เยอรมนีต้องการแรงงานฝีมือจากอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ประเทศเยอรมนีได้ดำเนินโครงการ “Make it in Germany” เพื่อดึงดูดนักวิชาชีพที่มีฝีมือจาก อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนามเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมัน
นายโดมินิค ซิลเลอร์ หัวหน้าแผนกการโยกย้ายถิ่นฐานขององค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit GmbH (GIZ)ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ประเทศเยอรมนีดำเนินโครงการข้างต้นว่า ปัญหาโครงสร้างประชากรจะทำให้จำนวน นักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติของเยอรมันขาดแคลน แม้แต่ในปัจจุบันประเทศเยอรมนีมีศักยภาพลดลงเนื่องจากขาดแคลนนักวิชาชีพที่มีฝีมือ ส่วนสถานประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางของเยอรมัน (SMEs) กำลังเผชิญปัญหาที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นนั่นก็คือการขาดนักวิชาชีพที่มีฝีมือในอนาคต ขณะนี้ เห็นได้ชัดว่าจำนวน นักวิชาชีพในภาค “STEM” (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ลดน้อยลงซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นและขยายไปสู่วิชาชีพอื่นๆ ด้วย
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว กระทรวงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์ฯ จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมแห่งสหพันธ์ฯ และหน่วยงานเพื่อการจ้างงานแห่งสหพันธ์ฯ ในการเริ่มโครงการเพื่อให้ได้มาซึ่งนักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติ (Qualified Professionals Initiative) โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการมองหานักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติจากต่างประเทศซึ่งสนใจที่จะย้ายถิ่นฐาน โดยได้เปิด Portal หรือ เว็บท่า Make it in Germany [www.make-it-in-germany.vn or www.make-it-in-germany.com] เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอาศัยและทำงานในประเทศเยอรมนี ซึ่งจะเน้นภาคที่กำลังมองหานักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติ พร้อมบริการให้คำแนะนำปรึกษา
เหตุผลที่ประเทศเยอรมนีเลือกอินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนามให้เป็นประเทศนำร่อง เนื่องจากทั้งสามประเทศเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ มีทรัพยากรแรงงานที่มีศักยภาพและได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดีในวิชาชีพที่เกี่ยวข้องและคุณสมบัติที่แรงงานเหล่านี้มีนั้นเหมาะหรือง่ายต่อ การปรับให้เข้ากับตลาดแรงงานเยอรมัน
ประเทศข้างต้นมีมหาวิทยาลัยและโรงเรียนที่สอนหลักสูตรเยอรมันในบางสาขา เช่นมหาวิทยาลัยเวียดนาม-เยอรมันในนครโฮจิมินห์ หรือมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮานอย นอกจากนั้นยังมีสถาบันเกอเธ่ในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ รวมกระทั่งศูนย์เยอรมันที่มหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งฮานอย สถาบันเหล่านี้นับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดสอนภาษาเยอรมันให้แก่ชาวเวียดนาม แม้แต่ในอินเดียและอินโดนีเซียต่างก็มีสถาบันในลักษณะนี้เช่นกัน
นอกจากนั้น ทั้งสามประเทศต่างก็ได้ดำเนินนโยบายด้านการย้ายถิ่นของแรงงาน โดยเฉพาะ เวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่เป็นที่ทราบกันดีว่ามีการส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศ และอีกประการหนึ่งที่จะลืมเสียมิได้คือความผูกพันทางประวัติศาสตร์ที่เหนียวแน่นระหว่างเวียดนามกับเยอรมันตะวันออกเดิม ในช่วงกลาง 1980s มีชาวเวียดนามเดินทางเข้าไปทำงานหรือศึกษาในเยอรมันตะวันออกปีละกว่า 50,000 คน ปัจจุบันยังคงมีกลุ่มคนเวียดนามในประเทศเยอรมนีถึง 100,000 คน
