ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 38 /2557
ระบบสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน: ผู้ว่างงานต่างชาติในเยอรมนี
เยอรมนีได้ใช้ระบบสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคมหรือที่เรียกว่า Hartz IV มาตั้งแต่ปี 2548 และในเวลาต่อมา Hartz IV ได้เป็นส่วนสำคัญของ Agenda 2010 ซึ่งถือเป็นการปฏิรูปทางสังคมครั้งใหญ่ที่สุดภายหลังเสร็จสิ้นสงครามของเยอรมนี โดยมีมาตรการเพื่อเปลี่ยนแปลงการจัดการต่างๆ ของรัฐบาลทั้งในด้านการศึกษาการประกันสุขภาพ ระบบเงินบำนาญ นโยบายครอบครัวและตลาดงาน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของประเทศ
เยอรมนีได้ทำการปฏิรูป Hartz ระหว่างปี 2546-2548 โดยแบ่งกฎหมายเป็น 4 ส่วน หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า กฎหมายเพื่อการปฏิรูปตลาดแรงงาน ซึ่งได้แก่ Hartz I – Hartz IV โดย Hartz I มุ่งเน้นให้การจ้างงานระยะสั้นมีความน่าสนใจและเป็นที่ยอมรับของสังคมมากยิ่งขึ้น Hartz II ได้นิยามระเบียบว่าด้วยสิทธิประโยชน์เมื่อว่างงานเสียใหม่ โดยเฉพาะในเรื่องรายได้ที่แรงงานควรได้รับในขณะที่ยังขอรับสิทธิประโยชน์ จัดตั้งสำนักงานสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานหรือศูนย์จัดหางานที่เรียกว่า Job Centers และคิดค้นคำว่า Minijob ขึ้นมาเพื่อใช้กับแรงงานที่ทำงานพาร์ทไทม์ และ Hartz III ได้ปรับระบบราชการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับระบบสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานและเปลี่ยนชื่อหน่วยงานด้านแรงงานของสหพันธ์ฯ โดยเน้นให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสำหรับคนว่างงานที่จะหางานทำ
ส่วน Hartz IV นับเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ เพราะได้รวมเบี้ยเลี้ยงสวัสดิการสังคมทั้งหมดเข้าด้วยกัน –นับตั้งแต่สิ่งจำเป็นในแต่ละวัน ไปจนถึงหนังสือเรียนและเสื้อผ้า ซึ่งทั้งหมดต้องยื่นขอแยกกัน ในอัตราเดียวกันในชื่อ Unemployment Benefit II โดยผู้ว่างงานจะได้รับภายหลังจากได้รับเบี้ยเลี้ยงสวัสดิการสังคม Unemployment Benefit I ซึ่งเป็นเบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้ว่างงานที่คำนวณจากรายได้ก่อนหน้าและจะจ่ายให้เฉพาะระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น อัตราเบี้ยเลี้ยงที่กำหนดคือค่ากลางที่ได้ทดสอบแล้วและจำนวนที่จะได้รับขึ้นอยู่กับสถานภาพการสมรส ฐานะส่วนบุคคล และสภาพบ้านพัก โดยอัตราพื้นฐานรายเดือนสำหรับคนโสดและผู้ต้องเลี้ยงดูบุตรเพียงลำพังคือ 374 ยูโร
เจตนารมณ์หลักของ Hartz IV คือ การทำให้ผู้ว่างงานกลับไปทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานชั่วคราว งานพาร์ทไทม์ หรืองานเต็มเวลาก็ตาม และจำกัดระยะเวลาการได้รับเงินช่วยเหลือ นอกจากนั้น Hartz IV ยังกำหนดสิทธิประโยชน์เฉพาะสำหรับบุตรของผู้ว่างงานด้วย ซึ่งลดลงจากที่เคยให้แต่เดิมอย่างมาก
แนวทางการปฏิรูป Hartz IV ในอนาคต
