Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : สถานการณ์ด้านแรงงานในสหภาพยุโรป เรื่อง การเคลื่อนย้ายแรงงานในสหภาพยุโรป

EU ลำดับที่ 1

  ฝ่ายแรงงาน ณ กรุงเบอร์ลิน

 กค. 56

 

รายงานสถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานในสหภาพยุโรป

 

                               การเคลื่อนย้ายแรงงานใน EU อย่างเสรีถือเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และแรงงานทุกคนใน EU มีสิทธิที่จะหางานทำในประเทศสมาชิก EU อื่น สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน รวมทั้งอาศัยอยู่ในประเทศนั้นเพื่อทำงานและอาศัยต่อไปแม้หลังสิ้นสุดการทำงาน โดยได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันกับคนในชาตินั้น เช่น สภาพการทำงาน สิทธิประโยชน์ทางสังคม และภาษี เป็นต้น                              

                               อย่างไรก็ตามภายหลังที่บัลแกเรียและโรมาเนียเข้าร่วม  EU ในวันที่ 1 มกราคม 2550 ประชาชนจากทั้งสองประเทศมีสิทธิที่จะเดินทางเข้าออกสหภาพยุโรปได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า แต่สมาชิก EU 9 ประเทศ (รวมฝรั่งเศส เยอรมนี และอังกฤษ) ก็ยังคงตั้งข้อสงวนเป็นการชั่วคราวต่อแรงงานทั้งสองประเทศ โดยกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตทำงาน กำหนดโควต้าในบางภาคอุตสาหกรรมและปิดกั้นการเข้าสู่ระบบประกันสังคม    

 

                               ข้อสงวนเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีจะใช้กับแรงงานจากประเทศสมาชิกในช่วง Transitional Period เป็นเวลา 7 ปีภายหลังที่เข้าร่วม EU และ EU ได้จัดทำ Transitional Arrangements  กับแรงงานจากบัลแกเรียและโรมาเนีย เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีโดยได้มีการตกลงกันใน Accession Treaty of Bulgaria and Romania ซึ่งจะอนุญาตให้ประเทศสมาชิกจำกัดสิทธิของแรงงานจากบัลแกเรียและโรมาเนียได้เป็นการชั่วคราวภายใต้กฎหมาย  EU ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี  เพื่อไปทำงานในประเทศสมาชิกอื่น วัตถุประสงค์เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีทีละน้อยและเป็นขั้นตอนในระยะเวลา 3 ปี โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา  2+3+2 ปี โดยประเทศสมาชิก EU อาจกำหนดข้อสงวนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานหรืออาจเปิดตลาดแรงงานในระยะใดก็ได้ แต่ข้อสงวนจะต้องหมดสิ้นไปเมื่อสิ้นระยะเวลา 7 ปีตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ข้อสงวนนี้จะใช้กับแรงงานทั่วไปแต่จะไม่ใช้กับ self-employed และจะไม่จำกัดสิทธิในการเดินทางและพักอาศัยในประเทศสมาชิกอื่น

 

                               ประเทศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ EU อยู่แล้วอาจใช้กฎหมายและนโยบายของประเทศตนในการจำกัดการเข้าสู่ตลาดแรงงานของแรงงานจากประเทศ EU  ใหม่ในสองปีแรก โดยอาจต้องมีการใช้ใบอนุญาตทำงาน และหากประเทศใดต้องการใช้ข้อสงวนต่อไปอีกสามปีก็จะต้องแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบก่อนช่วงสองปีแรกจะสิ้นสุด และหลังจากนั้นจะยังสามารถใช้ข้อสงวนต่อไปได้อีกสองปีหากแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบถึงผลกระทบรุนแรงในตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม ข้อสงวนจะต้องสิ้นสุดภายหลังเจ็ดปี และแรงงานประเทศที่ถูกกำหนดข้อสงวนนี้จะต้องได้รับสิทธิก่อนแรงงานจากประเทศซึ่งมิใช่สมาชิก  EU และเมื่อแรงงานเหล่านี้ได้รับการจ้างงานอย่างถูกกฎหมายในประเทศสมาชิก EU ใด ก็จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับแรงงานของชาติที่แรงงานนั้นเข้าไปทำงาน ทั้งนี้ประเทศใดที่ประชาชนของตนถูกตั้งข้อสงวนก็สามารถกำหนดข้อสงวนกับแรงงานจากประเทศที่ตั้งข้อสงวนกับประชาชนของตนได้ในระดับเดียวกัน

