Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : สหภาพยุโรป – กระบวนการเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี

สหภาพยุโรป: กระบวนการเพื่อการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี 

1.    ความเป็นมาของสหภาพยุโรป (European Union: EU)  

       สหภาพยุโรป (European Union: EU) คือการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดและก้าวหน้าที่สุดในโลก  มีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมระดับโลก โดยในด้านเศรษฐกิจ  EU มี GDP สูงที่สุดในโลก เป็นตลาดสินค้าและบริการ ตลาดการเงิน และผู้ลงทุน ในต่างประเทศที่สำคัญ รวมทั้งมีบริษัทข้ามชาติระดับโลกเป็นจำนวนมากที่สุด

        บูรณาการ ของ EU มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้นภายหลังสนธิสัญญาลิสบอนมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ซึ่งทำให้ EU มีสถานะทางกฎหมายอย่างสมบูรณ์ สามารถจัดทำความตกลง กับต่างประเทศ เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ และเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศได้

        ความร่วมมือกันในการจัดการปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 4 อย่าง คือ สินค้า ทุน แรงงาน และบริการให้เคลื่อนย้ายไหลเวียนได้อย่างเสรีภายในดินแดนของประเทศสมาชิกหรือที่เรียกว่า การบูรณาการทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) นั้น นับเป็นหลักการที่สร้างความสำเร็จและความแข็งแกร่งให้ EU อย่างมาก โดยมีแนวความคิดเพื่อกระจายปัจจัยพื้นฐานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกซึ่งส่วนใหญ่ต่างมีพื้นที่ไม่มากนักและมีทรัพยากรธรรมชาติจำกัด ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรร่วมกันและเป็นการสร้างสันติสุขในภูมิภาคอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการก่อตั้งประชาคมยุโรป 

2.    สถาบันหลักของ EU 

       EU ประกอบด้วย

       2.1 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the European Union) มีหน้าที่พิจารณาร่างกฎระเบียบของ EU และอนุมัติงบประมาณ (ร่วมกับสภายุโรป) เป็นเวทีสำคัญในการประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายร่วมด้านการต่างประเทศและความมั่นคง ตลอดจนกำกับดูแลการทำงานของคณะกรรมาธิการยุโรป และประสานงานเรื่องอื่นๆ ระหว่างประเทศสมาชิก EU

        2.2  คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) มีหน้าที่ริเริ่มร่างกฎหมายและเสนอให้คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปและสภายุโรป พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่ประเทศสมาชิก EU และ/หรือสถาบันของ EU ที่เกี่ยวข้องจะนำไปปฏิบัติ  และมีหน้าที่ในการนำกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ และนโยบายระดับ EU ไปปฏิบัติ นอกจากนั้นยังทำหน้าที่พิทักษ์รักษาสนธิสัญญาต่างๆ และทำงานร่วมกับศาลยุติธรรมยุโรป ในการดูแลให้กฎหมาย EU ถูกนำไปใช้อย่างเหมาะสม รวมถึงเป็นตัวแทนของ EU ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยทำหน้าที่ในการเจรจาต่อรองข้อตกลงระหว่างประเทศ 

        2.3  สภายุโรป (European Parliament) มีหน้าที่พิจารณาและรับรองกฎระเบียบของ EUในสาขาที่ได้รับมอบหมายอำนาจตามที่ระบุในสนธิสัญญาลิสบอน โดยใช้อำนาจร่วมกับคณะมนตรีแห่ง สหภาพยุโรป อนุมัติงบประมาณของ EU และตรวจสอบการทำงานของสถาบันต่าง ๆ ใน EU ตามหลักประชาธิปไตย  ให้ความเห็นชอบข้อตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญ 

         นอกจากทั้ง 3 สถาบันข้างต้นแล้ว ยังมีคณะมนตรียุโรป (European Council) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมของประมุขแห่งรัฐ/ผู้นำรัฐบาลของประเทศสมาชิก โดยผู้นำ EU จะร่วมกันตัดสินใจในประเด็นด้านนโยบายที่สำคัญต่อ EU ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดทิศทางและนโยบายทั้งกิจการภายใน EU และนโยบายต่างประเทศของ EU และเป็นกรอบปฏิบัติให้กับสถาบันอื่นๆ ของ EU 

