Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : สถานการณ์แรงงานในเยอรมนีจะเป็นเช่นไร เมื่อแรงงานจากโรมาเนียและบัลแกเรียสามารถเข้าไปทำงานได้อย่างเสรี

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 24/2557 

สถานการณ์แรงงานในเยอรมนีจะเป็นเช่นไร
เมื่อแรงงานจากโรมาเนียและบัลแกเรียสามารถเข้าไปทำงานได้อย่างเสรี

โดยหลักการแล้วแรงงานทุกคนใน EU มีสิทธิที่จะหางานทำในประเทศสมาชิก EU อื่น ทำงานได้โดยไม่ต้องใช้ใบอนุญาตทำงาน และสามารถอาศัยอยู่ในประเทศที่ตนทำงานต่อไปได้แม้หลังสิ้นสุดการทำงาน รวมทั้งได้รับการปฏิบัติเช่นคนชาติในเรื่องของการทำงาน สภาพการทำงาน และประโยชน์ทางสังคมและภาษีฯ

EU ได้จัดทำ Transitional Arrangements กับแรงงานจากบัลแกเรียและโรมาเนียเพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีทีละน้อยและเป็นขั้นตอน โดยได้มีการตกลงกันใน Accession Treaty of  Bulgaria and Romania ซึ่งจะอนุญาตให้ประเทศสมาชิกจำกัดสิทธิของแรงงานจากบัลแกเรียและโรมาเนียได้เป็นการชั่วคราว โดยแบ่งเป็นช่วงเวลา  2+3+2 ปี และประเทศสมาชิก EU อาจกำหนดข้อสงวนในการเข้าสู่ตลาดแรงงานหรืออาจเปิดตลาดแรงงานในระยะใดก็ได้แต่ข้อสงวนจะต้องหมดสิ้นไปเมื่อสิ้นระยะเวลา 7 ปี

ภายหลังจากที่บัลแกเรียและโรมาเนียได้เข้าร่วม  EU  ในวันที่ 1 มกราคม 2550 ประชาชนจากทั้งสองประเทศต่างมีสิทธิที่จะเดินทางเข้าออกสหภาพยุโรปโดยไม่ต้องใช้วีซ่า แต่ยังไม่สามารถเข้าไปทำงานอย่างเสรีได้ทุกประเทศใน EU เนื่องจากบางประเทศยังกำหนดข้อสงวนสำหรับแรงงานจากสองประเทศนี้อยู่ เช่น ออสเตรีย เบลเยียม อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ลักเซมเบิร์ก มอลตา เนเธอร์แลนด์ และสเปน แต่ข้อสงวนดังกล่าวได้สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557

ในช่วงปีที่ผ่านมาเยอรมนีเคยมีข้อกังวลว่าจะดำเนินการเพื่อรับมือกับผู้อพยพจากบัลแกเรียและโรมาเนียอย่างไรหากข้อสงวนที่เคยสกัดกั้นคนจากสองประเทศที่ยากจนที่สุดใน EU มิให้หางานในประเทศสมาชิกที่มั่งคั่งสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มกราคม 2557 และจุดประกายความกลัวว่าจะมีคนจำนวนมหาศาลจากทั้งสองประเทศเดินทางเข้ามาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลจัดให้กับแรงงานที่ทำงานในเยอรมนี

เมื่อ EU ได้รวมประเทศจากยุโรปตะวันออกเข้าเป็นสมาชิกในปี 2547 ปรากฏว่ามีผู้คนอพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอังฤษจำนวนหลายแสนคน ดังนั้นในหลายสัปดาห์ก่อนสิ้นปี 2556 รัฐบาลอังกฤษจึงได้เร่งออกมาตรการเพื่อจำกัดมิให้ผู้ย้ายเข้ามาใหม่จาก EU ยื่นขอรับความช่วยเหลือกรณีว่างงานในลักษณะของ  “benefit tourism” ซึ่งมาตรการนี้ได้กำหนดให้ผู้ย้ายเข้ามาใหม่ต้องรอเป็นเวลาสามเดือนก่อนจะยื่นขอรับเงินช่วยเหลือเมื่อออกจากงาน (out-of-work payments) และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ

เยอรมนีซึ่งมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงห้าเท่าของโรมาเนียและบัลแกเรียกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร และได้มีการตรวจสอบมาตรการความเป็นไปได้เพื่อทำให้การละเมิดที่เกี่ยวกับการขอรับสิทธิประโยชน์กระทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันที่เข้มงวดขึ้นมิให้มีผู้แสวงหาประโยชน์จากระบบสวัสดิการที่ดียิ่งของเยอรมนี 

ประเด็นการอพยพเข้ามาของคนจากยุโรปตะวันออกนับเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความอ่อนไหวสูงสำหรับอังกฤษซึ่งเมื่อรัฐบาลจากพรรคแรงงานมีอำนาจในช่วงที่ EU ขยายไปยังยุโรปตะวันออกในปี 2547 นั้นได้มีการคาดการณ์จำนวนผู้เข้ามาใหม่ในประเทศต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมหาศาลและผู้เกี่ยวข้องต่างยอมรับว่าควรที่จะดำเนินการให้มากกว่านั้นเพื่อจำกัดการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงานต่างด้าว ทั้งนี้ นาย Nigel Mills สมาชิกสภานิติบัญญัติจากพรรคอนุรักษ์นิยมของนาย David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษได้กล่าวต่อ AFP ว่า “เรามีประสบการณ์ที่ยากลำบากเมื่อมีแปดประเทศเข้าร่วมในทศวรรษที่ผ่านมา เพราะอังกฤษคาดการณ์ว่าจะมีคนเข้ามาประมาณ 13,000 คน แต่กลับกลายเป็นว่ามีคนนับล้านเข้ามาซึ่งค่อนข้างจะเป็นความหายนะ”

เช่นเดียวกับอังกฤษ ความรุ่งเรืองของเยอรมนีดึงดูดผู้คนจากโรมาเนียและบัลแกเรียให้เข้ามาทำงาน ทั้งนี้ จากข้อมูลทางเศรษฐกิจของธนาคารโลกปี 2557 ระบุว่าค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนอายุ 19 ปีที่เยอรมนีจะเท่ากับ $1,140 ดอลลาร์ต่อเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับ $232 ดอลลาร์ในโรมาเนีย และ $208 ดอลลาร์ในบัลแกเรีย นอกจากนั้น เยอรมนียังมีระบบสวัสดิการที่เอื้อเฟื้อทำให้ครอบครัวที่มีบุตรซึ่งพำนักในเยอรมนีอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีสิทธิที่จะยื่นขอรับสิทธิประโยชน์จากรัฐได้

แต่นาย Victor Ponta นายกรัฐมนตรีโรมาเนีย และนาย Plamen Oresharski นายกรัฐมนตรีบัลแกเรียได้กล่าวย้ำเมื่อเดือนธันวาคม 2556 ว่าจะไม่มีผู้คนจำนวนมากหลั่งไหลออกจากทั้งสองประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2557 อย่างแน่นอน อีกทั้งนาย Rosen Plevneliev ประธานาธิบดีบัลแกเรียยังได้กล่าวเมื่อวันนิวเยียร์อีฟว่า “คนบัลแกเรียอยากทำงานที่มีคุณค่าที่บ้านมากกว่าจะซื้อตั๋วเที่ยวเดียวและเดินทางออกจากประเทศ”

