Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : ตลาดแรงงานเยอรมันยังคงเป็นที่น่าสนใจสำหรับแรงงานจากอียู

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 10 /2558

ตลาดแรงงานเยอรมันยังคงเป็นที่น่าสนใจสำหรับแรงงานจากอียู

สถิติจากสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (German Federal Employment Agency) ระบุว่า แรงงานต่างชาติจำนวนมากยังคงเดินทางเข้ามาในเยอรมนีอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างเดือนพฤษภาคม 2556- เดือนพฤษภาคม 2557 มีแรงงานจากยุโรปตะวันออกและจากกรีซ อิตาลี สเปน และโปรตุเกสจำนวน 1.25 ล้านคนเดินทางเข้ามาเยอรมนี คิดเป็นจำนวนเพิ่มขึ้น 16.8%

แรงงานจากประเทศเหล่านี้ต่างถูกดึงดูดใจด้วยสภาพการทำงานที่มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นในเยอรมนี โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นอยู่ที่ยังต้องดิ้นรนในประเทศบ้านเกิดเมืองนอน ทั้งนี้ แรงงานจากบัลแกเรียและโรมาเนียนั้นมีอัตราการโยกย้ายถิ่นฐานเพื่อไปทำงานสูงมาก โดยมีอัตราการโยกย้ายของแรงงานจากสองประเทศนี้สูงเพิ่มขึ้นถึง 54.4% เป็น 239,995 คน

อย่างไรก็ตาม นาง Frauke Wille โฆษกของสำนักงานจัดหางานแห่งสหพันธ์ฯ ระบุว่าพัฒนาการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดปกตินักโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากประเด็นที่ว่าพลเมืองโรมาเนียและบัลแกเรียสามารถทำงานในอียูโดยไม่มีข้อจำกัดมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557

ประเทศสมาชิกอียูบางประเทศซึ่งรวมถึงอังกฤษ และเยอรมนี ได้กำหนดการควบคุมในช่วงเปลี่ยนผ่านสำหรับคนจากโรมาเนียและบัลแกเรียมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่สองประเทศนี้ได้เข้าร่วมอียูในปี 2550 ซึ่งจำกัดสิทธิในการทำงานและการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ในช่วงเจ็ดปีแรกของการร่วมเป็นสมาชิกอียู

จำนวนแรงงานที่โยกย้ายถิ่นฐานมาจากกรีซ อิตาลี สเปน และโปรตุเกสที่ได้รับการว่าจ้างให้ทำงานในเยอรมนีในปัจจุบันเพิ่มขึ้น 6.9% เป็น 520,791 คน การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงานจากโปแลนด์ ฮังการี เชค สโลวาเกีย สโลวีเนีย เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิธัวเนียเพิ่มขึ้น 17% โดยมีคนจากแปดประเทศนี้จำนวน 492,989 คนที่ทำงานในเยอรมนี

แรงงานจากบัลแกเรียและโรมาเนียนั้นจะได้รับค่าจ้างรายเดือนต่ำกว่าแรงงานเยอรมัน โดยแรงงานจากสองประเทศนี้จะได้รับค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 1,860 ยูโร ในขณะที่แรงงานเยอรมันได้รับค่าจ้าง 2,920 ยูโร

ที่มา แปลจากเว็บไซต์ http://www.staffingindustry.com  ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2557

—————————————–

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
26  พฤศจิกายน 2557

 


401
TOP