ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 21 /2558
เยอรมนีจะออกกฎหมายกำหนดให้สตรีร่วมเป็นคณะกรรมการของบริษัท
บริษัทขนาดใหญ่ของเยอรมนีกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ภายหลังจากรัฐบาลเห็นชอบร่างกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องมีสตรีอย่างน้อยที่สุดหนึ่งในสามอยู่ในคณะกรรมการของบริษัท
รัฐบาลสามารถบรรลุข้อตกลงได้ภายหลังการเจรจาอย่างดุเดือดเกี่ยวกับโควต้าสำหรับสตรี ซึ่งจะมีการลงนามให้เป็นกฎหมายในเดือนธันวาคม 2557 และบริษัทจะต้องเริ่มปฏิบัติตามกฎหมายภายในปี 2559
การผลักดันเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศข้างต้นจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทขนาดใหญ่ของเยอรมันจำนวน 108 บริษัทและมีบริษัทจำนวนมากที่ได้ต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ โดยหลายบริษัทซึ่งรวมถึงบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ได้ออกมาเตือนว่า หากมีการบังคับกฎหมายฉบับนี้ บริษัทจะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ทั้งนี้คาดว่าจะมีบริษัทขนาดรองลงมาอีกประมาณ 3,500 แห่งที่จะต้องดำเนินการตามเป้าหมายในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในปีที่จะมาถึงนี้
ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่อนุญาตให้บริษัทอ้างเหตุผลว่า ไม่มีสตรีที่มีความเหมาะสมเพียงพอที่จะแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการ โดยหากไม่สามารถแต่งตั้งสตรีให้ดำรงตำแหน่งได้ ก็จะต้องปล่อยตำแหน่งให้ว่างไว้เช่นนั้น
นาง Manuela Schwesig รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสตรีจากพรรค Social Democrats แสดงความคาดหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงของบริษัทตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือ บริษัทขนาดกลาง และนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญยิ่งต่อเรื่องความเท่าเทียมกันเพราะจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในองค์กร สำหรับนาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์ฯ ซึ่งเดิมเคยคัดค้านในเรื่องนี้ก็ได้กล่าวต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ว่า กฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการตัดสินใจแล้วและกำลังจะมีการบังคับใช้ เพราะเยอรมนีคงไม่สามารถทำงานต่อไปโดยปราศจากทักษะของสตรี
อย่างไรก็ตาม นาย Ulrich Grillo ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งเยอรมนีซึ่งแม้จะยืนยันว่า บริษัทต้องการให้สตรีมีบทบาทในตำแหน่งสูงมากกว่านี้ พร้อมทั้งได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรเน้นให้มีการดำเนินการโดยความสมัครใจแทนการกำหนดโควต้า สำหรับนาย Heiko Maas รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้นแสดงความเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวถือเป็นประวัติการณ์และจะทำให้เยอรมนีเป็นประเทศที่มีความทันสมัยมากขึ้น
ผู้นำทางธุรกิจบางรายกล่าวว่า กฎหมายนี้ไม่มีความจำเป็นเนื่องจากความเท่าเทียมกันของทั้งสองเพศคือหลักของรัฐธรรมนูญเยอรมันอยู่แล้ว แต่นาง Manuela Schwesig กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้วความเท่าเทียมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก กฎหมายฉบับนี้จะก่อให้เกิดผลที่มากกว่าเรื่องคณะกรรมการกำกับดูแลเพราะจะมีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงในสังคมในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ เยอรมนีมีระบบคณะกรรมการกำกับดูแลบริษัทที่ต่างจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา กล่าวคือจะมีคณะกรรมการสองระดับประกอบด้วยคณะกรรมการกำกับดูแลซึ่งเป็นบุคคลที่มาจากภายนอก และคณะกรรมการบริหารซึ่งทำหน้าที่บริหารบริษัทอย่างใกล้ชิด
ที่มา : เรียบเรียงจาก http://www.theguardian.com/ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557
—————————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
19 ธันวาคม 2557