ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 13 /2558
นโยบายสำหรับผู้เกษียณอายุของเยอรมนีประสบความล้มเหลว?
นาย Ulrich Schneider ผู้นำสมาคม Parity Association แห่งเยอรมนี ซึ่งเป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นบนหลักการของความเท่าเทียมกันทางโอกาสและดำเนินงานเพื่อความยุติธรรมทางสังคม ได้วิจารณ์ระบบเกษียณอายุของเยอรมนีในปัจจุบันว่ามีความล้มเหลว และแสดงความเห็นว่าเงินบำนาญควรจะมีอัตราอย่างน้อยที่สุดครึ่งหนึ่งของเงินเดือนเพื่อป้องกันมิให้เกิดความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น
นับเป็นเวลาหลายปีที่เยอรมนีได้กำหนดให้คงไว้ซึ่งอัตราเงินสมทบเดิมในทุกกรณี และปัจจุบันมีผู้รับบำนาญในเยอรมนีจำนวนถึง 20.5 ล้านคน ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า ประชากรชาวเยอรมันกำลังเข้าสู่ภาวะสูงวัยเร็วกว่าที่เคยคาดไว้ จากการศึกษาโดยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโคโลญจน์คาดการณ์ว่า คนเยอรมันครึ่งหนึ่งจะมีอายุเกิน 51 ปีในปี 2603 โดยจะมีคนเพียง 36 ล้านคนที่อยู่ในตลาดแรงงานเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวน 50 ล้านคนในปัจจุบัน ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคมได้มีการเพิ่มบำนาญร้อยละ 1.67 สำหรับผู้ที่อยู่ในฝั่งตะวันตกและร้อยละ 2.53 สำหรับผู้สูงอายุในอดีตเยอรมนีตะวันออก ในขณะที่นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 แรงงานเยอรมันจะถูกหักเงินบำนาญลดลงร้อยละ 0.2 เพื่อเป็นการสนองตอบต่อภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรป
นาย Schneider กล่าวว่า เยอรมนีจำเป็นต้องเปลี่ยนจากนโยบายเรียกเก็บเงินสมทบแบบคงที่เป็นนโยบายที่ประกันคุณภาพชีวิต โดยชี้ว่าภายในปี 2563 ผู้ให้การศึกษาแก่เด็กเล็กและเจ้าหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพจะไม่มีโอกาสได้รับบำนาญเพียงพอที่จะทำให้พ้นขีดความยากจน และขณะนี้เยอรมนีกำลังเผชิญกับภาวะผู้สูงอายุยากจน
ที่มา : แปลจากหนังสือพิมพ์เดอะโลคอล ฉบับวันที่ 11พฤศจิกายน 2557
—————————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
28 พฤศจิกายน 2557