ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 17 /2556
เยอรมนีต้องยอมรับต่างด้าวมากขึ้น
สิ่งที่คุกคามประเทศเยอรมนี ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของยุโรปมิใช่เรื่องการแข่งขันกับต่างประเทศแต่เป็นอัตราการเกิดต่ำ และจากการที่เยอรมนีมีอัตราการเกิดต่ำนั้น ทำให้ไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากจะยินยอมเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติอพยพเข้าประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีฝีมือหรือไม่ก็ตาม แต่ในขณะเดียวกัน แม้เยอรมนีจะต้องการผู้อพยพ-บางทีอาจจะมากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป-แต่เยอรมนีไม่ต้องการให้มีผู้อพยพอย่างแท้จริง
ในเดือนกรกฎาคม รัฐบาลเยอรมันได้ผ่อนปรนการเข้ามาทำงานในเยอรมนีของประชาชนนอกสหภาพยุโรปให้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะในภาคที่มีการขาดแคลนแรงงาน โดยมีการพิจารณาอย่างระมัดระวังและมิได้มีการประชาสัมพันธ์มากนัก
มูลนิธิ Bertelsmann กล่าวว่า ผลการวิจัยพบว่าสองในสามของคนเยอรมันคิดว่าคนต่างด้าวก่อให้เกิดปัญหาในโรงเรียนและต่อบริการสังคม และในสัปดาห์นี้ นายกเทศมนตรีจากทั่วเยอรมนีต่างได้เตือนถึงความกดดันที่ชาวโรมาเนียและบัลแกเรียมีต่อบริการในท้องถิ่นซึ่งจะมีมากขึ้นในปีที่จะถึงนี้ เมื่อข้อจำกัดว่าด้วยการเดินทางในสหภาพยุโรปสำหรับประชากรจากสองประเทศนี้ยกเลิกไป
อัตราการเกิดของเยอรมนีซึ่งอยู่ที่ 1.4 ต่อสามีภรรยา 1 คู่นั้นได้ลดลงมาหลายทศวรรษแล้ว และไม่ว่าจะเพิ่มสิทธิประโยชน์สำหรับเด็กมากเพียงใด รัฐบาลก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนเด็กเกิดใหม่ได้มากนัก ทั้งนี้ เยอรมนีจำเป็นต้องมีอัตราการเกิด 2.1 เพื่อคงไว้ซึ่งจำนวนประชากรปัจจุบัน ในขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนีได้มีรายงานระบุว่า “อัตราการเกิดต่ำทำให้จำนวนมารดาที่จะสามารถมีบุตรได้มีจำนวนน้อยลง แม้ในปัจจุบัน กลุ่มเด็กผู้หญิงที่เกิดใหม่ก็ยังมีจำนวนน้อยมากกว่ามารดาอย่างมากในเชิงของตัวเลข”
แม้ปัจจุบันจำนวนประชากรของเยอรมนีมีจำนวนคงที่ แต่ก็พบว่าสถิติผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่สำหรับคนรุ่นถัดไป และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าหากไม่มีผู้อพยพมากขึ้นภายในปี 2050 จำนวนประชากรจะลดลงประมาณ 16 เปอร์เซนต์เหลือเพียง 69 ล้านคนจากจำนวนคนเกือบ 82 ล้านคนในปัจจุบัน ซึ่งการสูญเสียประชากรถึง 13 ล้านคนนี้จะทำให้บางส่วนของประเทศถูกทิ้งร้างและจะทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีทรุดตัวลง
ในแง่ของแรงงานต่างชาตินั้น เยอรมนียังคงเป็นประเทศแม่เหล็กที่ดึงดูดชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาทำงาน แม้ว่าบุคคลที่เกิดจากบิดามารดาต่างชาติในเยอรมนีจะต้องดิ้นรนในการบูรณาการเพื่อเข้าสู่สังคมเยอรมันก็ตาม เดิมทีรัฐบาลเยอรมันไม่มีนโยบายรวมผู้ซึ่งไม่มีสายเลือดเยอรมัน ดังนั้นคนตุรกีที่เกิดในเยอรมนีจึงไม่สามารถยื่นขอสองสัญชาติทั้งตุรกีและเยอรมันได้ แต่ต่อมาในสมัยนาย Gerhard Schröder ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านาง Merkel ได้มีการปรับกฎหมายของปี 1913 โดยอนุญาตให้บุคคลดังกล่าวยื่นขอสัญชาติเยอรมันได้
ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ก่อนที่จะมีการผ่อนปรนกฎหมายเกี่ยวกับการเข้ามาทำงานของชาวต่างชาติ พบว่า มีชาวต่างชาติ 555,000 คนเดินทางเข้ามาในเยอรมนี ซึ่งเพิ่มจำนวนถึง 11 เปอร์เซนต์จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมาจากคนหางานชาวอิตาเลียนและสเปนที่ต้องการหางานทำในภาคส่วนที่ตลาดงานในประเทศของตนทรุดตัว
กฎหมายเยอรมันส่งเสริมให้คนต่างด้าวที่มีฝีมือเข้ามาทำงาน ในเดือนพฤษภาคม การศึกษาของมูลนิธิ Bertelsmann พบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนต่างด้าวทั้งหมดที่เข้ามาในเยอรมนีมีคุณสมบัติทางวิชาชีพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ในขณะที่คนเยอรมันเพียง 26 เปอร์เซนต์มีคุณสมบัติดังกล่าว ทั้งนี้ มีข้อกังวลว่า หากมองว่าการอบรมวิชาชีพของเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของความสำเร็จทางเศรษฐกิจของเยอรมนี “จะเกิดอะไรขึ้นกับเยอรมนี หากจำนวนเยาวชนที่จะฝึกอบรมน้อยลง”
เนื่องจากเยอรมนีไม่สามารถจำกัดการเข้ามาของแรงงานฝีมือจากอียูได้ ดังนั้นเพื่อคงไว้ซึ่งจำนวนประชากร เยอรมนีจำเป็นต้องเปิดประเทศเพื่อรับคนต่างด้าวจากนอกสหภาพยุโรปให้มากขึ้นและจะต้องช่วยให้คนเหล่านี้เรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นต่อการสร้างชีวิตใหม่ในเยอรมนี
ที่มา: บทความโดยนายทอม บริสโตว์ หนังสือพิมพ์เดอะโลคอล
———————————————-
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
20 ธันวาคม 2556