3.      สมาชิก EU 

         EU ได้รับการก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2536 โดยมีสมาชิกร่วมก่อตั้ง 12 ประเทศ และปัจจุบันได้ขยายเป็น 28 ประเทศตามลำดับดังนี้

         – EU-12 (1 พฤศจิกายน 2536- 31 ธันวาคม 2537) 

            เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน และอังกฤษ

         – EU-15 (1 มกราคม 2538- 30 เมษายน 2547)

           EU-12 + ออสเตรีย ฟินแลนด์ และสวีเดน

         – EU-25 (1 พฤษภาคม 2547- 31 ธันวาคม 2549) 

            EU-15 + (EU 10) ไซปรัส  เช็ก  เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย มอลตา โปแลนด์  สโลวาเกีย และสโลวีเนีย   

         – EU-27 (มกราคม 2550-30 มิถุนายน 2556)

            EU-25 +(EU2) บัลแกเรีย และโรมาเนีย 

         – EU-28 (ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2556)

            EU-27 + โครเอเชีย

4.     การเตรียมการของ  EU  ในการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี

        4.1  Transitional Arrangements on the Free Movement of Workers) 

               เพื่อเตรียมการให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี EU ได้นำ transitional arrangements มาใช้ในการปรับรับสมาชิกเพิ่มเติมภายใต้สนธิสัญญาสองฉบับในปี 2546 และ 2548 ซึ่งยินยอมให้สมาชิกแต่ละประเทศสามารถตั้งข้อสงวนในการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีเป็นการชั่วคราวสำหรับแรงงานจาก EU-8 ที่เข้าร่วม EU ในปี 2547 ได้แก่ เช็ก เอสโตเนีย ฮังการี ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ สโลวาเกีย และสโลวีเนีย และ EU-2  ซึ่งเข้าร่วม EUในปี 2550 ได้แก่ บัลแกเรีย และโรมาเนีย

         4.2  วัตถุประสงค์ของ transitional arrangements 

                เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีทีละน้อยในช่วงเวลาเจ็ดปีซึ่งแบ่งเป็นสามระยะ (2+3+2)  ในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศสมาชิกสามารถเปิดตลาดแรงงานในระยะเวลาใดก็ได้ แต่อย่างช้าที่สุดจะต้องเปิดตลาดแรงงานอย่างเต็มที่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเจ็ดปี (30 เมษายน 2554  สำหรับประเทศ  EU-8 และ 31 ธันวาคม 2556 สำหรับบัลแกเรียและโรมาเนีย) transitional arrangements แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

                 – EU-8   (เข้าร่วมเป็นสมาชิก 1 พฤษภาคม  2547)

                   ระยะที่หนึ่ง : 1 พฤษภาคม  2547 – 30 เมษายน  2549

                   ระยะที่สอง : 1 พฤษภาคม  2549 – 30 เมษายน 2552

                   ระยะที่สาม : 1 พฤษภาคม 2552 – 30 เมษายน 2554

                 – บัลแกเรียและโรมาเนียหรือ EU-2  (เข้าร่วมเป็นสมาชิก 1 มกราคม 2550)