 

                               ฝ่ายที่สนับสนุนการยกเลิกข้อสงวนมีความเห็นว่าการตั้งข้อสงวนนั้นมิได้มีผลเสียต่อเฉพาะประเทศที่ส่งออกแรงงาน แต่ยังมีผลเสียต่อแรงงานจากประเทศที่ตั้งข้อสงวนด้วย อีกทั้งแรงงานจาก  EU ใหม่ที่ประสงค์จะทำงานในประเทศสมาชิก  EU บางประเทศ เช่น อังกฤษ ก็ได้ย้ายเข้าไปทำงานแล้วไม่ว่า   จะมีการกำหนดข้อสงวนไว้เพียงใด แรงงานเหล่านี้ทำงานในตลาดแรงงานอย่างไม่เปิดเผย โดยไม่ต้องจ่ายภาษีและเงินประกันสังคม และขณะเดียวกันก็ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างปกติ ในบางครั้งก็อาจเข้าถึงระบบคุ้มครองทางสังคมของประเทศปลายทางโดยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ

 

                               รายงานการศึกษา โดย Martin Kahanec (CEU, IZA and CELSI)  IZA Research Report No. 49 เรื่อง การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี: บทเรียนจากสหภาพยุโรป (Skilled Labor Flows: Lessons from the European Union) ซึ่งเป็นโครงการของธนาคารโลกเกี่ยวกับตลาดแรงงานอาเซียนโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก AusAid  (ธันวาคม 2555) ได้แสดงให้เห็นสถิติ ณ สิ้นปี 2553 ว่ามีชาวบัลแกเรียและโรมาเนีย (EU-2) ทุกวัยจำนวน 2.9 ล้านคนพำนักอยู่ใน EU-25 มากกว่าสองเท่าก่อนเข้าร่วม EU (1.4 ล้านคน ณ สิ้นปี 2549) อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้ได้เริ่มก่อน 1 มกราคม 2550 (จำนวนเพิ่มสุทธิ 700,000 คนระหว่างปี 2546-2549) จำนวนคนทั้งสองชาติที่อาศัยอยู่ใน EU-25 ยังเป็นส่วนน้อยของจำนวนประชากรของ EU-25  ทั้งหมด กล่าวคือ 0.6 เปอร์เซนต์ ณ สิ้นปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับ 0.3 เปอร์เซนต์ของเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา  ทั้งนี้มีอิตาลีและสเปนซึ่งเป็นประเทศปลายทางรองรับชาวบัลแกเรียและโรมาเนียที่ออกไปอาศัยในประเทศอื่น ๆ กว่า 70 เปอร์เซนต์ (ณ สิ้นปี 2553)  ชาวโรมาเนียมีจำนวนกว่า 80 เปอร์เซนต์ของประชาชนจาก EU-2 ที่อาศัยในประเทศอื่นๆ โดยพบในอิตาลี 41 เปอร์เซนต์ และสเปน 38 เปอร์เซนต์  ตามด้วยเยอรมนี 5 เปอร์เซนต์  ในขณะที่คนบัลแกเรียส่วนใหญ่อาศัยในสเปน 38 เปอร์เซนต์ เยอรมนี 15 เปอร์เซนต์ กรีซ 12 เปอร์เซนต์ อิตาลี 10 เปอร์เซนต์ และอังกฤษ 7 เปอร์เซนต์

 

