ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 21/2557
การอนุญาตให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในเยอรมนี
เยอรมนีเริ่มคัดเลือกแรงงานต่างด้าวจากยุโรปใต้และแถบเมดิเตอเรเนียนเข้ามาทำงานในปี 2498 หลังจากการทำข้อตกลงกับอิตาลี ต่อมารัฐบาลเยอรมนีได้ลงนามข้อตกลงในการจ้างแรงงานกับสเปน กรีซ (2503) ตุรกี (2504) โมร็อกโก (2506) โปรตุเกส (2507) ตูนิเซีย (2508) และยูโกสลาเวีย (2511)
แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤตน้ำมัน คณะรัฐมนตรีแห่งเยอรมนีจึงมีคำสั่งให้หยุดการจ้างแรงงานต่างด้าวในเดือนพฤศจิกายน 2516 โดยมีข้อยกเว้นเพียงเล็กน้อยทำให้มีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในเยอรมนีน้อยมาก
ต่อมาเยอรมนีได้ปรับเปลี่ยนกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามลำดับ ทำให้ชาวต่างชาติมีโอกาสที่จะเข้ามาทำงานในเยอรมนีเพิ่มขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้เยอรมนีได้ทำการเปลี่ยนแปลงที่เกือบจะเรียกได้ว่ามากที่สุดด้วย การเริ่มโครงการ EU Blue Card ในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ซึ่งทำให้แรงงานฝีมือจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียูเข้ามาทำงานในอียูได้มากขึ้น ปัจจุบันเยอรมนีได้ปรับระบบการเดินทางเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวให้ตรงกับความต้องการและความจำเป็นของตลาดแรงงานโดยถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ประชากรของรัฐบาล
ประมวลกฎหมายว่าสิทธิพำนัก (Residence Act) ได้จัดกลุ่มผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในเยอรมนีโดยรวมถึง
- การศึกษา/ฝึกอบรม
- การทำงาน
- เหตุผลด้านมนุษยธรรม/การเมือง
- สมาชิกครอบครัวที่อพยพตามมาภายหลัง
- กฎหมายเยอรมันได้วางระเบียบชัดเจนว่าการเข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมันของแรงงานต่างด้าวนั้นมีความสำคัญต่อนโยบายว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานของเยอรมนี
หลังจากการแก้ไขกฎหมายในช่วงปีหลัง ๆ กฎหมายว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานก็ได้เปิดรับแรงงานฝีมือในหลักการและมุ่งสร้างสิ่งจูงใจเพื่อดึงดูดความสนใจของแรงงานฝีมือในสาขาที่เยอรมนีมี ความต้องการเร่งด่วน
กฎหมายใหม่ของเยอรมนี (Germany’s Act to Implement Council Directive 2009/50/EC) ว่าด้วยเงื่อนไขในการเข้าประเทศและการพำนักของแรงงานจากประเทศที่สามเพื่อการทำงานที่ต้องใช้ผู้มีคุณวุฒิสูงซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ทำให้ EU Blue Card มีความสำคัญเสมือนสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศที่มิได้เป็นสมาชิกอียูสามารถทำงานอย่างถูกกฎหมายในเยอรมนีได้ง่ายยิ่งขึ้น
กฎหมายใหม่นี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อแรงงานฝีมือจากนอกอียู แต่ต้องมีการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำ การกำหนดให้นายจ้างต้องแสดงว่าไม่มีผู้ใดในตลาดแรงงานท้องถิ่นที่จะสามารถเข้าบรรจุในตำแหน่งงานที่ว่างนั้นได้ และการทดสอบเพื่อให้มั่นใจแล้วว่าสภาพการทำงานของแรงงานต่างด้าวนั้นมีคุณภาพเทียบเท่ากับแรงงานเยอรมัน มาตรการเหล่านี้เป็นการป้องกันมิให้มีการลดค่าจ้างต่ำเกินจริงและมิให้แรงงานต่างด้าวต้องทำงานในสภาพที่ด้อยกว่าแรงงานเยอรมัน
The EU Blue Card
นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 โครงการนี้ทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอียู (ประเทศที่สาม) สามารถทำงานตามกฎหมายในเยอรมนีโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยาก โดยมีเพียงสองเงื่อนไขได้แก่
- ผู้สมัคร Blue Card ต้องแสดงหลักฐานการสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย
- และต้องได้รับค่าจ้างอย่างน้อยที่สุด 45,000 ยูโรต่อปี
โดยยกเลิกกฎหมายเดิมที่ระบุให้ต้องได้รับค่าจ้างอย่างน้อยที่สุดปีละมากกว่า 65,000 ยูโร โครงการนี้ทำให้ตลาดแรงงานเยอรมันเป็นที่น่าสนใจมากขึ้นสำหรับผู้จะเริ่มต้นการทำงาน สำหรับอาชีพที่เยอรมนีมีตำแหน่งงานว่างจำนวนมาก เช่น แพทย์ และวิศวกร มีการกำหนดให้ได้รับค่าจ้างเพียง 35,000 ยูโรต่อปีเท่านั้น เพื่อป้องกันการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกันในการจ้างงานชาวต่างชาติ จึงได้มีการตรวจสอบทั้งในเรื่องชั่วโมงการทำงานและเงินเดือนเพื่อให้เท่าเทียมกับลูกจ้างชาวเยอรมัน
EU Blue Card ยังให้สิทธิพิเศษแก่แรงงานต่างด้าวและครอบครัว เช่น การได้รับสิทธิพำนักถาวรเร็วขึ้นเพื่อให้ผู้ถือบัตรนี้สามารถวางแผนอนาคตระยะยาวในเยอรมนีได้ โดยภายหลังสามปีคนเหล่านี้มีสิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้มีถิ่นพำนักถาวร และแรงงานที่แสดงให้เห็นว่ามีทักษะด้านภาษาเยอรมันในเกณฑ์ดีจะมีสิทธิที่จะได้รับอนุญาตให้มีถิ่นพำนักถาวรหลังจากอยู่ในเยอรมนีเพียงสองปี
วีซ่าหางาน
วีซ่าสำหรับคนหางานเปิดหนทางใหม่ในการโยกย้ายแรงงานสู่ตลาดแรงงานโดยใช้กฎหมายสิทธิพำนัก วีซ่านี้ช่วยให้แรงงานฝีมือจากประเทศที่มิใช่สมาชิกอียูสามารถเข้ามาในเยอรมนีเป็นเวลาหกเดือนเพื่อหางานที่เหมาะสม
สำหรับวีซ่าหางานนี้ แรงงานต้องมีวุฒิปริญญาตรีและมีเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงดูตนเองในขณะที่ยังไม่มีงานทำ หากสามารถหางานทำได้ภายในหกเดือนก็จะสามารถพำนักในเยอรมนีและยื่นขอใบอนุญาตทำงานหรือ EU Blue Card ได้
ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับสูงของเยอรมัน
ได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขสำหรับคนต่างชาติที่สำเร็จการศึกษาในเยอรมนีอย่างมากเพื่อจะคัดสรรคนเหล่านี้เข้าสู่ตลาดแรงงานเยอรมัน ผู้มีคุณสมบัติสูงซึ่งเป็นผู้หางานครั้งแรกนี้สามารถพูดภาษาเยอรมันได้และมีปริญญาบัตรของเยอรมัน โดยหลายรายต้องการได้รับสิทธิพำนักเพื่อหางานที่เหมาะสมกับคุณวุฒิของตนในเยอรมนี เพื่อเพิ่มโอกาสในการหางานจึงได้มีการเพิ่มเวลาจาก 12 เดือนตามกฎหมายเดิมเป็น 18 เดือน เพื่อให้คนเหล่านี้ได้หางานทำและสามารถทำงานได้โดยไม่มีข้อจำกัดในช่วงเวลาดังกล่าว
ภายหลังจากที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับที่ได้จบการศึกษามาเป็นเวลาสองปี แรงงานเหล่านี้ก็สามารถพำนักในเยอรมนีได้เป็นการถาวร
คนหางาน (ครั้งแรก) ในประเภทอื่น
ชาวต่างชาติซึ่งฝึกงานหรือฝึกอบรมวิชาชีพอื่นๆ ในเยอรมนีแล้วเสร็จควรได้อยู่ทำงานในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันคนเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้อยู่หางานที่ตรงกับสาขาที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นเวลา 1 ปี โดยในช่วงดังกล่าวคนหางานเหล่านี้สามารถทำงานโดยไม่มีข้อจำกัดเพื่อหาเงินเลี้ยงตนเองได้
ผู้ประกอบอาชีพอิสระและประกอบธุรกิจส่วนตัว
