EU ลำดับที่ 2
ฝ่ายแรงงาน ณ กรุงเบอร์ลิน
8 กค. 56
มุมมองของสื่อต่อการจัดการปัญหาการว่างงานของคนหนุ่มสาวในยุโรปและวิกฤตยูโรโซน
บทความจากเยอรมันไทมส์ วันที่ 14 มิถุนายน 2556 โดย อุลริเคอร์ แฮร์มันน์ นักข่าวชื่อดังชาวเยอรมัน ได้วิเคราะห์ปัญหาการว่างงานของคนหนุ่มสาวในยุโรปและวิกฤตยูโรโซนโดยให้มุมมองต่อปัญหาและแนวทางแก้ไขที่อียูพยายามดำเนินการไว้อย่างน่าสนใจและมีความแตกต่างไปจากมุมมองของภาครัฐดังนี้
ขณะนี้สถิติการว่างงานของคนหนุ่มสาววัยต่ำกว่า 24 ปีในกลุ่มประเทศที่ประสบวิกฤตยูโรโซนมีสูงมาก
ตัวอย่างเช่น กรีซ มีสูงกว่า 60 เปอร์เซนต์ สเปนสูงกว่า 50 เปอร์เซนต์ ในโปรตุเกสและอิตาลีสูงกว่า 40 เปอร์เซนต์ ผู้เขียนบทความคาดว่าเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้จะยังถดถอยต่อไปอีกในปีหน้า ดังนั้นปัญหาการว่างงานจึงน่าจะยังคงมีต่อไปอย่างไม่มีทางแก้ไข และแสดงความห่วงใยต่ออนาคตของเยาวชนและปัญหานี้ว่าจะกระทบต่อยุโรปในภาพรวม ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นและความศรัทธาต่อการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวของยุโรป
แม้ว่าประเทศในยูโรโซนตระหนักถึงอันตรายและปัญหาที่จะตามมาและแม้คณะกรรมาธิการยุโรปจะมีมติที่จะเริ่มมาตรการ Youth Employment Initiative ซึ่งจะสนับสนุนเงินจำนวนรวม 6 พันล้านยูโร เพื่อการฝึกอบรมและช่วยในการหางานทำระหว่างปี 2014-2020 แต่ผู้เขียนบทความเห็นว่าเงินดังกล่าวยังน้อยเกินไป ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง รวมทั้งประเทศที่ได้รับผลกระทบต้องหาเงินบางส่วนเองทั้งๆที่ไม่มีเงินสำรองและจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดก็ตาม
ขณะนี้ มีหนุ่มสาวจำนวนมากจากประเทศที่ประสบวิกฤตได้เดินทางออกไปหางานทำในประเทศอื่น เช่น ไอร์แลนด์มีแรงงานกว่า 300,000 คนอพยพออกจากประเทศ โดยกว่า 40 เปอร์เซนต์ของคนเหล่านี้มีอายุต่ำกว่า 24 ปี และ การเคลื่อนย้ายถิ่นฐานขนาดใหญ่ได้สะท้อนอยู่ในสถิติที่แสดงถึงพัฒนาการเชิงบวกว่าไอร์แลนด์มีหนุ่มสาวว่างงานเพียง 26 เปอร์เซนต์เมื่อเปรียบเทียบกับ 30 เปอร์เซนต์ในช่วงต้นปี 2012
นอกจากนั้นยังมีกรณีหนุ่มสาวที่สำเร็จการศึกษาหรือผ่านการฝึกอบรมขั้นสูงแล้วเดินทางออกนอกประเทศ เช่น กรีซ จากข้อมูลโดยมหาวิทยาลัย Thessaloniki พบว่าผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและทักษะสูงได้แก่ แพทย์ วิศวกรและนักวิชาการกว่า 120,000 คนได้เดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ส่วนคนหนุ่มสาวชาวสเปน 70 เปอร์เซนต์ ก็กำลังมีความคิดที่จะเดินทางออกนอกประเทศ โดยคนเหล่านี้มุ่งหน้าไปทั่วทุกมุมโลกตั้งแต่ลาตินอเมริกาไปจนถึงออสเตรเลีย และแม้ในสหพันธ์ฯ เองก็รู้สึกได้ถึงอัตราการเพิ่มของผู้มาจากยุโรปใต้ ซึ่งมีผู้เดินทางออกจากประเทศที่ประสบวิกฤตในยูโรโซนเพิ่มขึ้นถึง 43 เปอร์เซนต์ในปี 2012