เยอรมนีมีแผนที่จะปฏิรูป Hartz IV ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2558 เพื่อให้มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้น การปฏิรูปดังกล่าวจะรวมถึงการงดจ่ายเงิน Hartz IV แก่ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ซึ่งผิดนัดหรือไม่ได้ลงทะเบียนกับศูนย์หางานหรือ Job Centers รวมถึงงดการสนับสนุนแก่ผู้ขอรับสิทธิที่นำเงินซึ่งได้รับเพื่อเป็นค่าเช่าบ้านไปใช้จ่ายในเรื่องอื่น และต่อไปในอนาคตผู้ที่รับเงิน Hartz IV ก็จะต้องยื่นขอการสนับสนุนทางการเงินทุก 12 เดือนแทนที่จะเป็นทุก 6 เดือน หากผู้ที่รับเงิน Hartz IV ย้ายไปเช่าแฟลตที่แพงขึ้นแต่ไม่กว้างกว่าแฟลตที่เคยเช่าเดิม รัฐจะจ่ายค่าเช่าในอัตราเก่า และสำหรับการจ่ายเงินผิดพลาดให้แก่ผู้รับสิทธิประโยชน์ที่ถึงแก่กรรมแล้วก็จะต้องโอนเงินคืนให้หน่วยจัดหางานเช่นเดียวกัน
Hartz IV และผู้ว่างงานต่างชาติ
ผู้ว่างงานต่างชาติในเยอรมนีมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 541,000 คน โดยรวมถึงคนจากประเทศในอียูกว่า 400,000 คน ซึ่งขัดแย้งกับร่างข้อเสนอของรัฐบาลเยอรมนีที่จะดันผลักแรงงานอพยพจากอียูออกไป แม้ว่าแรงงานเหล่านี้จะมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายและการทำงานก็ตาม
ก่อนหน้านี้ได้มีการหารือถึงสิทธิในการพำนักในกรณีที่คนต่างชาติจากประเทศในอียูเข้ามาหางานทำแต่ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก อย่างไรก็ตามมีผู้มองว่าข้อเสนอของเยอรมนีที่จะผลักคนต่างด้าวว่างงานจากประเทศอียูออกไปนั้นไม่เป็นผล เพราะมีจำนวนคนเหล่านี้เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เปอร์เซนต์ในหนึ่งปีจนบัดนี้อยู่ที่ 15.4 เปอร์เซนต์ และจากสถิติของสำนักแรงงานแห่งสหพันธ์ฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2557 ระบุว่ามีชาวโปแลนด์ว่างงานในเยอรมนี 36,000 คน ชาวอิตาลี 35,000 คน และชาวกรีก 19,700 คน
นอกจากนั้นยังมีชาวบัลแกเรีย 10,000 คน ชาวโรมาเนีย 11,000 คนที่จดทะเบียนเป็นผู้ว่างงานในเยอรมนี และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่ยกเลิกข้อจำกัดสำหรับคนจากบัลแกเรียและโรมาเนียจะเห็นได้ว่าผู้ว่างงานจากทั้งสองประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงที่สุด แต่อย่างไรก็ตามคิดเป็นเพียงสี่เปอร์เซนต์ของต่างด้าวว่างงานทั้งหมดในเยอรมนี
แม้ปัจจุบันเยอรมนีจะยังคงสามารถจัดการจำนวนต่างด้าวจากโรมาเนียและบัลแกเรียได้ แต่ประเด็นนี้ก็ยังเป็นข้อกังวลของภูมิภาค ซึ่ง นาย Thomas de Maizière รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเมื่อตอนเปิดเผยข้อเสนอดังกล่าวว่า การดำเนินในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องเพื่อมิให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ จากสถิติของสำนักงานแรงงานระบุว่า นอกจากชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนว่างงาน 541,000 คนแล้ว ยังมีคนอีก 945,000 คนที่กำลังหางานทำ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคนยุโรป 700,000 คน
เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดในเบลเยี่ยม ซึ่งแม้จะไม่ส่งคนอียูที่เป็นผู้หางานและได้รับเงินช่วยเหลือระยะยาวขึ้นเครื่องบินกลับประเทศแต่คนเหล่านี้จะไม่ได้รับเงินช่วยด้านการศึกษาหรือสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและไม่ได้รับอนุญาตให้เซ็นสัญญาเช่าบ้าน ทั้งนี้ กฎหมายอียูระบุว่า พลเมืองจากประเทศสมาชิกใดๆ สามารถเคลื่อนย้ายอย่างเสรีในพื้นที่ประเทศเชงเกน 26 ประเทศแต่ไม่สามารถอาศัยในประเทศใดประเทศหนึ่งเกินสามเดือนหากไม่สามารถหางานทำ ไม่ได้ศึกษา หรือไม่ได้มีเงินเพียงพอที่จะไม่เป็นภาระต่อรัฐที่ไปอาศัยอยู่