เยอรมนีได้ปรับลดเงื่อนไขสำหรับชาวต่างชาติที่มีแนวคิดเริ่มต้นธุรกิจในเยอรมนีและสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ โดยได้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการพำนักในเยอรมนีซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อสิงหาคม 2555 เสนอสิ่งจูงใจให้ชาวต่างชาติที่จะลงทุนในเยอรมนีและให้โอกาสแก่รัฐต่าง ๆ ในการใช้ดุลพินิจประเมินโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ กฎหมายใหม่ได้ยกเลิกข้อกำหนดต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนขั้นต่ำและจำนวนงานที่จะสร้างขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งระเบียบที่ทำให้ชาวต่างชาติเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้พำนักในเยอรมนีได้ง่ายขึ้น
การเข้ามาทำงานของแรงงานไร้ฝีมือหรือฝีมือต่ำ
แรงงานไร้ฝีมือหรือฝีมือต่ำอาจอยู่ในเยอรมนีได้เป็นการชั่วคราว โดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นพำนักถาวร ส่วนใหญ่เป็นแรงงานตามฤดูกาลในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมบริการ-อาหาร (อยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนต่อปี) ซึ่งรวมพี่เลี้ยงเด็ก (au pairs) และผู้ช่วยแม่บ้านในครัวเรือนซึ่งมีผู้ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล
การเข้ามาทำงานของแรงงานฝีมือ
ครอบคลุมคุณสมบัติตั้งแต่การสำเร็จการฝึกอบรมวิชาชีพหรือคุณวุฒิที่เทียบเท่ากับการสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะได้รับอนุญาตให้พำนักเป็นการชั่วคราวหากไม่มีคุณสมบัติตามโครงการ EU Blue Card และหากยังคงทำงานอยู่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตชั่วคราวก็จะได้รับการต่อใบอนุญาต โดยภายหลัง 5 ปีจะได้รับอนุญาตให้พำนักเป็นการถาวร สำหรับบุคคลที่มีวุฒิปริญญาตรีเมื่อได้รับอนุญาตให้พำนักเป็นการชั่วคราวแล้วก็อาจนำไปสู่การได้รับอนุญาตให้พำนักเป็นการถาวรได้
ทั้งนี้ ไม่มีการระบุเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับแรงงานฝีมือเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องได้รับเงินเดือนเทียบเท่าคนเยอรมันที่มีทักษะเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น :
- แรงงานฝีมือที่มีวุฒิปริญญาตรีในทุกสาขา
- แรงงานฝีมือด้าน IT ที่มีวุฒิปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
- ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเยอรมนี (โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบว่ามีคนเยอรมันหรือคนจากอียูที่จะบรรจุตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่)
- นักวิจัยรับเชิญและเจ้าหน้าที่วิจัยที่มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยรวมถึงวิศวกรและเจ้าหน้าที่เทคนิคที่ทำงานในทีมวิจัย (โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบว่ามีคนเยอรมันหรือคนจากอียูที่จะบรรจุตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่)
- ผู้บริหาร (โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบว่ามีคนเยอรมันหรือคนจากอียูที่จะบรรจุตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่)
- ครูโรงเรียนรัฐและเอกชน (โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบว่ามีคนเยอรมันหรือคนจากอียูที่จะบรรจุตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่)