ผู้เขียนบทความมองว่าภาวะสมองไหลนับเป็นอันตรายอย่างยิ่งเพราะเปรียบเสมือนการฉกฉวยโอกาสในการพัฒนาของหลายประเทศดังที่ประวัติศาสตร์ก็มีให้เห็นอยู่แล้วว่า ภูมิภาคสามารถล่มสลายได้ตลอดกาล หากแรงงานที่มีคุณสมบัติเดินทางออกไป ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในสหพันธ์ฯ และยังปรากฎผลจนถึงปัจจุบันคือ รัฐ Mecklenburg-Vorpommern ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถฟื้นคืนสู่สภาพเดิมด้วยเหตุที่ตัดสินใจผิดพลาดเรื่องนักวิชาชีพหนุ่มสาวตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19
นอกเหนือจากการสูญเสียนักวิชาชีพรุ่นหนุ่มสาวแล้ว คำถามที่ตามมาคือใครควรเป็นผู้จ่ายเงินบำเหน็จบำนาญในประเทศที่ได้รับผลกระทบซึ่งหาคนหนุ่มสาวได้ยาก สเปน อิตาลี โปรตุเกส และกรีซมีอัตราการเกิดที่ต่ำมากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยผู้หญิงจะมีบุตรเพียง 1.5 คน ดังนั้นหากเยาวชนเหล่านี้เดินทางออกนอกประเทศอย่างถาวร ประชากรที่เหลือก็จะกลายเป็นผู้สูงอายุในทันที ส่งผลให้สังคมขาดเสถียรภาพ
การว่างงานของเยาวชนอาจเป็นหนึ่งในหลายปรากฏการณ์ของปัญหาที่เกิดจากวิกฤตในยุโรป แต่ก็เป็นตัวอย่างที่ดีว่าทำไมสหภาพการเงินจึงยังไม่สามารถเป็นไปได้หากปราศจากนโยบายทางสังคมและเศรษฐกิจแบบเดียวกัน การเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาอาจช่วยให้ภาพชัดเจนขึ้น กล่าวคือทุกรัฐในสหรัฐฯ ต่างใช้เงินดอลลาร์ ซึ่งแต่ละพื้นที่ต่างก็มีความแตกต่างกันอย่างมากมายมหาศาล ตัวอย่างเช่นรัฐอลาบามาซึ่งยากจนและรัฐคอนเนคติกัตซึ่งมั่งคั่ง คล้ายคลึงกับกรณีของโปรตุเกสและสหพันธ์ฯ ในแง่ที่ว่าคนระดับมันสมองของรัฐอลาบามาต่างก็เคลื่อนย้ายออกจากรัฐเพื่อไปทำงานในที่ซึ่งร่ำรวยกว่าแต่ที่ตรงข้ามกับยูโรโซนก็คือ คำถามที่ว่าใครจะเป็นผู้ชำระใบเสร็จค่าบำนาญของลูกจ้างในรัฐอลาบามา ซึ่งคำตอบที่ชัดเจนก็คือ – สหรัฐอเมริกา แต่สำหรับในยุโรป ประเทศที่ยากจนเช่น กรีซและโปรตุเกสต่างกลับต้องจัดการกับปัญหาประชากรที่โยกย้ายออกไปด้วยตนเอง ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความเป็นจริง
จนถึงปัจจุบันนี้ ชาวยุโรปส่วนใหญ่ยังคงไม่เต็มใจที่จะยอมรับว่าสหภาพการเงินนั้นหมายถึงการที่จะต้องประสานนโยบายกันในทุกด้านนับตั้งแต่เรื่องภาษีไปจนถึงบำเหน็จบำนาญ และเนื่องจากยังเป็นการเร็วเกินไปสำหรับแนวทางระยะยาวดังกล่าว ประเทศที่ได้รับผลกระทบจึงต้องแก้ไขปัญหาการว่างงานเยาวชนกันโดยตรง การแก้ไขปัญหาการว่างงานของเยาวชนอาจทำได้ด้วยการจัดมาตรการกระตุ้นขนานใหญ่โดยมุ่งเป้าที่ผู้รับการฝึกอบรมและนักวิชาชีพหนุ่มสาวที่เพิ่งจะเริ่มประกอบวิชาชีพ ซึ่งเงินเพียงหกพันล้านยูโรสำหรับขณะนี้ไปจนถึงปี 2020 ย่อมไม่เพียงพอ ฉะนั้นคณะกรรมาธิการยุโรปจำเป็นต้องเพิ่มความพยายามในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
ที่มา: http://www.german-times.com/index.php?option=com_content&task=view&id=42310&Itemid=1
โดย Ulrike Herrmann
———————————————————