Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : ระบบการศึกษาและฝึกอบรมของเยอรมนี

สถานการณ์ด้านแรงงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เอกสารหมายเลข 6
ฝ่ายแรงงานฯ
25  ส.ค. 57

ระบบการศึกษาและฝึกอบรมของเยอรมนี 
(The German Vocational Education and Training System: VET)

ระบบการศึกษาและฝึกอบรมแบบ dual system ของเยอรมนีนับเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เยอรมนีผ่านวิกฤตเศรษฐกิจทุก ๆ ครั้ง เนื่องจากเป็นระบบที่ทำให้ตลาดแรงงานของเยอรมนีมีแรงงานฝีมือที่ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ เป็นผลทำให้เยอรมนีเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และมีอัตราการว่างงานของประชากรต่ำ 

ผู้มีบทบาทสำคัญในระบบ  
1) หอการค้าและอุตสาหกรรม (IHKs) ทั้งหมดในเยอรมนี 80 แห่งโดยร่วมมือกับสมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเยอรมนี (DIHK) ทั้งนี้ สมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมในเยอรมนีแบ่งเป็น 3 ระดับได้แก่ ระดับท้องถิ่น (IHKs) ระดับประเทศ (DIHK) และระดับระหว่างประเทศ (AHK) 
2) ภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี  
3) รัฐบาลทั้งในระดับรัฐและรัฐบาลสหพันธ์ฯ

DIHK เป็นสมาคมที่ได้รับการจดทะเบียนตามกฎหมาย และเป็นองค์กรระดับสหพันธ์ฯ ทั้งนี้ กฎหมายเยอรมนีกำหนดให้บริษัทของเยอรมนีทั้งหมดต้องเข้าร่วมเป็นสมาชิก IHKs ซึ่งปัจจุบัน IHKs มีสมาชิกทั้งสิ้น 3.6 ล้านบริษัท ส่วน DIHK มีลูกจ้าง 200 คน ทำงานประจำอยู่ที่กรุงเบอร์ลินและกรุงบรัสเซลส์ โดยทำหน้าที่ประสานงานกับเครือข่ายหอการค้าเยอรมัน (German Chambers of Commerce: AHK) ใน 80 ประเทศ  ทั่วโลก

IHKs มีหน้าที่
1) จัดตั้ง ลงทะเบียน ตรวจสอบ ออกใบรับรอง 
2) ดูแลขั้นตอนการฝึกอบรมให้ได้คุณภาพ  
3) เป็นผู้แทนและกำหนดความต้องการ ประโยชน์ และ input ของบริษัทโดยความร่วมมือกับสมาคมธุรกิจอื่น ๆ เช่น สมาคมหอการค้าการช่าง สมาคมหอการค้าเภสัช สมาคมหอการค้าทนายความ และ DIHK

การฝึกอาชีพในระบบ dual system
การฝึกอาชีพจะมีความแตกต่างกันในแต่ละสายอาชีพ ได้แก่  1) อาชีพเฉพาะทาง เช่น ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า เจ้าหน้าที่เทคนิคประจำห้องปฏิบัติการ  2) อาชีพเฉพาะทางแต่สามารถทำงานในวงที่กว้างขึ้น เช่น พนักงานธุรการในงานอุตสาหกรรม ช่างเทคนิค Mechatronics 3) อาชีพที่สามารถทำงานได้หลากหลายสาขา เช่น พนักงานธุรการ เป็นต้น

ประโยชน์ของการฝึกอบรมในระบบ dual system
1) ทำให้ได้แรงงานฝีมือตามที่ต้องการ 
2) ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าแรงงาน 
3) เพิ่มแรงจูงใจและความจงรักภักดีต่อบริษัท 
4) ได้คุณสมบัติที่ตรงกับงาน  
5) ประสิทธิภาพการผลิตจากผู้เข้ารับการฝึก 
6) ก่อให้เกิดแนวโน้มที่ดีสำหรับตลาดแรงงาน 
7) ได้รับประกาศนียบัตรซึ่งเป็นที่ยอมรับ 
8) สามารถนำไปปฏิบัติจริง 
9) ผู้รับการฝึกได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง

สถานการณ์ปัจจบันของระบบ dual system 
ปัจจุบันมีสาขาอาชีพที่รัฐรับรองให้มีการฝึกอบรมประมาณ 350 อาชีพ โดยมีอาชีพที่ได้รับการปรับให้เข้ากับปัจจุบันรวม 189 อาชีพ และมีอาชีพที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่อีก 64 อาชีพนับตั้งแต่ปี 2539 และจากจำนวนผู้รับการฝึก 1.5 ล้านคนพบว่าเป็นหญิง 40 เปอร์เซนต์ และมีหนุ่มสาวในวัยเดียวกันจำนวน 55 เปอร์เซนต์ที่เริ่มการฝึกอบรมในระบบ dual system โดยมีบริษัทประมาณ 470,000 แห่งที่จัดให้ฝึกอบรม

ขณะนี้มีโครงการนำร่องระบบ dual system ในหลายประเทศ ได้แก่  
1) พนักงานขายปลีกในอิตาลี 
2) ผู้จัดการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ในกรีซ ลัตเวีย และรัสเซีย 
3) ช่างเทคนิค Mechatronic ในสเปน สโลวาเกีย ไทย โปรตุเกส และรัสเซีย  
4) วิศวกรเครื่องกลและการผลิตในบราซิล 
5) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหารในรัสเซีย 
6) คณะที่ปรึกษาด้านการฝึกอบรมสาขา Mechatronics โดยตรง ในจีน

——————————————–

เรียบเรียงจากบทบรรยายของ ดร.ไมเคิล บลังค์
สมาคมหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งเยอรมัน
บรรยาย ณ วันที่ 30 กรกฎาคม 2557


459
TOP