                               สำหรับแนวโน้มของการเคลื่อนย้ายแรงงานจาก EU-2  นั้นสามารถพิจารณาได้จากช่วงปี 2004-2008 ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจาก  EU-2 ไปยังประเทศสมาชิก  EU ในจำนวนที่สูงมาก แต่วิกฤตเศรษฐกิจได้ส่งผลให้มีการไหลเวียนของแรงงานลดลงในปี 2551 อันเนื่องจากความต้องการแรงงานลดลง และทำให้มีคนเดินทางกลับสู่ประเทศมากขึ้น และปรากฏว่ามี การเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากบัลแกเรียและโรมาเนียเพิ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2553 เมื่อสภาพเศรษฐกิจดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดนเป็นเรื่องควบคุมได้เองโดยจะลดลงเมื่อเศรษฐกิจถดถอยเพราะแรงงานมักมุ่งไปสู่ประเทศที่ซึ่งมีงานให้ทำ

 

                               ขณะที่อนาคตของการเคลื่อนย้ายของแรงงานจาก EU-2 ขึ้นอยู่กับปัจจัยในประเทศผู้รับ    ซึ่งยังไม่มีความแน่นอน (เช่นความเจริญเติบโต การสร้างงาน และค่าจ้างทั้งในประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่ง)  ยังมีสิ่งบ่งชี้ว่าประชาชนจาก  EU-2 ซึ่งต้องการเคลื่อนย้ายนั้นได้ทำการเคลื่อนย้ายไปยังประเทศผู้รับแล้ว  ดังจะเห็นได้จากการที่อัตราการอพยพลดลง จากสถิติแสดงให้เห็นว่ายังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากจาก  EU-2 กับ Transitional Arrangements  ยกตัวอย่างเช่น ประเทศที่ทำการเปิดตลาดแรงงานตั้งแต่ต้น (ฟินแลนด์ สวีเดน หรือประเทศส่วนใหญ่ที่เข้าร่วม  EU ในปี 2547) ปรากฏว่ามีแรงงานบัลแกเรียและโรมาเนียเข้าไปทำงานจำนวนน้อยมาก ในขณะที่ประเทศที่ยังมีมาตรการ Transitional Arrangements  กลับมีแรงงานเข้าไปทำงานจำนวนมากตั้งแต่ปี  2550  ยิ่งไปกว่านั้น ชาว EU-2 ยังได้เข้าไปอยู่ในประเทศปลายทางก่อนเข้าร่วม EU แล้ว

 

                               จากตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามาตรการ Transitional Arrangements มีอิทธิพลค่อนข้างจำกัดต่อการกระจายการเคลื่อนย้ายภายใน EU และการเคลื่อนย้ายมีปัจจัยอื่นเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น  ความต้องการแรงงานทั่วไป เครือข่ายของประชากรต่างด้าวที่เข้าไปอาศัยอยู่ก่อนแล้ว และภาษา เป็นต้น  การจำกัดการเข้าถึงตลาดแรงงานอาจมีผลข้างเคียงตามมาดังได้กล่าวแล้วข้างต้น

 

                               ภาพการเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศ  EU-2 จะไม่สมบูรณ์หากพิจารณาเฉพาะแรงงานที่พำนักอย่างถาวรในประเทศผู้รับ เพราะยังมีจำนวนแรงงานที่เข้ามาในช่วงเวลาเฉพาะ หรือผู้เข้ามาทำงานตามฤดูกาล จากข้อมูลทางการได้ประมาณการไว้ว่าในปี 2552 ประเทศ EU-2 ได้ออกใบรับรองประมาณ 30,000 ฉบับให้แก่แรงงานส่วนใหญ่จากโรมาเนียเพื่อส่งเข้าไปทำงานในประเทศ EU-25 โดยเฉพาะประเทศเยอรมนี อิตาลี และฝรั่งเศส และรูปแบบที่สำคัญของการเคลื่อนย้ายระยะสั้นในบางประเทศจะเกี่ยวข้องกับแรงงานตามฤดูกาล ในปี 2553 มีแรงงานตามฤดูกาลจาก  EU-2 (ส่วนใหญ่จาก        โรมาเนีย) ประมาณ 100,000 คนได้เข้าทำงานในเยอรมนีภายใต้ข้อตกลงทวิภาคี เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน 50,000 รายในปี 2549

