งสหพันธ์ฯ ก็เน้นย้ำว่า แรงงานต่างชาติที่มีฝีมือนั้นมีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้กับสหพันธ์ฯ ในระยะยาว เศรษฐกิจของสหพันธ์ฯ จะเข้มแข็งได้ก็ต่อเมื่อมีแรงงานฝีมือในจำนวนที่เพียงพอ  และประโยชน์อีกประการหนึ่งของ Blue Card ก็คือช่วยทำให้แรงงานฝีมือใหม่ที่เดินทางเข้ามาในสหพันธ์ฯ มีสถานะที่มั่นคงรวมทั้งนักศึกษาต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาและพำนักในสหพันธ์ฯ ก็ยังสามารถได้รับ Blue Card ด้วยเช่นกัน

 

จากการที่กระทรวงแรงงาน กระทรวงเศรษฐกิจ และสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ ได้ดำเนินบทบาทหลักในการรณรงค์เพื่อดึงดูดให้แรงงานมีฝีมือต่างชาติเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ ดังนั้น จำนวนแรงงานฝีมือที่เพิ่มขึ้นจึงแสดงให้เห็นว่าการเข้ามาทำงานของแรงงานมีฝีมือนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เอง เนื่องจากขณะนี้โลกทั้งโลกกำลังพยายามดึงดูดคนที่ฉลาดที่สุดและการที่สหพันธ์ฯ มิได้เป็นประเทศที่มีต่างชาติอพอพเข้ามาอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิม ดังนั้นสหพันธ์ฯ จึงจำเป็นต้องโฆษณางานที่มีในสหพันธ์ฯ ให้ตลาดแรงงานสากลได้รับทราบ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวเพิ่มเติมโดยประสงค์ให้สหพันธ์ฯ เป็นแม่เหล็กดึงดูดแรงงานคุณภาพสูงจากทั่วทุกมุมโลก

 

นาย Philipp Rösler รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจแห่งสหพันธ์ฯ กล่าวย้ำถึงความสำคัญของแรงงานฝีมือต่างด้าวอีกครั้งว่าเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สหพันธ์ฯ กำหนดให้การเข้ามาทำงานในสหพันธ์ฯ ของแรงงานฝีมือจากต่างประเทศเป็นหนึ่งในเป้าหมายของโฆษณารณรงค์ออนไลน์ “ขอให้เป็นที่…เยอรมัน” (“Make it in Germany”)

 

ที่มา: http://www.bundesregierung.de/Content/EN/Artikel/2013/07/2013-07-31-blaue-karte.html;jsessionid=88AA80342BA8C17CB2AD2775E4C81208.s4t2

 

———————————————–

 

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

13 สิงหาคม 2556


558
TOP