Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : แรงงานอียูนิยมเข้าไปทำงานในเยอรมนีมากกว่าอังกฤษ

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 22 /2558


แรงงานอียูนิยมเข้าไปทำงานในเยอรมนีมากกว่าอังกฤษ

ผลการศึกษาประจำปี (International Migration Outlook) โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development -OECD) พบว่า จากการที่อียูได้อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีนั้น มีแรงงานจากอียูเกือบ 30 เปอร์เซนต์ที่เดินทางเข้าสู่เยอรมนีในขณะที่มีเพียง 7 เปอร์เซนต์ที่เดินทางไปยังอังกฤษ

การศึกษาพบว่า เยอรมนีเป็นปลายทางหลักของการเคลื่อนย้ายเสรีในอียู เพราะในปี 2555 มีแรงงานอียูเกือบ 30 เปอร์เซนต์โยกย้ายเข้าไปทำงานในเยอรมนี ผลการศึกษานี้มีขึ้นหลังจากที่นาย David Cameron นายกรัฐมนตรีอังกฤษให้สัญญาณว่า พร้อมจะนำอังกฤษออกจากอียูหากประเทศสมาชิกอียูอื่นยังปฏิเสธที่จะปรับระเบียบว่าด้วยการเคลื่อนย้ายเสรีตามที่อังกฤษเสนอภายหลังจากการที่มีคนอพยพเข้าไปในอังกฤษเพิ่มขึ้นอย่างมาก 

จากสถิติอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2557 แสดงให้เห็นถึงยอดสุทธิของต่างด้าวที่เพิ่มขึ้นจนถึงมิถุนายน 2557 ซึ่งมีจำนวนถึง 260,000 คน สูงมากกว่าตอนที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำงานถึง 16,000 คน ซึ่ง OECD กล่าวว่า จำนวนคนต่างชาติที่อาศัยในอังกฤษสูงขึ้นเป็น 4.9 ล้านคนในปี 2556 หรือคิดเป็น 7.9 เปอร์เซนต์ของประชากรอังกฤษทั้งหมด โดยเป็นคนจากสิบประเทศยุโรปตะวันออกที่เข้าร่วมอียูในปี 2547 ถึง 25.8 เปอร์เซนต์ของต่างชาติทั้งหมดที่พำนักในอังกฤษ และมากกว่าครึ่งหนึ่งมาจากโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม OECD ระบุว่าแม้จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นถึงเกือบสองเปอร์เซนต์ตั้งแต่ปี 2555 แต่จำนวนผู้อพยพถาวรที่เข้ามาในอังกฤษนั้นยังคงอยู่ที่ 15 เปอร์เซนต์ของคนต่างชาติทั้งหมดที่พำนักในอังกฤษซึ่งต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤตการเงินปี 2550 

แม้แรงงานต่างชาติที่ย้ายเข้ามาทำงานในอังกฤษจะลดลง 1 เปอร์เซนต์ แต่เนื่องจากอัตราครอบครัวและผู้อพยพตามหลักมนุษยธรรมเดิมมีจำนวนลดลง ซึ่งนั่นหมายความว่า มีแรงงานต่างชาติโยกย้ายเข้าไปทำงานในอังกฤษเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มีนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยนอกประเทศของตนสูงขึ้นกว่าสองเท่าตัวนับตั้งแต่ปี 2543 จนมีจำนวนถึง 4.5 ล้านคนในปี 2555 และ 12 เปอร์เซนต์ของนักศึกษาเหล่านี้ต่างลงทะเบียนเรียนในอังกฤษ

อังกฤษมีแผนที่จะห้ามมิให้แรงงานจากอียูขอรับสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการในช่วง 4 ปีแรกที่เดินทางมาถึงอังกฤษ และเนรเทศผู้ที่ไม่สามารถหางานทำได้ภายใน 6 เดือน  โดยแผนดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้คนหางานที่ไม่ได้รับการจ้างงานขอรับสิทธิประโยชน์  Universal Credit เมื่อเดินทางมาถึงอังกฤษและจะต้องออกนอกประเทศหากไม่สามารถหางานทำได้ภายในหกเดือน  

แรงงานจากอียูจะสามารถขอรับเงินลดหย่อนภาษีและสิทธิประโยชน์สำหรับบุตร รวมทั้งยื่นขออาศัยในอาคารสงเคราะห์ได้ก็ต่อเมื่อพำนักอยู่ในอังกฤษเป็นเวลาสี่ปีและจะไม่สามารถขอรับสิทธิประโยชน์สำหรับบุตรหรือเงินลดหย่อนภาษีสำหรับบุตรที่อยู่ต่างประเทศได้

ที่มา : แปลจากเว็บไซต์ http://www.telegraph.co.uk  ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2557

—————————————–

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
20  ธันวาคม 2557

 


371
TOP