ส่วนนาย Martin Wansleben ผู้อำนวยการสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเยอรมนีได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “Neue Osnabruecker Zeitung” ว่าเยอรมนีกำลังมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ และเพื่อให้เยอรมนียังดำรงความเจริญเติบโตและประกันว่าประเทศจะมีระบบทางสังคมที่ดีต่อไป เยอรมนีจึงมีความต้องการแรงงานต่างด้าวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างน้อยที่สุด 1.5 ล้านคนสำหรับปีที่กำลังจะมาถึงนี้ และจำเป็นต้องปรับปรุงเรื่องการรับคนเข้าเมืองอย่างต่อเนื่อง

จนถึงขณะนี้ยังไม่เกิดปรากฏการณ์ผู้อพยพจากทั้งสองประเทศหลั่งไหลเข้ามาในเยอรมนี ซึ่งโฆษกสถานเอกอัครราชทูตโรมาเนียกล่าวว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีคนโรมาเนียเพิ่มขึ้นในเยอรมนีและไม่คาดว่าจะมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น เพราะในเดือนมกราคม 2557 ฝ่ายกงสุลไม่ได้ทำงานหนักเพราะเหตุคนโรมาเนียที่ประสบปัญหามาขอรับความช่วยเหลือแต่อย่างไร และปริมาณงานนั้นไม่มีความแตกต่างมากนักจากเดือนมกราคมของปี 2556  นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูตบัลแกเรียในกรุงเบอร์ลินได้แจ้งว่ายังไม่อาจกล่าวได้ว่ามีงานเพิ่มขึ้นมากในเดือนมกราคม 2557

ทั้งนี้ ยังต้องรอการเผยแพร่ตัวเลขของผู้เข้าเมืองจากบัลแกเรียและโรมาเนียตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 อย่างเป็นทางการต่อไป แต่จากสถิติสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ แจ้งว่ามีคนบัลแกเรียและโรมาเนียยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานในเดือนกันยายน 2556 เพิ่มขึ้น 48 เปอร์เซนต์เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน แต่ในภาพรวมยอดดังกล่าวเป็นเพียง 0.7 เปอร์เซนต์ของผู้ยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน Hartz IV (unemployment benefits)

สำหรับในไตรมาสที่สามของปี 2556 พบว่าจำนวนสุทธิของคนบัลแกเรียในเยอรมนีเพิ่มขึ้น 7,250 คน ในขณะที่คนโรมาเนียเพิ่มขึ้น 12,600 คน และจากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2555 แสดงให้เห็นว่าผู้อพยพจากโรมาเนียและบัลแกเรียมีการศึกษาดีกว่าคนเยอรมัน กล่าวคือ 19 เปอร์เซนต์เป็นผู้มีปริญญาบัตรในขณะที่คนเยอรมันมีเพียง 14 เปอร์เซนต์

โดยสรุปแล้วขณะนี้ยังเป็นการเร็วเกินไปที่จะประเมินผลกระทบของการยกเลิกข้อสงวนซึ่งจำกัดการเข้ามาทำงานในเยอรมนีของแรงงานโรมาเนียและบัลแกเรีย อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังคงเห็นภาพการหลั่งไหลเข้ามาทำงานของผู้คนจากทั้งสองประเทศได้ไม่มากนัก โดยคาดว่าในระยะยาวน่าจะมี   ความชัดเจนในเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งฝ่ายแรงงาน ณ กรุงเบอร์ลินจะติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าและรายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป

ที่มา: เรียบเรียงจาก

  • http://www.neurope.eu/article/commission-approves-spanish-request-extend-restrictions-romanian-workers, 05 Jul 2013
  • europa.eu/rapid/press-release_IP-12-1440_en.htm, 21 Dec 2012
  • IZA Research Report No. 49, Skilled Labor Flows: Lessons from the European Union, Martin Kahanec (CEU, IZA and CELSI) DEC, 2012
  • http://www.euractiv.com/future-eu/spain-obtains-safeguard-romanian-news-506979,  30 Aug 2011
  • หนังสือพิมพ์ The Local ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2557 และ 11 กุมภาพันธ์ 2557

———————————————-

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
26  กุมภาพันธ์  2557

 

 


431
TOP