ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 6 /2558
แนวทางการทดแทนแรงงานเกษียณอายุของเยอรมนี
บริษัทเยอรมันกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานในทุกภาคส่วนเนื่องจากประชากรสูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการแก้ไขปัญหาของบริษัทเหล่านี้ก็มีหลายแนวทางได้แก่ การใช้หุ่นยนต์ การใช้แรงงานต่างชาติ และการพัฒนารูปแบบงานใหม่ๆ
ตลาดแรงงานสามารถทดแทนแรงงานรุ่น baby boom ที่กำลังเกษียณอายุด้วยประชากรรุ่นใหม่ได้เพียงครึ่งเดียว ดังนั้น นายจ้างจึงต้องหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อทดแทนแรงงานที่ยังขาด ซึ่งอาจได้แก่การใช้รูปแบบการทำงานใหม่กับคนที่อาจมีปัญหากับชั่วโมงทำงานแบบดั้งเดิม โดยนาย Oliver Stettes นักวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจแห่งโคโลญจน์ (Cologne Institute for Economic Research) กล่าวว่า บริษัทต้องตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการเพื่อให้เกิดความน่าสนใจ และต้องปรับรูปแบบให้ตรงกับความต้องการของกำลังแรงงาน เช่น มีชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ต้องดูแลบุตรหรือผู้ที่มีญาติที่ต้องได้รับการดูแล รวมทั้งให้โอกาสลูกจ้างมีความก้าวหน้าในการทำงาน
นอกเหนือจากแนวทางข้างต้นยังมีนายจ้างที่ใช้แนวทางอื่น เช่น บริษัทโฟล์คสวาเก้นที่ประกาศถึงความเป็นไปได้ที่จะทดแทนบุคลากรที่เกษียณอายุจำนวนประมาณ 32,000 คนด้วยหุ่นยนต์ในอีกสิบห้าปีข้างหน้า และมีโรงเรียนที่คัดเลือกครูจากสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้น ส่วนนักการเมืองที่สนับสนุนให้จ้างแรงงานต่างชาติก็ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามาในประเทศเพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้ อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทเยอรมันจำนวนมากที่ยังคงเพิกเฉยต่อแก้ไขปัญหาความขาดแคลนแรงงาน
ทั้งนี้ บริษัท Human resources consulting group Manpower ได้เผยแพร่ผลการศึกษาเกี่ยวกับการขาดแคลนแรงงานฝีมือทั่วโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้ทำการสำรวจบริษัทเยอรมันหนึ่งพันแห่ง และประมาณ 40 เปอร์เซนต์ของบริษัทเยอรมันเหล่านี้กล่าวว่า กำลังประสบปัญหาในการหาผู้มีความเหมาะสมเพื่อบรรจุในตำแหน่งงานว่าง โดยบริษัทกว่า 50 เปอร์เซนต์ที่เป็นกังวลว่าการขาดแคลนแรงงานฝีมืออาจกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน และมีบริษัท 56 เปอร์เซนต์ที่กำลังใช้หลายวิธีการเพื่อรับมือปัญหาการขาดแคลน และวิธีการหนึ่งที่ใช้คือการจ้างผู้ที่ไม่มีเอกสารแสดงว่ามีคุณวุฒิตรงตามตำแหน่ง แต่อาจฝึกเพื่อให้มีคุณสมบัตินั้นได้ แต่ก็มีบริษัทเพียง 13 เปอร์เซนต์ที่ทำเช่นนี้
นาย Oliver Stettes กล่าวว่า เยอรมนีมีคนประมาณ 7.5 ล้านคนที่ไม่มีคุณวุฒิตรงตามที่บริษัทต้องการ ฉะนั้นบริษัทควรตระหนักถึงความเป็นไปได้ในการจ้างผู้ที่อาจไม่มีคุณสมบัติสมบูรณ์ตามที่กำหนด แต่เป็นผู้ที่น่าจะได้รับการฝึกอบรมให้มีคุณสมบัติเหมาะสมได้ แทนที่จะรอคอยผู้มีคุณวุฒิเหมาะสมซึ่งก็จะต้องแข่งขันกับบริษัทที่ใหญ่กว่า อย่างเช่น Daimler หรือ Bosch
นางสาว Sonja Christ-Brendemühl โฆษกจาก Manpower เยอรมนีกล่าวว่า บริษัทส่วนมากยังยึดติดว่า คนที่เรียนหรือฝึกมาด้านใดก็ต้องไปทำงานในด้านนั้น และได้กล่าวถึงอีกทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคือ การแบ่งงานหรือจ้างคนทำงาน part-time ให้มากขึ้นซึ่งมีบริษัทจากการสำรวจ 16 เปอร์เซนต์ใช้ทางเลือกนี้ และหากนำแนวทางนี้มาใช้อย่างจริงจังก็น่าจะเป็นมาตรการที่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา จากการสำรวจยังพบว่ามีบริษัทประมาณ 44 เปอร์เซนต์ที่ไม่ได้ใช้แนวทางใดเพื่อรับมือกับการขาดแคลนแรงงาน
อย่างไรก็ตาม นาย Holger Schäfer นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสที่กำลังทำงาน ณ สถาบันวิจัยด้านเศรษฐกิจแห่งโคโลญจน์ กล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นนานแล้ว และจะยังคงมีการขาดแคลนแรงงานต่อไป ซึ่งมาตรการข้างต้นทั้งหมดอาจยังไม่สามารถแก้ไขความไม่สมดุลทางด้านประชากรศาสตร์ได้ ดังนั้น แรงงานต่างชาติน่าจะเป็นวิธีการที่เติมเต็มช่องว่างของกำลังแรงงานได้เร็วที่สุด เพราะการฝึกอบรมหรือการปรับใช้เทคโนโลยีใหม่นั้นจะต้องใช้เวลานานหลายปี แต่เพราะขณะนี้เยอรมนียังมิได้เป็นประเทศสำหรับแรงงานต่างชาติ ฉะนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาที่ใช้อยู่ปัจจุบันจึงยังไม่เพียงพอ
ที่มา : แปลจากหนังสือพิมพ์เดอะโลคอล ฉบับวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557
—————————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
12 พฤศจิกายน 2557