                   ระยะที่หนึ่ง : 1  มกราคม  2550 – 31 ธันวาคม  2551

                   ระยะที่สอง : 1 มกราคม 2552 – 31 ธันวาคม 2554

                   ระยะที่สาม: 1 มกราคม 2555 – 31 ธันวาคม 2556

         4.3  มาตรการปกป้องประเทศสมาชิก

                จาก EU-25 ประเทศ มี EU 15 ประเทศได้แก่ เดนมาร์ก  เอสโตเนีย ไซปรัส ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฟินแลนด์ สวีเดน ฮังการี กรีซ สเปน โปรตุเกส เช็ก ที่ให้สิทธิในการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีแก่แรงงานจากโรมาเนียและบัลแกเรีย อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตว่า transitional arrangements  นั้นมีวรรคที่กำหนดมาตรการปกป้องโดยให้ประเทศสมาชิกสามารถนำข้อสงวนมาใช้   อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเล็งเห็นปัญหารุนแรงต่อตลาดแรงงาน  ถึงแม้ว่าจะได้ยกเลิกข้อสงวนไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม ซึ่งสเปนได้ให้สิทธิในการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีแก่แรงงานจาก EU-2  ไปแล้วเมื่อ 31 ธันวาคม  2551  แต่ต่อมาเมื่อตลาดแรงงานสเปนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยมีอัตราการว่างงานสูงสุดและเศรษฐกิจฟื้นฟูล่าช้า  สเปนจึงยื่นคำขอต่อคณะกรรมาธิการยุโรปและได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2554 ในการตั้งข้อสงวนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อแรงงานโรมาเนีย จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2555 และต่อมาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2555 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้ความเห็นชอบต่อคำขอของสเปนที่ได้ขอขยายระยะเวลาออกไปจนถึง 31 ธันวาคม 2556 แต่อย่างไรก็ตามข้อสงวนการเคลื่อนย้ายแรงงานเป็น    การชั่วคราวสำหรับกรณีแรงงานโรมาเนียและบัลแกเรียจะต้องยกเลิกไปนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 

                ทั้งนี้สมาชิก EU ที่เหลืออีก 10 ประเทศ ต่างก็ยังกำหนดข้อสงวนที่แตกต่างกันไป   แต่ที่เหมือนกันคือแรงงานจากบัลแกเรียและโรมาเนียจะต้องได้รับใบอนุญาตทำงานก่อนจึงจะสามารถทำงานในประเทศเหล่านี้ได้ ซึ่งข้อสงวนจะใช้กับแรงงานเท่านั้นแต่จะไม่ใช้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือจำกัดสิทธิในการเดินทางหรือทำงานในอีกประเทศสมาชิกหนึ่ง

         4.4  ผลของ transitional arrangements  ทำให้ EU-15 เปิดตลาดแรงงานให้กับแรงงาน EU-8 ในห้วงเวลาที่ต่างกัน บางประเทศ (อังกฤษ ไอร์แลนด์ และสวีเดน) เปิดตลาดแรงงานทันทีตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2547 และได้รับแรงงานจาก EU-8 จำนวนมาก ส่วนประเทศอื่นๆ ต่างทะยอยกันเปิดตลาดแรงงานโดยเฉพาะช่วงปี 2549-2550  แรงงาน EU-8 จึงสามารถทำงานได้อย่างเสรี (โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทำงาน) ใน EU-15 เป็นเวลาหลายปีจนถึงปัจจุบัน  

          4.5  คาดว่าภายหลังสิ้นสุด transitional arrangements เยอรมนีและออสเตรียจะได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศอื่นเนื่องจากสองประเทศนี้คงไว้ซึ่งข้อสงวนจำนวนมากในการเคลื่อนย้ายเสรีตลอดช่วงเวลาเจ็ดปีของ transitional period  ทั้งนี้จากประมาณการของ Friedrich Ebert Foundation คาดว่าการไหลเวียนสุทธิของคนจาก EU-8 (ได้แก่ประเทศที่เข้าร่วม EU ในปี 2547 ยกเว้นมอลต้าและไซปรัส) ไปยัง EU-15 จะมีประมาณ 200,000 คนต่อปีในปี  2554-2556 และลดลงทีละน้อยจนเหลือ 150,000 คนต่อปีใน 2558 และต่ำกว่า  100,000 คนต่อปี ในปี 2563 ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่เคยเป็นในช่วงปี 2549-2550 (ประมาณ 350,000 คนต่อปี) ซึ่งหากประมาณการดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจำนวนประชากรจาก EU-8 ทั้งหมดที่อาศัยอยู่ใน EU-15 ก็จะเพิ่มจาก 2.4 ล้าน เป็น 3.3 ล้านคนในปี 2558 และ 3.9 ล้านในปี 2563 โดยที่สัดส่วนของแรงงานเหล่านี้ในจำนวนประชากรทั้งหมดจากปัจจุบัน 0.6% จะเพิ่มเป็น 0.8% ในปี 2558 และต่ำกว่า 1% เพียงเล็กน้อยในปี 2563

