ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 18 /2558
เยอรมนีต้องปรับตัวกับการหลั่งไหลเข้ามาของคนต่างด้าว
ปัจจุบันเยอรมนีเป็นประเทศปลายทางที่น่าสนใจของคนต่างด้าวเป็นลำดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เดินทางเข้ามานับแสนคน ในปี 2555 มีผู้ที่เรียกว่า “ผู้อพยพถาวร” เดินทางเข้ามาในเยอรมนีถึง 400,000 คน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิพักในเยอรมนีนานกว่าหนึ่งปี เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 38 เปอร์เซนต์ และสูงกว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามาก
คนเหล่านี้าจากยุโรปตะวันออก และจากยูโรโซนทางใต้ซึ่งมองว่าเยอรมนีมีเศรษฐกิจและตลาดแรงงานเข้มแข็งอีกทั้งรัฐบาลเยอรมนีให้การต้อนรับเพราะยังมีช่องว่างด้านทักษะฝีมือและมีอัตราการเกิดต่ำ Dr Ingrid Tucci จากสถาบันเพื่อการวิจัยเศรษฐกิจแห่งเยอรมนีกล่าวว่า โดยเฉลี่ยคนต่างด้าวมีอายุน้อยกว่าคนเยอรมนี ดังนั้นเยอรมนีจึงจำเป็นต้องต้อนรับคนต่างชาติและพยายามดึงดูดนักศึกษาและผู้มีคุณสมบัติชั้นสูงด้วยการทำให้คนเหล่านี้สามารถเข้ามาอยู่ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งพยายามลงทุนและสร้างวัฒนธรรมในการต้อนรับให้มากขึ้น
นักวิชาการและนายจ้างทุกคนต่างแจ้งว่า เยอรมนีต้องการให้ผู้มีฝีมือเดินทางเข้ามาในเยอรมนี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของสังคมในวงกว้าง เพราะเยอรมนีไม่ได้มองว่าคนต่างชาติเป็นสิ่งคุกคามหรือปัญหาอีกต่อไป แต่มองว่าเป็นความสามารถแฝง ขณะนี้นักธุรกิจกำลังตั้งคำถามต่อสภาเพิ่มขึ้นถึงวิธีการที่จะทำให้มีคนต่างด้าวเข้ามาฝึกงานซึ่งคนเยอรมันไม่ยอมฝึก
แต่อย่างไรก็ตามผู้นำของ the anti-euro AfD กลับต้องการให้ควบคุมการอพยพให้มากขึ้น และเมื่อปี 2556 นายกเทศมนตรีจาก 16 เมืองได้มีหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้อพยพว่างงานจากยุโรปตะวันออกที่หลั่งไหลเข้าไปอยู่อาศัย หลายเมืองหลัก เช่น โคโลญจน์ ดอร์ทมุนด์ และฮันโนเวอร์ต้องประสบปัญหาจากผู้อพยพ
พรรคการเมืองใหม่ให้การสนับสนุนและยอมรับว่า เยอรมนียังมีความต้องการแรงงานต่างด้าวแต่จำเป็นต้องเข้มงวดกวดขันเรื่องการเข้ามาของแรงงานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เพราะเยอรมนียังมีความกังวลเกี่ยวกับความสูญเสียจากความเกลียดชังทางเชื้อชาติเหมือนครั้งสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า มีจำนวนผู้อพยพจากบัลแกเรียและโรมาเนียที่เข้าร่วมอียูในปี 2550 เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในครึ่งแรกของปี 2556 มีคนโรมาเนีย 67,000 คน และคนบัลแกเรีย 29,000 เดินทางเข้ามาในเยอรมนี ในภาพรวมขณะนี้มีคนต่างชาติมากกว่า 7.6 ล้านคนที่ลงทะเบียนเป็นผู้พำนักในเยอรมนี ซึ่งเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่มีการเริ่มบันทึกสถิติไว้ในปี 2510
ที่มา : เรียบเรียงจากเว็บไซต์ http://www.bbc.com/news/world-europe-29686248 ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557
—————————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
11 ธันวาคม 2557