Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : การจ้างแรงงานชั่วคราวแบบประจำ

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 29/2557


เยอรมนี : การจ้างแรงงานชั่วคราวแบบประจำ

ในเยอรมนี มีหลายบริษัทได้ใช้วิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวผ่านเอเจนซี่ที่ให้บริการแทนการจ้างลูกจ้างโดยตรง ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานกับเอเจนซี่เหล่านี้จะได้รับมอบหมายให้ไปทำงานตามบริษัทต่าง ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายการเมืองและได้รับความสนใจจากกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก

เหตุผลที่หลายฝ่ายมีความกังวลเป็นเพราะบางบริษัทใช้ประโยชน์โดยการจ้างลูกจ้างชั่วคราวเป็นการถาวรเพื่อทดแทนกำลังแรงงานปกติ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่จ้างลูกจ้างชั่วคราวให้ไปทำงานอาจไม่เห็นด้วยกับเอเจนซี่และลูกจ้างชั่วคราวในเรื่องของการจ้างเป็นการชั่วคราว จึงอาจใช้วิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราวให้ทำงานประจำในแผนกต้อนรับหรือแผนกไอที เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรับพนักงานประจำของบริษัท อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยงานชั่วคราวแล้ว บริษัทเหล่านี้อาจต้องเผชิญความเสี่ยงกับการที่อาจต้องถือว่าแรงงานชั่วคราวที่ว่าจ้างนั้นได้กลายเป็นพนักงานประจำของทางบริษัทในที่สุด

ในปี 2554 รัฐสภาเยอรมันได้แก้ไขกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้องกับแรงงานชั่วคราว—กฎหมายเยอรมันว่าด้วยแรงงานชั่วคราว (German Act on Temp Workers : AÜG) โดย AÜG กำหนดให้การจ้างแรงงานชั่วคราวจะต้องเป็นการจ้างอย่างชั่วคราว และเพื่อให้เป็นการจ้างงานอย่างชั่วคราวตามกฎหมายฉบับนี้ จึงจำเป็นต้องมีการตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างงานที่ชัดเจน เช่น กำหนดระยะเวลาจ้างงานนานสิบสองเดือน เป็นต้น แต่ถึงกระนั้น AÜG ก็มิได้ระบุแน่ชัดว่าจะกำหนดกันอย่างไร หรือจะมีผลเช่นไรต่อนายจ้าง ลูกจ้างที่ถูกจ้างให้ทำงานชั่วคราว และลูกจ้างชั่วคราวแต่ต้องทำงานประจำ

ศาลแรงงานชั้นอุทธรณ์ (Higher Labour Courts) บางแห่ง เช่น Higher Labour Court Baden-Württemberg ได้มีคำพิพากษาให้แรงงานชั่วคราวที่ได้รับมอบหมายให้ไปทำงานชั่วคราวอย่างถาวรกลายเป็นลูกจ้างของบริษัทที่เอเจนซี่ส่งลูกจ้างนั้นไปทำงาน โดยศาลวินิจฉัยว่า เจตนารมณ์ของ AÜG มีเพียงเพื่อให้มีการจ้างแรงงานชั่วคราวเป็นการชั่วคราวเท่านั้น และการมอบหมายให้ลูกจ้างชั่วคราวทำงานซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมายจะส่งผลให้ลูกจ้างชั่วคราวได้เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทที่ลูกจ้างชั่วคราวได้รับมอบหมายให้ไปทำงาน

อย่างไรก็ตาม ศาล Higher Labour Courts บางแห่ง เช่น Higher Labour Courts Berlin-Brandenburg ไม่ยอมรับความเห็นดังกล่าว โดยสรุปว่าการบังคับไม่ให้ละเมิดกฎหมายอย่างรุนแรงเช่นนั้นไม่ได้เกิดจากการฝ่าฝืน AÜG

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 ศาลแรงงานแห่งสหพันธ์ฯ (คดีหมายเลข  9 AZR 51/13) ได้มีคำตัดสินในกรณีที่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ลูกจ้างที่ได้รับการว่าจ้างให้ไปทำงานเป็นการชั่วคราวมิได้ทำงานให้กับนายจ้างที่จ้างไปทำงานเพียง “ชั่วคราว” ตามที่กฎหมายกำหนด ก็มิได้เป็นผลให้เกิดสัญญาจ้างงานระหว่างลูกจ้างที่จ้างงานชั่วคราวและนายจ้างที่จ้างงานชั่วคราวขึ้นโดยศาลให้เหตุผลว่า กฎหมายการจ้างลูกจ้างชั่วคราวนั้น มิได้กำหนดบทลงโทษในกรณีดังกล่าวเอาไว้ ศาลจึงไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้เกิดสัญญาจ้างงานถาวรโดยสมมุติได้ ตามคำตัดสินดังกล่าว จึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งในระดับอียูและในส่วนของประเทศเยอรมนีเองที่จะออกกฎหมายมาจัดการกับกรณีนี้

จากการพิพากษาคดีดังกล่าว ศาลแรงงานแห่งสหพันธ์ฯ จึงได้สร้างความชัดเจนและความมั่นใจให้กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานชั่วคราว ว่าภายใต้กฎหมาย AÜG ในขณะนี้ บริษัทที่มอบหมายให้ลูกจ้างชั่วคราวทำงานประจำ จะไม่กลายเป็นนายจ้างของลูกจ้างประจำ แต่เนื่องจากรัฐบาลใหม่แห่งสหพันธ์ฯ ได้ประกาศแล้วว่าประสงค์ที่จะปรับปรุง AÜG โดยจะอนุญาตให้ทำงานชั่วคราวได้เพียง 18 เดือนเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าจะเป็นทางออกในการป้องกันการละเมิดกฎหมายดังกล่าว

ที่มา: ตีพิมพ์ ณ 8 มกราคม 2557 โดย Lutz Hoheisel

——————————–

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
12 มีนาคม 2557


362
TOP