5.   แรงงานทั่วไป/posted worker/ self employed 

      5.1  นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 ได้มีการยกเลิกข้อสงวนสำหรับ แรงงานเช็ก     เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฮังการี โปแลนด์ สโลวีเนีย และสโลวาเกีย แรงงานเหล่านี้จึงมีสิทธิที่จะทำงาน ทั้งที่เป็นลูกจ้าง หรือประกอบอาชีพอิสระโดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงานได้ทั่ว EU รวมถึงไอซ์แลนด์และนอร์เวย์ แต่สวิตเซอร์แลนด์นั้นอาจยังตั้งข้อสงวนต่อไปจนถึงพฤษภาคม 2557 

      5.2  ปัจจุบันแรงงานโรมาเนียและบัลแกเรียสามารถเป็นลูกจ้างหรือประกอบอาชีพอิสระโดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงานในบัลแกเรีย ไซปรัส เช็ก เดนมาร์ก เอสโตเนีย ฟินแลนด์ กรีซ ฮังการี ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลัตเวีย ลิทัวเนีย นอร์เวย์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สโลวาเกีย สโลวีเนีย และสวีเดน แต่จะถูกจำกัดสิทธิในการทำงาน (อย่างช้าที่สุดถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556) ในออสเตรีย เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก สเปน (เฉพาะแรงงานโรมาเนีย) ฝรั่งเศส มอลต้า อังกฤษ โดยแรงงานจากสองประเทศนี้จะต้องมีใบอนุญาตทำงานในการเข้าไปทำงานในประเทศดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หลายประเทศได้ปรับขั้นตอนหรือลดข้อสงวนสำหรับบางภาคหรือบางวิชาชีพ ส่วนสวิสเซอร์แลนด์อาจจะยังตั้งข้อสงวนไปจนถึง 31 พฤษภาคม 2562 

        5.3  สำหรับ posted worker (แรงงานที่ได้รับการว่าจ้างในประเทศหนึ่งใน EU แต่นายจ้างได้ส่งตัวไปยังอีกประเทศหนึ่งใน EU เพื่อทำงานเป็นการชั่วคราว)  นั้นจะได้รับการประกันสิทธิตามกฎว่าด้วย Posting of  Workers Directive  ในช่วงที่ถูกส่งตัวไปทำงาน  โดยหลักแล้วจะใช้เงื่อนไขและสภาพการทำงานที่บังคับใช้อยู่ในประเทศที่ posted worker เข้าไปทำงาน ซึ่งรวมถึงค่าจ้างขั้นต่ำด้วย ส่วนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำหรือค่าจ้างนั้น โดยทั่วไปเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของประเทศสมาชิกทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลที่ Posting of  Workers Directive  จึงไม่ผูกพันให้ประเทศสมาชิกต้องมีกฎระเบียบว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำ  ฉะนั้นหากประเทศผู้รับไม่มีกฎหมายว่าด้วยค่าจ้างขั้นต่ำหรือจะต้องทำความตกลงร่วมกันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ก็จะตกลงเรื่องอัตราค่าจ้างของ posted worker จากสัญญาจ้างหรือกฎหมายของประเทศผู้ส่ง 

         5.4  สำหรับแรงงานโครเอเชียจะยังถูกจำกัดสิทธิในการเป็นลูกจ้างในประเทศ EU อื่นไปจนถึง 30 มิถุนายน 2563 โดยจะต้องได้รับใบอนุญาตทำงานในออสเตรีย กรีซ สโลวีเนีย เบลเยี่ยม อิตาลี สเปน ไซปรัส ลักเซมเบิร์ก อังกฤษ ฝรั่งเศส มอลต้า เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ซึ่งโครเอเทียก็ตั้งข้อสงวนเช่นเดียวกันต่อประเทศเหล่านี้ด้วย

