Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : เยอรมนีมีแรงงานสูงอายุเพิ่มมากขึ้น

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 43 /2557


เยอรมนีมีแรงงานสูงอายุเพิ่มมากขึ้น

เยอรมนีกำลังมีแรงงานสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไปได้เพิ่มจำนวนสูงขึ้นเกือบจะเป็นสามเท่าของสองทศวรรษที่ผ่านมาจนสูงกว่าสามล้านคน อะไรทำให้เกิดแนวโน้มนี้  

เยอรมนีมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นโดยสัดส่วนประชากรที่อายุเกินกว่า 60 ปีนั้นเพิ่มมากกว่าผู้อยู่ในช่วงวัยอื่นที่อายุน้อยกว่า ระหว่างปี 2534 และ 2555 คนเยอรมันวัยเกินกว่า 60 ปีที่ยังคงทำงานอยู่เพิ่มจำนวนจาก 1.23 ล้านคน เป็น 3.18 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 160 เปอร์เซนต์ ในขณะที่จำนวนประชากรที่อายุเกินกว่า 60 ปีสูงขึ้น 34 เปอร์เซนต์ 

อัตราผู้อยู่ในวัยใกล้เกษียณก็ทำงานยาวนานขึ้นเช่นกัน จากสถิติของสำนักสถิติแห่งสหพันธ์ฯ ระบุว่าในปี 2555 มีคนเยอรมัน 826,000 คนที่อายุ 65 ปีขึ้นไปที่ยังคงทำงาน เมื่อเทียบกับจำนวนตัวเลขในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ที่มีจำนวนเพียง 320,000 คน เท่านั้น

Dr. Ulrich Walwei รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแรงงานกล่าวว่า ผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่มีจำนวนสูงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งการทำงาน เพราะมีคนที่ไม่ต้องการออกจากงาน และเป็นการยากที่จะบอกว่าคนเหล่านี้ทำงานยาวนานขึ้นเพราะสนุกกับการทำงานหรือเพราะความจำเป็น หรืออาจจะเป็นทั้งสองประการ กล่าวคือคนเหล่านี้มีความสุขในการทำงานและต้องการทำงานให้ยาวนานขึ้น

ตลาดแรงงานสำหรับคนสูงอายุนั้นมีการเคลื่อนไหวน้อยมากเพราะคนสูงอายุเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยากและมีคนสูงอายุจำนวนน้อยมากที่ได้เริ่มงานใหม่ สาเหตุใหญ่ที่สุดที่อยู่เบื้องหลังแนวโน้มนี้คือตลาดแรงงานและการปฏิรูปการเกษียณอายุในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งมีการลดทอนผลประโยชน์และเพิ่มอายุเกษียณให้ยาวนานขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ได้วางแผนที่จะลดอายุเกษียณลงเหลือ 63 ปีสำหรับแรงงานบางกลุ่ม และอาจทำให้ตรงข้ามกับสองทศวรรษที่ผ่านมา กล่าวคือในปี 2540 อายุเกษียณของสตรีเพิ่มขึ้นจาก 60 เป็น 65 ปี และในปี 2551 ได้มีการพิจารณาว่าจะเพิ่มอายุเกษียณเป็น 67 ปีภายในปี 2572 

สำหรับการสนับสนุนด้านการเงินบางส่วนต่อแผนเกษียณอายุนั้นก็ได้สิ้นสุดลงในปี 2552 และสำหรับในปี 2547 ก็ได้มีการลดสิทธิประโยชน์เมื่อว่างงานสำหรับคนสูงอายุจากสูงสุด 32 เดือนเป็น 18 เดือน ทั้งนี้ Dr. Ulrich Walwei ได้ทำการสำรวจแนวโน้มเหล่านี้ในรายงานปี 2554 “เยอรมนี – ไม่ใช่ประเทศของแรงงานสูงอายุ?” ซึ่งพบว่าหากไม่มีการบูรณาการแรงงานสูงอายุและการอพยพเข้ามาในเยอรมนีแล้ว ในปี 2568 กำลังแรงงานของเยอรมนีจะลดลง 15 เปอร์เซนต์

รายงานดังกล่าวระบุว่า การที่คนทำงานมากขึ้นเป็นเพราะประชากรมีการศึกษาดีขึ้น จึงทำให้คนมีคุณสมบัติมากยิ่งขึ้น ยิ่งมีความรู้มากขึ้นก็มีแนวโน้มว่าคนเหล่านี้จะได้รับการว่าจ้างเมื่อมีสูงอายุเพิ่มขึ้น และยิ่งเรียนมากขึ้นเท่าใดคนเหล่านี้ก็มีแนวโน้มจะได้ทำงานมากขึ้นเท่านั้น 

รายงานดังกล่าวพบว่า 67.5 เปอร์เซนต์ของคนวัย 60 – 64 ปีที่มีวุฒิจากมหาวิทยาลัยนั้นยังคงทำงาน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน 35 เปอร์เซนต์ของแรงงานไร้ฝีมือในปี 2550 ดังนั้น เมื่อจำนวนคนจบปริญญาตรีเพิ่มขึ้น ในระยะยาวก็จะมีคนทำงานที่สูงอายุเพิ่มขึ้น

Dr. Ulrich Walwei ยังได้ระบุว่ามีผู้หญิงกำลังทำงานเพิ่มขึ้น ผู้หญิงมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างมาก รูปแบบครอบครัวที่ผู้ชายเป็นผู้หาเงินเลี้ยงครอบครัวกำลังจะหมดไป มีผู้หญิงทำงานมากขึ้นและทำงานนานขึ้นด้วย

ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด เยอรมนีจะต้องปรับตัวให้เคยชินกับแรงงานสูงอายุ เพราะแนวโน้มนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป ดังจะเห็นได้จากคนทำงานวัย 50 ขึ้นไปได้เพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าจาก 2.1 ล้านเป็น 7.3 ล้าน ระหว่างปี 2541 และ 2553

ที่มา: แปลจากหนังสือพิมพ์เดอะโลคอล ฉบับลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2557 

—————————————–

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
10 มิถุนายน  2557


526
TOP