- นักกีฬาอาชีพและครูฝึก (โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบว่ามีคนเยอรมันหรือคนจากอียูที่จะบรรจุตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่)
- ศิลปิน นักข่าว
- พ่อครัว/แม่ครัวพิเศษ
- การจ้างงานที่มีข้อตกลงทวิภาคี เช่น แรงงานที่มีสัญญาและแรงงานที่ทำการฝึกอบรมอาชีพและภาษาเพิ่มเติม
- แรงงานฝีมืออื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
การเข้ามาทำงานของผู้มีคุณวุฒิสูง
ไม่มีคำจำกัดความทั่วไปสำหรับคำว่าแรงงานที่มีคุณวุฒิสูง แต่มักรวมผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยทุกคน Residence Act ได้นิยามคำจำกัดกฎหมายว่าด้วยแรงงานคุณวุฒิสูงว่าเป็นผู้ซึ่งหากพำนักอยู่ในเยอรมนีแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของเยอรมนีเป็นกรณีพิเศษ และเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้พำนักเป็นการถาวรเมื่อเดินทางถึงเยอรมนี
กฎหมายนี้มีมุ่งเน้นไปที่ผู้ซึ่งมีผลการศึกษาและการวิจัยระดับสูงซึ่งมีคุณวุฒิด้านวิชาชีพที่โดดเด่น ซึ่งได้แก่
นักวิจัยที่มีความรู้ด้านเทคนิคเฉพาะ
- ครูอาจารย์ที่มีตำแหน่งสูง เช่น ศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย
การย้ายเข้ามาอยู่ในเยอรมนีของคู่สมรสและบุตรของนักวิชาชีพต่างชาติ
นักวิชาชีพต่างชาติที่ถือใบอนุญาตให้มีถิ่นพำนักเพื่อการทำงานซึ่งประสงค์จะอยู่ในเยอรมนีนานกว่าหนึ่งปีอาจให้คู่สมรสตามเข้ามาอยู่ในเยอรมนีได้ อย่างไรก็ตาม คู่สมรสต้องมีความสามารถด้านภาษาเยอรมันที่เพียงพอ โดยมีข้อยกเว้นสำหรับคู่สมรสที่มีปริญญาบัตร คู่สมรสของผู้ที่มีคุณวุฒิสูงหรือคู่สมรสของผู้ถือบัตร EU Blue Card และพลเมืองของบางประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
บุคคลที่แต่งงานภายหลังเดินทางเข้ามาในเยอรมนีอาจให้คู่สมรสตามมาอยู่ด้วยได้ภายหลังจากที่ทำงานในเยอรมนีอย่างน้อยที่สุดสองปี แต่มีข้อยกเว้นสำหรับแรงงานที่มีคุณวุฒิสูงและผู้ถือบัตร EU Blue Card
บุตรมักได้รับอนุญาตให้ติดตามบิดามารดาที่เป็นต่างด้าวเข้ามาอยู่ในเยอรมนี โดยมีกฎพิเศษที่ใช้กับการติดตามมาพำนักของบุตรของต่างด้าว (ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุและความสามารถที่จะบูรณาการสู่สังคมเยอรมัน และมีคู่สมรสของต่างด้าวนั้นดูแลด้วยหรือไม่)
การเข้าถึงตลาดแรงงานสำหรับคู่สมรสขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ใช้กับต่างด้าวที่เข้ามาอาศัยอยู่ในอียูแล้ว : คู่สมรสของผู้ที่มีคุณวุฒิสูงสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้โดยไม่มีข้อจำกัดในทันที ในขณะที่คู่สมรสของแรงงานที่ได้รับสิทธิพิเศษน้อยกว่าก็จะได้รับสิทธิในการเข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยกว่า โดยปกติจะมีข้อจำกัดในช่วงสองปีแรกของการทำงาน แต่มีเงื่อนไขพิเศษสำหรับคู่สมรสของนักวิจัย ผู้บริหาร และผู้ถือบัตร EU Blue Card ชาวต่างชาติ : โดยคนเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ต้องมีการตรวจสอบว่ามีคนเยอรมันหรืออียูที่สามารถทำงานในตำแหน่งที่คู่สมรสนั้นจะทำงานหรือไม่
ที่มา : Federal Ministry of Interior http://www.bmi.bund.de/EN/Topics/Migration-Integration/Immigration/labour-migration/labour-migration_node.html
——————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
6 กุมภาพันธ์ 2557