         5.5 โดยทั่วไปแล้วผู้ประกอบอาชีพอิสระ (self employed) ใน EU ไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทำงาน แต่แรงงานจาก EU บางประเทศยังจำเป็นต้องมีใบอนุญาตเพื่อเป็นลูกจ้างใน  EU ประเทศอื่น และบางประเทศในยุโรปได้กำหนดมาตรการเพื่อควบคุมแรงงานจาก  EU   เช่น ลิกเตนสไตน์  ซึ่งใช้ระบบโควต้าเพื่อจำกัดจำนวนคนที่สามารถทำงานและพักอาศัยในประเทศ โดยใช้กับแรงงานจาก  EU ทุกประเทศ รวมทั้งนอร์เวย์และไอซ์แลนด์ 

6.   ผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรี: 

      จากรายงานสองฉบับซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้จัดทำขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2549  ซึ่งครอบคลุม มาตรการในช่วงสองปีแรกระหว่าง  2547-2549 สำหรับแรงงานจาก EU 8  และในเดือนพฤศจิกายน 2551 ซึ่งครอบคลุมผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีในบริบทของการปรับรับสมาชิกเพิ่มเติมจาก EU-2  และทบทวนมาตรการเตรียมการสำหรับแรงงานจาก EU 8 ในช่วงต่อไปโดยรายงานฉบับหลังนั้นเป็นการวิเคราะห์เชิงลึก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากที่ปรึกษาภายนอกและตีพิมพ์ในรายงาน Employment in Europe 2008 (บทที่ 3 http//ec.europa.eu/social/BlobServlet?docld=2757=en) สรุปได้ดังนี้ 

      6.1  การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีนั้นมีผลดีอย่างมหาศาลต่อเศรษฐกิจและไม่มีผลข้างเคียงด้านลบที่รุนแรงต่อตลาดแรงงาน แม้แต่ในประเทศที่มีการไหลเข้าอย่างมากของแรงงานจาก EU ใหม่ ทั้งนี้รายงานได้กล่าวถึงการศึกษาโดย Friedrich Ebert Foundation ที่คาดว่าการอพยพของแรงงาน EU-8 มายังเยอรมนีในช่วงที่มีการอพยพสูงสุดจะมีผลให้ GDP ของเยอรมนีสูงขึ้น 1.16%  ค่าจ้างโดยเฉลี่ยลดลง 0.4 % และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.2% 

      6.2 สำหรับข้อวิตกของเยอรมนีและออสเตรียเกี่ยวกับ transitional arrangements ที่จะสิ้นสุดลงว่าจะนำไปสู่การทุ่มตลาดทางสังคม (Social Dumping) รวมถึงประเด็นความแตกต่างของการทำงานและเงื่อนไขการจ้างงานระหว่างแรงงานต่างด้าว และ posted worker ที่ถูกส่งมาทำงาน เป็นการชั่วคราวหรือไม่นั้น  กฎหมายว่าด้วยการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีของ EU ระบุว่าแรงงานต่างด้าวจะต้องมีสภาพงานที่เหมือนกัน รวมถึงค่าจ้างเท่าเทียมกันกับคนในชาติ ดังนั้นจึงเป็นการป้องกันปัญหาการทุ่มตลาดทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล 

       6.3  การเคลื่อนย้ายอย่างเสรีช่วยแก้ปัญหาการทำงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และจนถึงเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พบว่าค่าจ้างแรงงานในท้องถิ่นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การวิเคราะห์ผลกระทบของการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยแยกค่าจ้างจากการว่างงาน และจากการศึกษาเชิงประจักษ์พบว่ามีผลกระทบเล็กน้อยหรือไม่มีผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากตะวันออก-ตะวันตกใน EU ต่อค่าจ้างของแรงงานในท้องถิ่นและการมีงานทำ