 

                               กลุ่มผู้เคลื่อนย้ายใหม่จำนวนมากจากบัลแกเรียและโรมาเนียได้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานเช่นเดียวกันหรือสูงกว่าประชากรทั่วไป มีบทบาทในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้รับ มีส่วนต่อการผสมผสานระดับทักษะ และทำงานในอาชีพที่มีตำแหน่งว่างซึ่งต้องการคนเข้าไปทำงานจากการศึกษาประมาณการไว้ว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานจาก  EU-2 ระหว่างปี 2547-2552 อาจจะเพิ่ม GDP รวมของ EU อีก 0.2 เปอร์เซนต์ในระยะสั้น และ 0.3 เปอร์เซนต์ในระยะยาว (ขึ้นอยู่กับกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นและการยินยอมให้มีการปรับกำลังการผลิต)

 

                               สำหรับ EU 15 ซึ่งเป็นประเทศผู้รับนั้นปรากฏผลกระทบระยะยาวมากขึ้น (0.4 เปอร์เซนต์) อย่างไรก็ตามยังไม่ปรากฏว่าจะมีผลกระทบระยะยาวต่อรายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศผู้รับ และการศึกษาอื่น ๆ ก็ดูเหมือนจะยืนยันผลกระทบเชิงบวกต่อ GDP ทั้งหมด และผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อรายได้ต่อหัวของประชากร

 

                               สำหรับประเทศต้นทาง ผลกระทบของการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เพิ่มขึ้นใน  EU-15 นั้นยังก้ำกึ่งกันอยู่  ในด้านหนึ่งการเคลื่อนย้ายเชิงภูมิศาสตร์ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งเดินทางไปหางานในต่างประเทศ ทำให้การว่างงานลดลง  แต่ในอีกทางหนึ่งทำให้ประเทศผู้ส่งเสี่ยงต่อภาวะสมองไหลและขาดแรงงานฝีมือ ที่เห็นได้ชัดคือบางภาคส่วน เช่น การดูแลสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ อัตราการลงทะเบียนระดับอุดมศึกษาสำหรับวัย 18-24 ปีใน  EU-2  เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลัง (จาก 16.1 เปอร์เซนต์ในปี 2543 เป็น 28.8 เปอร์เซนต์ในปี 2551 ซึ่งอาจเป็นการชดเชยจำนวนแรงงานฝีมือที่ออกจากประเทศ  และท้ายที่สุดแรงงานอพยพหนุ่มสาวก็อาจไม่ได้ย้ายออกไปอย่างเป็นการถาวร แต่เป็นการชั่วคราวและภายหลังเดินทางกลับบ้านก็ได้เพิ่มพูนทักษะฝีมือซึ่งรวมถึงด้านภาษา ทำให้สามารถหางานที่เป็นสากลได้มากยิ่งขึ้น

 

                               รายได้ที่แรงงานบัลแกเรียและโรมาเนียส่งกลับนั้นจะอยู่ประมาณ 3 เปอร์เซนต์ของ GDP ของทั้งสองประเทศ (อัตราเฉลี่ยปี 2547-2553) ซึ่งเป็นรายได้มหาศาลของประเทศผู้ส่งและช่วยขับเคลื่อนความเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนอุปสงค์มวลรวมและเงินทุนในการลงทุนด้านการศึกษาหรือเริ่มต้นธุรกิจที่ใช้เงินทุนเป็นหลัก รายได้คือสิ่งชดเชยความสูญเสียของประเทศผู้ส่งอันเป็นผลจากการสูญเสียแรงงานที่มีศักยภาพและมีผลกระทบเชิงบวกต่อดุลการชำระเงินของประเทศผู้ส่ง

 

