Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : กฎระเบียบการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในเยอรมนี

สถานการณ์ด้านแรงงานในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
เอกสารหมายเลข 8
ฝ่ายแรงงานฯ
25 ม.ค. 58

 

กฎระเบียบการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในเยอรมนี

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมโดยกฎหมายในแต่ละประเทศทั่วโลก เพื่อควบคุมสินค้าให้มี   ความปลอดภัย มีคุณภาพ  และมีสรรพคุณตามที่กล่าวอ้าง ฉะนั้นการนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเข้ามาในเยอรมนีจึงจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนตามกฎระเบียบการนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางของสหภาพยุโรป (อียู) เช่นเดียวกับประเทศสมาชิกอียูอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อควมปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคในทุกด้าน

สหภาพยุโรปภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมาธิการยุโรป ได้ออกกฎหมาย Derective 2003/15/EC ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2556 เพื่อแก้ไขกฎหมายเครื่องสำอางเดิม (Directive 76/768/EEC) แต่ปัจจุบันกฎหมาย Derective 2003/15/EC ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น EU Cosmetics Regulations  ซึ่งทุกประเทศสมาชิกอียูจะต้องปฏิบัติตามภายใต้มาตรฐานเดียวกันตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2556 เป็นต้นไป โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายในอียูนั้นมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคของสหภาพยุโรป 

นิยามความหมายของคำว่า “เครื่องสำอาง” (Cosmetics) หมายถึง ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารที่นำไปใช้สัมผัสกับ อวัยวะภายนอกของมนุษย์เช่น ผิวหนัง เส้นผม เล็บ ริมฝีปาก เป็นต้น หรือใช้กับฟัน เยื่อบุช่องปาก มีจุดประสงค์เพื่อทำความสะอาด ให้กลิ่นหอม ระงับกลิ่นกาย เสริมความงามให้ดูดียิ่งขึ้น ป้องกัน รักษาให้อยู่ในสภาพที่ดี

กฎระเบียบพื้นฐานผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใน EU

  1. การปฏิบัติตามกฎระเบียบระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยจากการใช้ผลิตภัณฑ์
  2. กรรมวิธีการผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตเครื่องสำอาง (Good Manufacturing Practice: GMP) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บเอกสาร การควบคุมการผลิต การควบคุมการจัดเก็บการขนส่งผลิตภัณฑ์ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาดสินค้า เป็นต้น
  3. การกำหนดแนวทางการจัดทำข้อมูลทางด้านวิชาการและรายละเอียดผลิตภัณฑ์ (Product Information File: PIF) ภายหลังการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์รอบสุดท้าย และพร้อมให้หน่วยงานที่กำกับดูแลตรวจสอบได้
  4. การประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นข้อมูลในภาคผนวก 1 (Annex I) ของ EU Cosmetics Regulations  โดยสามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ http://ec.europa.eu/consumers/cosmetics/cosing/index.cfm?fuseaction=ref_data.annexes_v2
  5. การควบคุมสารจำเพาะ
  • มีการระบุรายชื่อสารต้องห้ามในภาคผนวก (Annex II)  สารที่กำหนดเงื่อนไขและปริมาณการใช้ (Annex III)  สารย้อมสี  (Annex IV) สารกันเสีย (Annex V) และสารกรองแสง UV หรือ UV-filters  (Annex VI)
  • มีการห้ามใช้สารหรือส่วนประกอบที่ถูกจัดอยู่ในประเภทมีฤทธิ์ก่อมะเร็ง มีฤทธิ์ทางพันธุกรรม และก่อให้เกิดพิษ (CMR: Carcinogenic, Mutagenic, Reprotoxic)

       6. การห้ามวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผ่านการทดลองด้วยสัตว์ หรือมีส่วนประกอบที่ผ่านการทดลองด้วยสัตว์ และห้ามการทดลองผลิตภัณฑ์                  เครื่องสำอางหรือส่วนประกอบเครื่องสำอางด้วยสัตว์
       7. ข้อกำหนดการแสดงฉลาก โดยข้อความบนฉลาก บรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อต้องระบุข้อมูลของผลิตภัณฑ์ด้วยตัวอักษรที่ชัดเจน ง่ายต่อการอ่าน ภาษาที่                   ใช้บนฉลากควรเข้าใจง่ายและเหมาะสม บนผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องระบุข้อมูลดังนี้