แม้ว่าชาวยุโรปตะวันออกจะเป็นกลุ่มต่างชาติเป้าหมายที่นักการเมืองปราถนาจะตัดสิทธิประโยชน์ แต่กลับปรากฏว่ามีคนอังกฤษและอเมริกันนับพันซึ่งอาศัยในเยอรมนีที่กำลังใช้สิทธิประโยชน์เมื่อว่างงาน ดังนั้นจึงทำให้มีการเรียกร้องให้เข้มงวดเรื่องการจ่ายสวัสดิการแก่ชาวต่างด้าวมากขึ้น
จากสถิติ ณ เดือนมีนาคม 2557 พบว่ามีผู้รับสิทธิประโยชน์ Hartz IV สูงถึง 7.6 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งหมด โดยเบอร์ลินมีจำนวนสูงสุดถึง 17.1 เปอร์เซนต์ และตัวเลขจากสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ ณ เดือนมิถุนายน 2556 ระบุว่ามีชาวอังกฤษ 4,648 คน และชาวอเมริกัน 3,664 คนที่ขอรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งแม้จะไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซนต์ของผู้รับสิทธิประโยชน์ทั้งหมด แต่จำนวนชาวอังกฤษและอเมริกันที่ขอรับสิทธิประโยชน์ที่สามารถทำงานได้ก็ยังมีเปอร์เซนต์สูงกว่าชาวเยอรมันโดยเฉลี่ย กล่าวคือเป็นชาวอังกฤษถึง 87 เปอร์เซนต์ ชาวอเมริกันถึง 83 เปอร์เซนต์ และเป็นชาวเยอรมัน 73 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ จำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ชาวอังกฤษและชาวอเมริกันพุ่งสูงขึ้นนับแต่ปี 2550 อย่างไรก็ตาม ในปีที่แล้ว ผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ชาวอังกฤษและชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 1 เปอร์เซนต์และ 2.6 เปอร์เซนต์ตามลำดับ
ก่อนหน้านี้นาย Hans-Peter Friedrich อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยระหว่างปี 2554-17 ธันวาคม 2556 เคยเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการยุโรปเพิ่มความเข้มงวดในการขอรับสิทธิประโยชน์ของชาวต่างชาติในประเทศสหภาพยุโรปอื่นหรือที่เรียกว่า “welfare tourism”
การยื่นขอรับ สิทธิประโยชน์ Hartz IV ของชาวต่างชาติ
กฎหมายเยอรมนีจะระบุว่าพลเมืองประเทศสมาชิกอียูที่เดินทางเข้ามาเพื่อหางานทำแต่ล้มเหลวจะไม่มีสิทธิขอรับสิทธิประโยชน์เมื่อว่างงาน แต่เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ศาลสังคมของเมือง Gelsenkirchen ได้ตัดสินคดีครอบครัวหนึ่งซึ่งเดินทางมาถึงเยอรมนีในปี 2552 ประกอบด้วยสมาชิกสี่คนที่ถูกปฏิเสธสิทธิในการรับสิทธิประโยชน์ Hartz IV จาก job center ในรัฐ North Rhine-Westphalia ว่า ครอบครัวดังกล่าวได้เข้ามาในเยอรมนีเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีก่อนจะยื่นขอความช่วยเหลือ โดยมิได้ขอรับความช่วยเหลือจาก job center ในทันทีที่เดินทางมาถึง และเนื่องจาก job center ไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอที่จะหางานให้ผู้เป็นบิดาทำ ดังนั้น job center จึงไม่อาจปฏิเสธการช่วยเหลือแก่ครอบครัวซึ่งต้องดำรงชีพด้วยเงินช่วยเหลือบุตรและขายนิตยสารเพื่อคนไร้บ้าน (homeless magazines) ส่วนผู้เป็นมารดานั้นเพิ่งได้งานทำแต่ได้รับค่าจ้างต่ำมากทำให้ยังคงต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐ
การตัดสินของศาลในครั้งนี้อาจทำให้ชาวยุโรปราว 130,000 คนที่กำลังมองหางานทำในเยอรมนีสามารถขอรับสิทธิ Hartz IV ได้ง่ายขึ้น
ที่มา: www.dw.de/the-much-hated-hartz-iv/a-5221558-1
www.dw.de/court…german-welfare…unconstitutional/a-523
หนังสือพิมพ์เดอะโลคอล
—————————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
26 พฤษภาคม 2557