ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 25/2557
หากมีนักศึกษามากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี
นาย Eric Schweitzer ประธานสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเยอรมนี (Association of German Chambers of Commerce and Industry : DIHK) กล่าวเตือนว่า การที่มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากศึกษาในมหาวิทยาลัยแต่มีผู้ฝึกงานจำนวนน้อยมากเกินไปนั้นจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้กล่าวถึงกรณีที่มีคนหนุ่มสาวเยอรมันเข้ารับการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นระยะเวลานานหลายปีจนเป็นผลให้มหาวิทยาลัยต้องขยายห้องเรียน ในขณะที่บริษัทต่าง ๆ กลับมีความต้องการผู้ฝึกงานเป็นอย่างมาก ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรงในอีกสองสามปีข้างหน้า และจะไม่มีคนสามารถเข้าทำงานในตำแหน่งที่ว่างซึ่งต้องการผู้ที่มีทักษะเป็นการเฉพาะ
ระหว่างปี 2555 ถึง 2556 พบว่าผู้สำเร็จการฝึกอบรมภาคปฏิบัติมีจำนวนลดลงจาก 330,000 คน เหลือ 315,000 คน – ลดลง 4.5 เปอร์เซนต์ และในปี 2556 มีผู้เริ่มเข้ารับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยถึง 500,000 คน โดยในปี 2548 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายรัฐได้ยกเลิกค่าธรรมเนียมการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยจนทำให้เหลือค่าใช้จ่ายเพียงภาคการศึกษาละสองถึงสามร้อยยูโรนั้นทำให้มีผู้เข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยถึง 360,000 คน
แม้จะมีผู้จบการศึกษาจำนวนมากแต่นาย Schweitzer กลับมีความเห็นว่าการศึกษามิได้เป็นหลักประกันที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศรุ่งเรืองและทำให้หนุ่มสาวมีอัตราการว่างงานต่ำ ดังจะเห็นได้จากวิกฤตในยุโรปใต้ และแม้นาย Schweitzer จะมีความเห็นว่าคนหนุ่มสาวทุกคนควรสามารถพัฒนาความสามารถพิเศษและฝีมือได้อย่างเสรี แต่มิได้หมายความว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทุกคนจะเหมาะต่อการเข้ารับการศึกษาต่อ นอกจากนั้น นาย Schweitzer ยังแสดงความกังวลต่อการที่มีผู้ออกจากการศึกษาระดับสูงจำนวนมากว่าจะเป็นผลเสียต่อโอกาสในตลาดแรงงานของคนหนุ่มสาว
จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งสหพันธ์ฯ พบว่ามีนักศึกษาเพียง 40 เปอร์เซนต์ที่สำเร็จการศึกษาภายในเวลาที่กำหนด – กล่าวคือ 3 ปีสำหรับปริญญาตรีและสองปีสำหรับปริญญาโท โดยสาขาที่มีนักศึกษาใช้เวลาเรียนนานเกินแผนที่กำหนดไว้มากที่สุดคือ สาขาภาษาและวรรณคดีเยอรมันซึ่งมีถึง 68 เปอร์เซนต์ รองลงไปคือสาขา Evangelical theology (วิชาว่าด้วยศาสนาคริสต์นิกายโปรแตสแตนท์) 65 เปอร์เซนต์ และอีกเกือบ 60 เปอร์เซนต์คือสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ปรัชญา และประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาที่นักศึกษาใช้เวลาเรียนนานหลายปี แต่สำหรับสาขาที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการพบว่านักศึกษาเกือบทุกคนต่างเรียนจบภายในเวลาที่กำหนดซึ่งได้แก่ แพทยศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ทั้งนี้มีนักศึกษาประมาณ 25 เปอร์เซนต์ซึ่งเริ่มเรียนในระดับปริญญาตรีแต่ไม่จบหลักสูตร เนื่องจากไม่ตรงกับที่คาดหวังไว้
ที่มา: แปลจากหนังสือพิมพ์ The Local ฉบับวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2557
——————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
27 กุมภาพันธ์ 2557