สำหรับในส่วนของนักวิชาชีพ การทำงานในต่างประเทศนับเป็นโอกาสที่ดึงดูดใจสำหรับคนเหล่านี้ที่จะได้รับการพัฒนาและช่วยเหลือครอบครัวของตนในประเทศต้นทาง นายโดมินิค ซิลเลอร์ กล่าวว่า ประเทศเยอรมนีตระหนักดีว่าโครงการ “Make It In Germany” ได้เสนอโอกาสในการทำงานแก่นักวิชาชีพในสาขาที่เวียดนามเองก็มีความต้องการอย่างมากเพื่อการพัฒนาประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศเยอรมนีก็ได้ใช้ความระมัดระวังในการดำเนินโครงการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศต้นทางเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสมองไหล ซึ่งได้มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกรมกิจการแรงงานไปทำงานต่างประเทศของเวียดนาม อนึ่ง รัฐบาลเวียดนามเองก็เปิดกว้างและให้ความสนใจต่อการที่นักวิชาชีพเวียดนามจะได้รับการพัฒนาและตระหนักถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งนักวิชาชีพไปทำงานในต่างประเทศว่า ผลประโยชน์มิใช่มีเพียงเงินที่แรงงานจะส่งกลับประเทศเท่านั้นแต่ยังมีสิ่งอื่นด้วย รวมถึงประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย
สำหรับชาวอินเดียที่ทำงานอยู่ในซิลิคอนแวลเลย์และธุรกิจซอฟท์แวร์ก็นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้ย้ายถิ่นต่างมิได้พำนักอยู่ในประเทศเยอรมนีตลอดไปทุกราย ผู้ที่เดินทางกลับสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากความรู้และทักษะที่ได้รับจากประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตนเองและประเทศต้นทาง
สำหรับประเด็นสมองไหลนั้น ประเทศเยอรมนีตระหนักดีว่าเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตขึ้นและมีความต้องการนักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีนักวิชาชีพในภาค STEM มากเกินความต้องการ โดยเฉพาะผู้สำเร็จการศึกษาที่มีอายุไม่มากนัก กล่าวโดยสรุป ประเทศเยอรมนีมีความต้องการที่จะดึงดูดนักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมัน แต่ในประเด็นการพัฒนาซึ่งมีความอ่อนไหวนั้น ประเทศเยอรมนีต้องการให้ทุกฝ่ายได้รับผลประโยชน์ซึ่งนับรวมถึงประเทศต้นทาง และโดยเฉพาะนักวิชาชีพและครอบครัวที่ย้ายถิ่นเพื่อมาทำงาน มิใช่เพียงแต่ประเทศเยอรมนี
[นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 นักวิชาการจากประเทศซึ่งมิได้เป็นสมาชิกอียูซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีงาน
ทำตามวุฒิของตนและมีรายได้ประจำปีอย่างน้อยที่สุด 46,400 ยูโร จะได้รับอนุญาตให้มีถิ่นพำนักในประเทศเยอรมนีตามนโยบาย “EU Blue Card”
สำหรับนักวิชาชีพผู้มีคุณสมบัติในภาค “STEM” ที่ประเทศเยอรมนีขาดแคลนก็สามารถได้รับ “EU Blue Card” หากได้รับค่าจ้างเท่ากับนักวิชาชีพของเยอรมันหรืออย่างน้อยที่สุด 36,912 ยูโรต่อปี นอกจากนั้น ประเทศเยอรมนี ยังได้ปรับปรุงเงื่อนไขที่เอื้อต่อนักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติทางวิชาชีพและโอกาสในการเข้าไปรับการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ ทั้งนี้ GIZ กำลังให้การสนับสนุนกระทรวงเศรษฐกิจและเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์ฯ ในการดำเนินโครงการ“Make it in Germany”ด้วยการให้ข้อมูลและคำแนะนำปรึกษาในเวียดนาม อินเดีย และอินโดนีเซีย]
ที่มา: Tuoi Tre News, 3 ตค. 56
——————————————
ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
11 พฤศจิกายน 2556