ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 10 /2556
สิทธิของแรงงานตามกฎหมายเยอรมัน
- การเลิกจ้าง
ตามกฎหมายป้องกันการเลิกจ้าง การเลิกจ้างโดยเหตุผลด้านความประพฤติจะกระทำได้ต่อเมื่อมีการแจ้งเตือนมิให้ประพฤติตนเช่นนั้นซ้ำเสียก่อน ยกเว้นกรณีมีปัญหาความประพฤติขั้นร้ายแรงเท่านั้นที่จะสามารถเลิกจ้างโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า กฎหมายฉบับนี้เสมือนเกราะป้องกันการเลิกจ้างโดยเป็นธรรมซึ่งสามารถใช้กับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 10 คน และต้องทำงานนาน 6 เดือนขึ้นไป หากไม่คำนึงถึงขนาดของสถานประกอบการตามที่กล่าวข้างต้น ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าก่อนการเลิกจ้างเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในช่วง 6 เดือนแรก หลังจากนั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิที่จะได้รับการแจ้งดังกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อยที่สุด 4 สัปดาห์ หรืออาจมากกว่านั้นขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน ทั้งนี้ การเลิกจ้างต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ
- การไม่จ่ายค่าจ้าง
หากมีการจ่ายค่าจ้างล่าช้าหรือยืดระยะเวลาจ่ายค่าจ้าง ลูกจ้างสามารถหยุดงานจนกว่าจะได้รับค่าจ้างโดยต้องแจ้งล่วงหน้า และนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างในช่วงที่หยุดทำงานด้วย
- การประกันสุขภาพและเงินบำนาญ
นายจ้างจะต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพและการสมทบเงินบำนาญให้กับลูกจ้างประมาณครึ่งหนึ่ง
- ค่าจ้างขั้นต่ำ
ไม่มีข้อกำหนดทางกฎหมายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศเยอรมนี แต่ได้มีการตกลงกันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำในบางภาค (เช่น การก่อสร้างและบริษัทจ้างงานชั่วคราว) โดยได้ทำความตกลงร่วมในภาคและวิชาชีพส่วนใหญ่ หากลูกจ้างได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 2/3 ของอัตราที่กำหนดในความตกลงร่วม ก็จะถือว่าลูกจ้างได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสามารถฟ้องร้องได้
- เวลาพัก
หลังจากทำงานเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ลูกจ้างมีสิทธิพัก 30 นาที หรือพักได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 15 นาที สถานประกอบการที่มีลูกจ้างมากกว่า 10 คน จะต้องมีห้องสำหรับพักผ่อน
- การทำงานล่วงเวลาและงานกะกลางคืน
ลูกจ้างไม่จำเป็นต้องทำงานล่วงเวลาหากมิได้ทำข้อตกลงไว้ เวลาทำงานไม่รวมช่วงพักจะต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมง ลูกจ้างอาจได้รับการร้องขอให้ทำงานได้ถึง 10 ชั่วโมงเป็นการชั่วคราว แต่โดยเฉลี่ยต้องทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หากทำงานกะกลางคืน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับวันลาเพิ่มหรือได้รับค่าจ้างพิเศษ
- ผู้รับงานอิสระ
ผู้รับงานอิสระจะต้องได้รับค่าจ้างภายในหนึ่งเดือนหลังจากยื่นใบแจ้งยอดเงินที่ต้องชำระ แต่จะไม่ได้รับสิทธิส่วนใหญ่ดังที่ระบุไว้ข้างต้น อย่างไรก็ตาม หากทำงานเป็นผู้รับงานอิสระและนายจ้างเป็นผู้บอกถึงวิธีการทำงานหรือผู้รับงานอิสระนั้นร่วมเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการทำงาน ผู้รับงานอิสระนั้นอาจมิใช่ผู้รับงานอิสระอย่างแท้จริง ในกรณีเช่นนั้น ก็มีสิทธิเช่นลูกจ้างประจำ ซึ่งการพิสูจน์ในเรื่องนี้กระทำได้ค่อนข้างยาก
- การลาป่วย
หากลูกจ้างป่วยและไม่สามารถทำงานได้ นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างเต็มจำนวนของรายได้ปกติเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ในกรณีที่ป่วยเกิน 6 สัปดาห์ บริษัทประกันสุขภาพจะจ่ายเงินทดแทนให้ตามอัตราส่วน ทั้งนี้ ลูกจ้างต้องทำงานมาแล้วอย่างน้อยที่สุด 4 สัปดาห์ และต้องแจ้งให้นายจ้างทราบโดยทันทีว่าตนไม่สามารถทำงานได้และเป็นเวลานานเท่าใด
- การลาพักผ่อน
ลูกจ้างมีสิทธิลาโดยได้รับค่าจ้าง 4 สัปดาห์ต่อปี ต้องได้พัก 11 ชั่วโมงระหว่างกะ วันอาทิตย์และวันหยุดราชการนับเป็นวันหยุด แต่มีหลายภาคที่ไม่รวมอยู่ในระเบียบนี้ (เช่น ลูกจ้างโรงแรมและภัตตาคาร)
- การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร
นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างลูกจ้างหญิงนับตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนถึง 4 เดือนหลังคลอดบุตร และสามารถลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างในช่วง 6 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ และจนถึง 8 สัปดาห์หลัง การคลอดบุตร บิดาและมารดาสามารถลาเลี้ยงดูแลบุตรรวมกันได้นานถึง 14 เดือนหลังการคลอดบุตรโดยได้รับเงินช่วยและไม่สามารถถูกเลิกจ้างได้
ที่มา https://berlin.fau.org/news/art_121018-205406
——————————————
ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
2 ธันวาคม 2556