  • ชื่อและที่อยู่ของผู้รับผิดชอบสินค้าในอียู
  • ประเทศต้นกำเนิดของสินค้าที่นำเข้า
  • ขนาดบรรจุ/ปริมาณสุทธิ
  • ระยะเวลาและวันหมดอายุสินค้า

สัญลักษณ์นาฬิกาทรายจะใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานน้อยกว่า 30 เดือน และจะต้องระบุเดือนปี หรือวันเดือนปีที่หมดอายุ หรือระบุด้วยข้อความ Mindestens haltbar bis และตามด้วยวันเดือนปีที่หมดอายุ

สัญลักษณ์กระปุกเปิดฝาจะใช้สำหรับผลิตภัณฑ์มีอายุมากกว่า 30 เดือน และจะต้องกำหนดวันหมดอายุหลังจากการเปิดใช้งานครั้งแรก 

  • คำเตือน วิธีใช้หรือข้อแนะนำในการใช้สินค้า
  • หมายเลขรุ่นการผลิต (batch number) ของผู้ผลิตหรือตัวเลขอ้างอิงระบุประเภทสินค้า
  • รายชื่อส่วนประกอบตามมาตรฐานสากล (International Nomenclature for Cosmetic Ingredients: INCI เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถระวังส่วนประกอบบางอย่างที่ตนเองแพ้ได้
  • หากมีการใช้วัสดุนาโน (Nanomaterials) เป็นส่วนประกอบ ต้องแสดงชื่อวัสดุนาโนและระบุคำว่า“nano” ต่อท้าย ตัวอย่างเช่น Titanium Dioxide [nano]

            8. แนวทางการกล่าวอ้างสรรพคุณ

            9. การให้เปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์แก่สาธารณะ

            10. การแจ้งให้ทราบถึงผลข้างเคียงจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่อคณะกรรมาธิการยุโรป และมาตรการแก้ไข

การจัดจำหน่ายเครื่องสำอางในเยอรมนี

หากมีการนำเข้าเครื่องสำอางจากประเทศไทยและจากนอกประเทศสหภาพยุโรปเพื่อใช้บริการลูกค้า หรือจัดจำหน่าย “ผู้แทนจำหน่าย หรือ ผู้นำเข้า” ที่มีถิ่นฐานอยู่ในเยอรมนีจะต้องเป็น “ผู้รับผิดชอบ” ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางนั้นโดยตรงตามกฎระเบียบฉบับใหม่นี้ ในกรณีที่เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภค รวมถึงจะต้องเป็นผู้ดำเนินการนำสินค้าไปขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ให้ถูกต้อง โดยผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตจะต้องส่งมอบเอกสารข้อมูลทางด้านวิชาการและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ (PIF) ให้แก่ “ผู้แทนจำหน่าย หรือ ผู้นำเข้า” 

ตาม EU Cosmetics Regulations  นี้ “ผู้รับผิดชอบ” สามารถแจ้งข้อมูลผลิตภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายในอียูต่อคณะกรรมาธิการยุโรปผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทางลิ้งค์ https://webgate.ec.europa.eu/ cpnp/public/tutorial.cfm โดยมีขั้นตอนผ่านดังต่อไปนี้

หลังจากนั้นอาจมีหน่วยงานที่รับผิดชอบมาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าตรงตามที่ได้ลงทะเบียบไว้หรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า สหภาพยุโรปมีกฎเกณฑ์การนำเข้าและระเบียบว่าด้วยศุลกากรที่ค่อนข้างซับซ้อน ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและส่วนประกอบเครื่องสำอางไทยไปสหภาพยุโรป ควรเตรียมความพร้อม ติดตามความเคลื่อนไหวการเปลี่ยนแปลง และศึกษากฎระเบียบใหม่นี้อย่างละเอียดเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียโอกาสด้านการค้า 

เรียบเรียงจาก :

  • บทความเรื่องตลาดธุรกิจสปาไทยในเยอรมนีของสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต และกรุงเบอร์ลิน
  • http://europa.eu/legislation_summaries/consumers/product_labelling_and_packaging/co0013_en.htm
  • http://export.gov/newhampshire/build/groups/public/@eg_us_nh/documents/webcontent/eg_us_nh_050058.pdf
  • http://app.tisi.go.th/EU/pdf/Cosmetic_Mar13.pdf
  • http://nanotec.or.th/nanomarks/?page_id=50

—————————————-


454
TOP