        6.4  วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 ได้ส่งผลต่อการลดลงของแรงงานจากประเทศที่เพิ่งเข้าร่วมกับ EU-15 อันเนื่องมาจากความต้องการแรงงานที่ลดลงและจากการที่มีคนโยกย้ายกลับประเทศ สำหรับประเด็นที่เป็นข้อวิตกว่า หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเพิ่มขึ้นประเทศผู้ส่งจะมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองไหลหรือไม่นั้น พบว่าการเคลื่อนย้ายในเชิงภูมิศาสตร์ทำให้แรงงานจำนวนมากสามารถหางานทำได้ในต่างประเทศ  ทำให้อัตราการว่างงานในประเทศลดลง (ตัวอย่างเช่น โปแลนด์ซึ่งอัตราการว่างงานลดลงจาก 19 % ในปี 2547 เหลือเพียง  8.2% ในปี 2552) แต่ประเทศผู้ส่งก็อาจเกิดปัญหาสมองไหลและขาดแรงงานฝีมือด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในบางภาคส่วนเช่น การดูแลสุขภาพ 

         6.5 รายงาน Employment in Europe 2008 ได้วิเคราะห์ระดับฝีมือของแรงงานที่เคลื่อนย้ายใน EU ว่า  มีแรงงานระดับกลาง (แต่มิใช่ระดับสูง) มากจนเกินความจำเป็น และในช่วงหลังปรากฏว่าผู้มีอายุ 18-24 ปีจาก EU-10 ได้ลงลงทะเบียนเข้าศึกษาต่อเพิ่มขึ้นอย่างมาก (จาก 22.3% ในปี 2543 เป็น 32.5% ในปี 2551) เสมือนเป็นการชดเชยแรงงานฝีมือที่เคลื่อนย้ายออกไป และวิเคราะห์ว่า ภายหลังการทำงานต่างประเทศเป็นการชั่วคราว แรงงานหนุ่มสาวเหล่านี้อาจเดินทางกลับประเทศพร้อมด้วยทักษะที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งทักษะด้านภาษาซึ่งจะช่วยให้หางานทำในระดับนานาประเทศได้มากขึ้น 

7.   สถานการณ์ตลาดแรงงานของ EU 

      7.1  จากสถิติประชากรของประเทศใน EU และจากการสำรวจกำลังแรงงานพบว่าในช่วงต้นปี 2553 มีคนจาก EU-10  ถึง 2.3 ล้านคนอาศัยอยู่ใน EU-15 โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในจำนวนประชากรทั้งหมดจาก 0.3% ในปี 2547 เป็น  0.6% ในปี 2553 และแรงงานที่เคลื่อนย้ายส่วนใหญ่เป็นชาวโปแลนด์ ลิทัวเนีย และสโลวาเกียซึ่งเดินทางไปยังไอร์แลนด์ อังกฤษ และเยอรมนี 

      7.2  ภายหลังการขยายสหภาพพบว่า แรงงานจากประเทศ EU ใหม่เข้าไปยังประเทศ EU เก่า (EU-15) (ยกเว้นไอร์แลนด์) ในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการเข้าไปทำงานของแรงงานจากนอก  EU เป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏว่ามีคนจาก EU-15 หลายประเทศที่ย้ายเข้าไปยัง EU-15 บางประเทศมากเสียยิ่งกว่าการเข้าไปของคนจาก EU-10   ทั้งนี้ผลการสำรวจกำลังแรงงานของ EU พบว่าคนจาก EU-10 ที่อยู่ใน EU-15 มีจำนวนคงเดิมระหว่างกลางปี 2551 จนถึงสิ้นปี 2552 อันเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอีกครั้งในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2553 

       7.3  จากการสำรวจกำลังแรงงานของ EU พบว่า อัตราการจ้างงานของประชากรวัยทำงาน (15-64 ปี) จาก EU-10 ซึ่งเดินทางไป EU-15 ในปี  2547 หรือหลังจากนั้น ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2543 มีจำนวนสูง (72.4%) กว่าจำนวนเฉลี่ย (66%) ของคนชาติ และสูงกว่าคนจากนอก EU (56%) อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานของคนเหล่านี้สูง (10.2%) กว่าคนชาติ (8.7%) เพราะมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นมากหากเปรียบเทียบกับสองปีก่อนหน้า (+5 จุด) เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ 