                               โดยสรุปประเทศสมาชิกสามารถคงไว้ซึ่งการจำกัดการเข้าสู่ตลาดแรงงานภายหลัง 1 มกราคม 2555 เป็นช่วงสุดท้ายอีกสองปีโดยเพียงต้องแจ้งให้คณะกรรมาธิการทราบถึงความไม่ปกติอย่างร้ายแรงของตลาดแรงงานหรือสิ่งคุกคามต่อตลาดแรงงาน  เงื่อนไขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นแนวความคิดทั่วไปของ Transitional Arrangements ที่จะค่อยๆ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีทีละน้อย ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกมีเวลาจนถึง 31 ธันวาคม 2554 ในการแจ้งให้คณะกรรมาธิการทราบว่าตลาดแรงงานมีปัญหาความยุ่งยากร้ายแรงหรือมีความคุกคามหรือไม่ หากไม่แจ้งก่อน 31 ธันวาคม 2554  กฎหมาย EU เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีก็จะใช้กับแรงงานจากบัลแกเรียและโรมาเนียในประเทศนั้น (หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่มีข้อสงวนแต่อย่างใด)

 

                               ปัจจุบันแรงงานบัลแกเรียและโรมาเนียยังมีสิทธิที่จะเคลื่อนย้ายอย่างเสรีตามกฎหมาย  EU  ในประเทศสมาชิก 13 ประเทศได้แก่  เดนมาร์ก เอสโตเนีย กรีซ ไซปรัส ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฮังการี โปแลนด์ โปรตุเกส  สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฟินแลนด์  และสวีเดน ส่วนในสาธารณรัฐเชคแรงงานเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตทำงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ประเทศสมาชิกที่ยังคงใช้ข้อสงวนกับแรงงานบัลแกเรียและโรมาเนียได้ลดข้อสงวนลงในบางภาค/วิชาชีพ หรือลดขั้นตอนกระบวนการให้น้อยลงกว่าช่วงก่อนการเข้าร่วม EU  ของบัลแกเรียและโรมาเนีย เช่น เบลเยียมได้เร่งขั้นตอนออกใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 5 วันสำหรับสาขาอาชีพที่ขาดแคลน ในเยอรมนี ผู้จบการศึกษาและวิศวกรในบางสาขา เช่น การออกแบบสร้างเครื่องบิน เครื่องจักรกล ไฟฟ้า และยานยนต์ แม้จะต้องใช้ใบอนุญาตทำงานแต่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรับการทดสอบตลาดแรงงาน (Labour Market Test)  ในไอร์แลนด์จะออกใบอนุญาตทำงานให้นายจ้างซึ่งไม่สามารถหาพลเมืองจาก EU 25  อื่นเข้ามาบรรจุตำแหน่งที่ว่างได้ ส่วนฝรั่งเศสได้ลดขั้นตอนสำหรับ 150 อาชีพซึ่งจะออกใบอนุญาตทำงานให้โดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์เรื่องตำแหน่งงาน อิตาลีนั้นไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงานในบางภาคเช่น การเกษตร โรงแรม และการท่องเที่ยว งานบ้าน บริการด้านการดูแลงานก่อสร้าง งานด้านการจัดการและต้องใช้ฝีมือขั้นสูง งานตามฤดูกาล   ลักเซมเบิร์กได้ลดขั้นตอนสำหรับงานในสาขาการเกษตร  การปลูกองุ่น  โรงแรมและบริการด้านการดูแล และผู้ที่มีคุณสมบัติเฉพาะในภาคการเงิน  ส่วนมอลต้าออกใบอนุญาตทำงานสำหรับตำแหน่งที่ต้องมีคุณสมบัติและ/หรือประสบการณ์ และสำหรับอาชีพที่ขาดแคลนแรงงาน ในเนเธอร์แลนด์จะออกใบอนุญาตทำงานเมื่อไม่มีแรงงานเนเธอร์แลนด์หรือประเทศสมาชิก  EU  อื่น และนายจ้างสามารถเสนอสภาพการทำงานและที่พักที่เหมาะสม โดยจะยกเว้นเป็น   การชั่วคราวให้กับภาคที่ขาดแคลนแรงงาน  ในอังกฤษนายจ้างจะต้องขอใบอนุญาตทำงาน (ยกเว้นการจ้างงานบางประเภท) และลูกจ้างจะต้องสมัครรับบัตร “Accession Worker Card” แรงงานฝีมือขั้นต่ำจะได้รับการจำกัดเฉพาะแผนโควต้าที่มีให้เฉพาะภาคการเกษตรและการผลิตอาหาร โดยแรงงานมีฝีมือสามารถทำงานหากมีคุณสมบัติที่จะได้รับใบอนุญาตทำงานหรือภายใต้โครงการแรงงานต่างด้าวฝีมือสูง (Highly Skilled Migrant Programme) ออสเตรียยังคงระบบใบอนุญาตทำงานแต่จะอนุญาตให้ออกใบอนุญาตทำงานภายหลัง การทดสอบตลาดแรงงาน (Labour Market Test) ใน 65 วิชาชีพที่ยังคงขาดแคลนแรงงาน และเพื่อให้คงไว้  ซึ่งการต้องมีใบอนุญาตทำงาน ออสเตรียและเยอรมันจึงกำหนดข้อสงวนในการบรรจุคนในบางภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ทั้งบัลแกเรียและโรมาเนียมิได้ใช้มาตรการด้านการเข้าถึงตลาดแรงงานกับแรงงานจาก  EU-25 แต่อย่างใด

