ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 63 /2557
ความคืบหน้าเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานฝีมือสู่เยอรมนี
แม้เยอรมนีจะทำการแก้ไขกฎระเบียบว่าด้วยการจ้างงาน (Employment Ordinance :BeschV) ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 โดยกฎหมายที่ปรับใหม่นี้อนุญาตให้นายจ้างสามารถจ้างงานพลเมืองจากประเทศนอกอียูที่มีคุณสมบัติเฉพาะได้โดยไม่จำเป็นต้องตรวจสอบว่ามีคนเยอรมันหรืออียูที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นหรือไม่ แต่จากสถิติของกระทรวงแรงงานสหพันธ์ฯ โดยสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ ฯ (BA) ระบุว่า หลังการปรับกฎหมายดังกล่าวแล้ว เยอรมนีได้ทำการออกวีซ่าทำงานให้กับผู้มีคุณสมบัติระหว่างกรกฎาคม 2556-กรกฎาคม 2557 เพียง 170 คน
การปรับกฎหมายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นนั้นแสดงให้เห็นถึงความต้องการการนำเข้าแรงงานของเยอรมนีเพื่อทำงานในตำแหน่งแทนกำลังแรงงานเยอรมันที่สูงอายุขึ้นเรื่อยๆ โดยหลายพื้นที่กำลังต้องการนักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติ โดยเฉพาะงานที่ต้องผ่านการฝึกอบรมแบบ dual training เช่น อุตสาหกรรมโลหะ ไฟฟ้า หรืองานดูแลผู้สูงอายุ
งานที่อนุญาตให้คนจากประเทศที่สามเข้ามาทำงานได้ตามระเบียบแห่งสหพันธ์ฯ ซึ่งเรียกว่า BA’s “White List” นั้นได้แก่ วิศวกรช่างกลไฟฟ้า ช่างประปา พยาบาลวิชาชีพทั้งเฉพาะทางและทั่วไป และผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุ และมีการประเมินว่า การที่มีจำนวนคนเข้ามาทำงานน้อยแสดงให้เห็นว่าระเบียบที่ปรับใหม่นั้นยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานของเยอรมนี
นับตั้งแต่กรกฎาคม 2556 เยอรมนีเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีคุณสมบัติสูงทางวิชาการและผู้ที่มีคุณสมบัติสูงด้านวิชาชีพเข้ามาในประเทศได้หากมีคุณสมบัติตรงกับอาชีพที่ขาดแคลน และสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ ได้ออกรายการอาชีพที่ยอมรับให้งานบางอาชีพที่ขาดแคลนเข้ามาทำงานโดยไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้สามารถเข้ามาทำงานได้เช่นในอดีต
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันเศรษฐกิจแห่งเยอรมันระบุว่า ภายในปี 2563 จะมีการขาดแคลนแรงงานในสาขาอาชีพ STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) อย่างมาก นักวิชาการมีความเห็นว่า ในระยะยาวจะมีการเคลื่อนย้ายเข้ามาของผู้มีคุณสมบัติสูงมากขึ้น และคาดการณ์ว่า จะมีผู้หญิงทำงานในสายงานนี้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะมีคนหนุ่มสาวที่เรียนในสาขาอาชีพที่ขาดแคลนมากขึ้นเช่นกัน แต่ก็มีนักวิจัยที่เห็นต่างว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้การขาดแคลนแรงงานของเยอรมนีเลวร้ายมากขึ้น เนื่องจากนักเรียนที่จบการศึกษาระดับมัธยมเลือกเรียนในระบบ dual training ลดลงเรื่อย ๆ
มีผู้วิจารณ์ว่า กฎระเบียบใหม่นั้นยังไม่ค่อยแพร่หลาย นอกจากนั้นบริษัทขนาดเล็กยังมีความกังวลเรื่องขั้นตอนยุ่งยากของทางราชการทำให้ไม่สนใจรับนักวิชาชีพที่มีคุณสมบัติจากประเทศที่สามเข้ามาทำงานเพราะเกรงว่าจะมีค่าใช้จ่ายและเสียเวลา แม้แต่การนำเข้าพยาบาลจากเวียดนามก็จะต้องคำนวณค่าใช้จ่ายด้านการเรียนภาษาและดูแลในเรื่องการบูรณาการสู่สังคม อีกทั้งในส่วนของการรับรองคุณวุฒิซึ่งเป็นความรับผิดชอบของหน่วยราชการก็มักมีปัญหาเกี่ยวกับเปรียบเทียบคุณวุฒิทางการศึกษาและปัญหาด้านภาษา ดังนั้น รัฐบาลสหพันธ์ฯ จึงยังมีปัญหาที่จะต้องแก้ไขต่อไปเพื่อให้เยอรมนีมีวัฒนธรรมการต้อนรับอย่างแท้จริง และเนื่องจากปัจจุบันเยอรมนียังไม่ได้ขาดแคลนแรงงานฝีมือในทุกพื้นที่เสียทีเดียว จึงได้มี ความพยายามในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนด้วยการกระตุ้นแรงงานภายในประเทศ เช่นบูรณาการสตรี คนชรา และต่างด้าวเข้าสู่ตลาดแรงงาน และขยายโอกาสให้ผู้ว่างงานได้รับการศึกษาและฝึกอบรม
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อมั่นว่าการเข้ามาของแรงงานจากประเทศที่สามยังเป็นประโยชน์อย่างมาก โดยปีที่ผ่านมามีแรงงานอพยพเข้ามา 437,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 20 ปี โดยสามในสี่มาจากสหภาพยุโรป ส่วนแรงงานจากประเทศที่สามก็มีจำนวนมากที่เข้าร่วมโครงการ Blue Card สำหรับผู้ที่มีคุณวุฒิด้านวิชาชีพขั้นสูง ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการมาแล้วสองปี และมีนักวิชาชีพ 17,000 คนจากประเทศที่สามที่ได้รับถิ่นพำนักและใบอนุญาตทำงาน แต่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่คือผู้ที่ได้เข้ามาอยู่ในเยอรมนีก่อนแล้วแต่เพิ่งเข้าร่วม Blue Card เพื่อให้ได้รับสถานะผู้มีถิ่นพำนัก อาทิเช่น นักศึกษาจากประเทศที่สาม เป็นต้น และเยอรมนียังคงเป็นที่ดึงดูดใจแรงงานฝีมือจากประเทศที่สามต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดอะโลคอล ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2557
—————————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
25 สิงหาคม 2557