ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 22/2557
ท่าทีของพรรคการเมืองเยอรมนีต่อการเข้ามาทำงานอย่างเสรีในสหภาพยุโรป
ของแรงงานบัลแกเรียและโรมาเนีย
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 แรงงานจากประเทศบัลแกเรียและโรมาเนียซึ่งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปมาตั้งแต่ปี 2550 สามารถเข้ามาหางานในสหภาพยุโรปได้อย่างเสรี ทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะมีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาขอรับค่าสวัสดิการในประเทศที่ร่ำรวยกว่า ซึ่งก่อนหน้านี้นักการเมืองเยอรมันได้ถกเถียงกันอย่างมากถึงการป้องกันมิให้คนที่จะมีโอกาสในการทำงานน้อยจากสองประเทศดังกล่าวเดินทางเข้ามาในสหพันธ์ฯ ก่อนการยกเลิกข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในสหภาพยุโรป
พรรคพันธมิตรจากรัฐบาวาเรียของนายกรัฐมนตรี Angela Merkel มีท่าทีต่อเรื่องนี้ด้วยการยื่นข้อเสนอให้มีกฎหมายด้านสวัสดิการสังคมที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองฝั่ง Social Democrat (SPD) ซึ่งร่วมเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรค Christian Social Union (CSU) ซึ่งเป็นพรรคพี่น้องกับพรรค Christian Democrats (CDU) ของนาง Merkel ได้กำหนดที่จะหารือในเดือนมกราคมเพื่อจำกัดการจ่ายเงินสวัสดิการทั้งหมดในช่วงสามเดือนแรกแก่ผู้อพยพที่เดินทางถึงเยอรมนี และพิจารณาบทลงโทษที่หนักกว่าเดิมกรณีที่มีการหลอกลวงซึ่งรวมถึงการเนรเทศและปฏิเสธมิให้กลับเข้ามาในเยอรมนีอีก
“คนขี้โกงต้องออกไป” ถือเป็นสโลแกนหนึ่งของพรรค CSU แต่สมาชิกของ พรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกลับประณามว่าข้อเสนอเหล่านี้เป็นเรื่องประชานิยมที่อันตรายมาก ทั้งนี้ นาย Michael Hartmann รองประธานพรรค SPD ได้ให้สัมภาษณ์ต่อหนังสือพิมพ์ Tagesspiegel ว่าหากทำตามข้อเสนอก็เท่ากับยอมให้ฝ่ายขวาสุดโต่งมีบทบาทจนเกินไป และนาง Aydan Ozoguz รองหัวหน้าพรรค SPD ได้กล่าวเตือนมิให้ CSU ชักนำสังคมให้ต่อต้านคนยากจนด้วยหลักการที่ผิดๆ และกล่าวว่าผู้ที่คิดว่าชาวบัลแกเรียและโรมาเนียทุกคนเป็นคนจนที่รอต่อแถวเข้าเยอรมนีเพื่อขอรับผลประโยชน์นั้นมิได้ตระหนักเลยว่าคนที่เข้ามาทำงานจำนวนมากต่างเป็นผู้มีคุณวุฒิสูง เช่น หมอ หรือพยาบาล เป็นต้น
สถาบันวิจัยของสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ ได้ประมาณการว่าจะมีคนบัลแกเรียและโรมาเนียเข้ามาในเยอรมนีเพิ่มขึ้นจากจำนวน 370,000 คนในปัจจุบัน เป็นประมาณ 470,000 ถึง 550,000 คน และมีผู้ที่อยู่ในเยอรมนีแล้วประมาณ 10 เปอร์เซนต์ที่ได้รับเงินช่วยเหลือเมื่อต้องว่างงานระยะยาว ซึ่งมากกว่าประชากรโดยรวมที่มีเพียง 7.5 เปอร์เซนต์แต่ก็ยังน้อยกว่าคนต่างชาติในประเทศทั้งหมดที่มีถึง 15 เปอร์เซนต์
อย่างไรก็ตาม นาย Frank-Walter Steinmeier รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากพรรค SPD ได้ให้สัมภาษณ์กับ Süddeutsche Zeitung โดยแสดงท่าทีปกป้องเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและทำงานในสหภาพยุโรป พร้อมกล่าวว่าหากผู้ใดมีข้อสงสัยในเรื่องนี้ก็เท่ากับทำลายยุโรปและเยอรมนีเช่นกัน และยังได้กล่าวต่ออีกว่า เสรีภาพของคนยุโรปเป็นแนวคิดหลักของสหภาพยุโรป การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีมีความสำคัญต่อการที่จะบูรณาการยุโรปเข้าด้วยกัน และเยอรมนีเองก็ได้รับประโยชน์อย่างมากซึ่งถือได้ว่ามากกว่าประเทศอื่น และขณะนี้การเข้ามาศึกษาและทำงานในเยอรมนีของคนหนุ่มสาวจำนวนมากจากยุโรปใต้นับว่าเป็นประโยชน์ต่อเยอรมนีและเป็นการช่วยเหลือประเทศต้นทางของคนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
นาย Michael Roth รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านกิจการสหภาพยุโรปได้วิพากษ์วิจารณ์พรรค CSU ว่ายังไม่เข้าใจสหภาพยุโรปและไม่ต้องการที่จะทำความเข้าใจด้วย รวมทั้งกล่าวหาพรรค CSU ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลว่ามีสโลแกนที่ไม่ฉลาดนักและไม่สมกับที่พรรคพันธมิตรใหญ่ขนาดนี้จะต้องเข้ามาดำเนินการ
เยอรมนีเป็นประเทศที่มีกำลังเศรษฐกิจสูงสุดในยุโรปแต่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนกำลังแรงงานฝีมือ โดยเฉพาะในภูมิภาคที่มั่งคั่งทางตอนใต้รวมถึงรัฐบาวาเรีย
ที่มา: เรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์ The Local ตีพิมพ์ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2556 และ 2 มกราคม 2557
——————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
27 มกราคม 2557