       7.4  ภาพการเคลื่อนย้ายแรงงานจาก EU-10 จะไม่สมบูรณ์หากพิจารณาจากเพียงแรงงานที่พำนักถาวรในประเทศผู้รับ  เพราะยังมีแรงงานอีกจำนวนหนึ่งที่เข้ามาทำงานในช่วงเวลาที่จำกัด รวมทั้ง posted workers หรือแรงงานตามฤดูกาล ซึ่งประมาณการว่าในปี 2552  EU-10 ได้ออกใบรับรอง 285,000 ฉบับเพื่อส่งแรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโปแลนด์เข้าไปทำงานใน EU-15 โดยเฉพาะในเยอรมนี แต่ตัวเลขนี้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 และอีกรูปแบบหนึ่งของการเคลื่อนย้ายระยะสั้นใน EU บางประเทศคือแรงงานตามฤดูกาล พบว่าในปี 2550 มีแรงงานตามฤดูกาลประมาณ 300,000 คนได้รับการว่าจ้างให้ไปทำงานในเยอรมนี ภายใต้ข้อตกลงทวิภาคี นับแต่ช่วงนั้นเป็นต้นมาพบว่ากระแสแรงงานประเทศที่เข้าร่วม EU ในปี 2547 และ 2550 ยกเว้นแรงงานจากโรมาเนียจะลดลง 

       7.5  สถิติแรงงานบัลแกเรียและโรมาเนีย (EU-2)

              จากสถิติจำนวนประชากรและกำลังแรงงานของประเทศสมาชิกแสดงให้เห็นว่าในต้นปี 2553 มีแรงงานบัลแกเรียและโรมาเนีย 2.5 ล้านคนอาศัยอยู่ใน EU-15 ซึ่งหมายความว่าจำนวนประชากรบัลแกเรียและโรมาเนียซึ่งอยู่ใน EU-15 ได้เพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในปี 2547 เป็น0.6% ในปี 2553 โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้

               –  ชาวโรมาเนีย 2.1 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในอิตาลี (890,000 คน)   สเปน(825,000 คน) และเยอรมนี (110,000 คน); 

               –  ชาวบัลแกเรีย 430,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในสเปน (168,000 คน)  เยอรมนี (66,000 คน)  กรีซ (54,000 คน) และอิตาลี (46,000 คน) . 

               จากสถิติที่ได้จากผลการสำรวจกำลังแรงงานของ EU พบว่าจำนวนของพลเมืองประเทศ EU-2 ที่อาศัยอยู่ในประเทศ EU-15 ได้เพิ่มขึ้นในปี 2552 ในอัตราที่ช้ากว่าช่วงก่อนหน้าอันเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจและยังลดลงอีกในไตรมาสแรกของปี 2553 (การโยกย้ายถิ่นฐานสุทธิลดลง : negative net migration) ก่อนจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในสองไตรมาสที่ตามมา 

               ผลจากการสำรวจกำลังแรงงานของ EU พบว่าอัตราการมีงานทำของคนวัยทำงาน  (15-64 ปี) ชาวบัลแกเรียและโรมาเนียซึ่งเพิ่งย้ายไปยังประเทศ EU-15 ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ใกล้เคียง (65%) กับอัตราเฉลี่ยของของคนชาติ (66%)  และสูงกว่าคนจากประเทศนอก EU (56%)  อย่างไรก็ตามอัตราการว่างงานของคนจาก EU-2  (17.8%) ก็ยังสูงกว่าคนชาติ (8.7%) มาก ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเป็นที่น่าสังเกตเมื่อเปรียบเทียบกับสองปีก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ

8.  ภาพรวมการดำเนินการของสมาชิก EU บางประเทศต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี

     ที่ผ่านมาหลายประเทศใน  EU ได้ปรับเปลี่ยนระเบียบในการออกใบอนุญาตทำงานดังนี้

     –  เบลเยี่ยม : ได้นำขั้นตอนเร่งการออกใบอนุญาตทำงานภายใน 5 วันสำหรับวิชาชีพ      ที่ขาดแคลนแรงงาน

     –  เยอรมนี : ผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและวิศวกรในบางสาขา ( วิศวกรรม  การบิน  วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมยานยนต์) จำเป็นต้องมีใบอนุญาตทำงานแต่ได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องผ่านการทดสอบตลาดแรงงาน (labour market test)

     –  ไอร์แลนด์ : จะออกใบอนุญาตทำงานให้หากนายจ้างไม่สามารถจ้างคนจาก EU-25   มาทำงานในตำแหน่งที่ว่างได้

     –  ฝรั่งเศส : ได้ปรับขั้นตอนการจ้างงานให้ง่ายขึ้นใน 150 ตำแหน่งโดยออกใบอนุญาตทำงานให้โดยไม่พิจารณาถึงสถานการณ์ของงานแต่อย่างใด 

     –  อิตาลี : ไม่กำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตทำงานในบางภาค (การเกษตร การโรงแรมและการท่องเที่ยว งานบ้าน บริการด้านการดูแล การก่อสร้าง วิศวกรรม งานด้านบริหารจัดการและทักษะ ขั้นสูง งานตามฤดูกาล)

     –  ลักเซมเบิร์ก : ได้ลดขั้นตอนสำหรับงานภาคการเกษตร การปลูกองุ่น งานโรงแรมและจัดเตรียมอาหาร   รวมถึงผู้มีคุณสมบัติเฉพาะในภาคการเงิน

     –  มอลต้า : ออกใบอนุญาตทำงานในตำแหน่งซึ่งต้องมีคุณสมบัติและ/หรือผู้มีประสบการณ์รวมทั้งสำหรับในอาชีพที่มีความขาดแคลนแรงงาน

     – เนเธอร์แลนด์ : จะออกใบอนุญาตทำงานเมื่อไม่มีแรงงานในเนเธอร์แลนด์หรือจากประเทศ EU อื่นและนายจ้างที่จะว่าจ้างแรงงานสามารถเสนองานและที่พักซึ่งเหมาะสมได้ และยังมี    การยกเว้นเป็นการชั่วคราวสำหรับภาคส่วนที่ขาดแคลนแรงงาน

     –  อังกฤษ : นายจ้างสามารถขอใบอนุญาตทำงาน (ยกเว้นงานบางประเภท) และแรงงานจะต้องสมัคร Accession worker card ส่วนแรงงานทักษะต่ำจะถูกจำกัดจำนวนด้วยแผนกำหนดโควต้าในภาคการเกษตรและการผลิตอาหารหรือโครงการสำหรับแรงงานต่างด้าวที่มีทักษะสูง

     –  ออสเตรีย : คงไว้ซึ่งระบบใบอนุญาตทำงานแต่อนุญาตให้ออกใบอนุญาตทำงานสำหรับ 65 วิชาชีพที่ขาดแคลนแรงงาน ภายหลังผ่านการทดสอบตลาดแรงงาน (labour market test) แล้ว 

     อย่างไรก็ตามบัลแกเรียและโรมาเนียมิได้ใช้มาตรการจำกัดสิทธิในการเข้าสู่ตลาดแรงงานต่อ EU-25 ซึ่งได้ตั้งข้อสงวนกับแรงงานบัลแกเรียและโรมาเนียแต่อย่างใด

ที่มา: 

http://europa.eu/youreurope/citizens/work/abroad/work-permits/

http://europa.eu/rapid/press-release_MEMO-11-259_en.htm

http://epp.eurostat.ec.europa.eu/statistics_explained/index.php/Glossary:EU_enlargements

http://ec.europa.eu/social/main.jsp?catId=471

http://ec.europa.eu/commission_2010-2014/andor/headlines/news/2011/04/20110428_en.htm

เว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ


494
TOP