 

                               สำหรับสเปนได้นำข้อสงวนมาใช้อีกครั้งกับการเข้าสู่ตลาดแรงงานของแรงงานโรมาเนีย   มาตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2554 แต่ข้อสงวนมิได้ใช้กับคนโรมาเนียที่ได้ทำงานในตลาดแรงงานของสเปนอยู่แล้ว หรือผู้ที่ได้ลงทะเบียนเป็นผู้หางานทำกับสำนักจัดหางานของรัฐในสเปนแล้วในวันนั้น  ซึ่งเป็นไปตามที่ระบุไว้ใน Transitional Arrangements  ซึ่งมีวรรคที่กำหนดมาตรการปกป้องโดยให้ประเทศสมาชิกสามารถนำข้อสงวนมาใช้ใหม่หากได้ยกเลิกข้อสงวนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วง Transitional แล้วแต่ต่อมาได้เล็งเห็นปัญหารุนแรงต่อตลาดแรงงาน ซึ่งสเปนได้ยกเลิกข้อสงวนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานของบัลแกเรียและโรมาเนียเมื่อ 31 ธันวาคม  2551  แต่อาศัยวรรคดังกล่าว รัฐบาลสเปนฝ่ายเดียวจึงได้ตัดสินใจระงับใช้กฎหมาย  EU ว่าด้วยการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของแรงงานโรมาเนียเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2554 เนื่องจากปัญหารุนแรงงานในตลาดแรงงานทั่วไป และยื่นคำขอต่อคณะกรรมาธิการยุโรปให้ระงับการบังคับใช้กฎหมาย  EU   ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ให้อำนาจสเปนในการจำกัดการเข้าสู่ตลาดแรงงานสำหรับแรงงานโรมาเนียอันเนื่องจากผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดแรงงานที่มีอัตรการว่างงานสูงสุดใน EU และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ล่าช้า  จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ความเห็นชอบต่อคำขอของสเปนที่ได้ขอขยายระยะเวลาออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2556 แต่อย่างไรก็ตามข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราวสำหรับกรณีแรงงานโรมาเนียและบัลแกเรียจะต้องยกเลิกไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2557

 

ที่มา

http://www.neurope.eu/article/commission-approves-spanish-request-extend-restrictions-romanian-workers  05 Jul 2013

europa.eu/rapid/press-release_IP-12-1440_en.htm 21 Dec 2012

IZA Research Report No. 49 , Skilled Labor Flows: Lessons from the European Union, Martin Kahanec (CEU, IZA and CELSI) DEC, 2012

http://www.euractiv.com/future-eu/spain-obtains-safeguard-romanian-news-506979   30 Aug 2011


461
TOP