ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 33 /2558
แผนการออกกฎหมายว่าด้วยความโปร่งใสในการจ่ายค่าจ้างของสหพันธ์ฯ
นาง Manuela Schwesig รัฐมนตรีว่าการกิจการครอบครัว ผู้สูงอายุ สตรีและเยาวชน กล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2558 ว่านาง Angela Merkel นายกรัฐมนตรีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้ให้การสนับสนุนแผนการออกกฎหมายว่าด้วยความโปร่งใสในการจ่ายค่าจ้าง
แผนดังกล่าวจะอนุญาตให้ลูกจ้างหญิงเปรียบเทียบเงินเดือนกับลูกจ้างชายที่ทำงานแบบเดียวกัน ทำให้นายจ้างแสดงปฏิกิริยาไม่พึงพอใจ เนื่องจากเห็นว่าจะสร้างบรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจในกลุ่มลูกจ้าง แต่จากการที่นาง Merkel ได้ให้การสนับสนุนแผนดังกล่าว ซึ่งนั่นหมายความว่าจะทำให้สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่รัฐสภาได้ง่ายยิ่งขึ้น อนึ่ง ในข้อตกลงการร่วมรัฐบาลที่มีการลงนามในปลายปี 2556 ระหว่างนาง Merkel จากพรรค Christian Democratic Union (CDU) และพรรค Social Democratic Party (SPD) ก็ได้มีการระบุถึงแผนนี้ไว้ก่อนแล้ว
นาง Schwesig กล่าวว่าต้องการให้มีลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับกฎหมายนี้ในรัฐสภาสหพันธ์ฯ ในปี 2558 ส่วนนาย Volker Kauder ผู้นำ CDU รัฐ Bavaria ก็ได้แถลงให้การสนับสนุนข้อเสนอนี้และเรียกร้องให้นายจ้างพิจารณาสัญญาจ้างงานให้ละเอียดเพื่อตรวจสอบว่าลูกจ้างชายและหญิงต่างได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม
แม้ในทางทฤษฎี ลูกจ้างชายและหญิงควรได้รับค่าจ้างเท่ากันตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติจากสถิติประจำปี 2557 พบว่า ลูกจ้างหญิงกลับได้รับค่าจ้างน้อยกว่าลูกจ้างชายเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 ยูโร ทำให้เยอรมนีมีช่องว่างค่าจ้างระหว่างชายและหญิงถึง 22 เปอร์เซนต์ซึ่งถือว่าสูงที่สุดประเทศหนึ่งในอียู ตัวอย่างเช่น อิตาลีห่างกัน 7.3 เปอร์เซนต์ โปแลนด์ 6.4 เปอร์เซนต์ มอลต้า 5.1 เปอร์เซนต์ สโลวีเนีย 3.2 เปอร์เซนต์
สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งอียู (Eurostat) ระบุว่าผู้หญิงในเยอรมนีมีรายได้ต่อชั่วโมงน้อยกว่าผู้ชายถึง 21.6 เปอร์เซนต์ในปี 2556 ซึ่งดีกว่าช่องว่างรายได้ของชายและหญิงในปี 2551 ไม่มากนัก โดยจะเห็นได้ระหว่างปี 2551 และ2556 ความแตกต่างของรายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมงระหว่างหญิงและชายเยอรมันนั้นลดลงเพียง 1.2 เปอร์เซนต์ ทำให้เยอรมนีเป็นประเทศที่มีความแตกต่างเรื่องรายได้สำหรับลูกจ้างหญิงมากที่สุดรองจากเอสโตเนีย ออสเตรีย และสาธารณรัฐเช็ก ประเด็นนี้น่าจะมีส่วนช่วยหนุนในสิ่งที่นาง Manuela Schwesig รัฐมนตรีว่าการกระทรวงครอบครัวต้องการผลักดันซึ่งก็คือการออกกฎหมายว่าด้วยความโปร่งใสในการจ่ายค่าจ้างที่จะอนุญาตให้ลูกจ้างหญิงตรวจสอบเปรียบเทียบค่าจ้างของตนกับลูกจ้างชายที่ทำงานประเภทเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ความแตกต่างเรื่องค่าจ้างระหว่างชายหญิงในประเทศสมาชิกอียูส่วนใหญ่จะลดลง แต่ในสมาชิกอียู 9 ประเทศกลับมีช่องว่างเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในโปรตุเกส สเปน ลัตเวีย อิตาลี และเอสโตเนียที่มีช่องว่างเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เมื่อดูที่สถิติการทำงานเต็มเวลาและการทำงานพาร์ทไทม์ในกลุ่มผู้หญิงยังพบว่า มีหลายประเทศที่มีสถิติผู้หญิงทำงานพาร์ทไทม์สูงกว่าอัตราการจ้างงานผู้หญิงเต็มเวลาโดยรวม ซึ่งเป็นสถิติที่เกิดขึ้นทั้งในเยอรมนี สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และออสเตรีย ยกเว้นในฟินแลนด์และเอสโตเนียที่พบว่า มีผู้หญิงทำงานเต็มเวลามากกว่าผู้หญิงที่ทำงานพาร์ทไทม์เป็นจำนวนมาก แต่ถึงกระนั้น ลูกจ้างหญิงที่อยู่ในระดับผู้จัดการก็ยังคงมีน้อยในยุโรป
นาง Schwesig มีบทบาทในการผลักดันเรื่องสิทธิของลูกจ้างหญิงในสถานประกอบการและเป็นแรงผลักดันสำคัญในการออกกฎหมายที่กำหนดจำนวนสตรีในคณะกรรมการบริหารของบริษัทขนาดใหญ่และในหน่วยราชการซึ่งผ่านสภาไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2558
ผู้เชี่ยวชาญมีความเชื่อมั่นว่า ข่าวเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำ 8.50 ยูโรต่อชั่วโมงซึ่งเป็นความต้องการหลักของพรรคฝ่ายซ้ายในการทำงานร่วมกับนาง Merkel และพรรค CDU นั้น กำลังมีผลด้านบวกต่อช่องว่างเรื่องค่าจ้าง เพราะลูกจ้างหญิงที่จะได้รับประโยชน์จากค่าจ้างขั้นต่ำนั้นก็คือลูกจ้างส่วนใหญ่ที่เดิมได้รับค่าจ้างต่ำกว่าชั่วโมงละ 8.50 ยูโร
ข้อตกลงเดิมของพรรคร่วมรัฐบาลคือพรรค Christian Democratic Union (CDU) ของนาง Angela และพรรค Social Democratic Party (SPD) เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยความโปร่งใสในการจ่ายค่าจ้างนั้นได้กำหนดให้ดำเนินการเฉพาะบริษัทที่มีลูกจ้างมากกว่า 500 คน แต่ต่อมาได้มีรายงานข่าวว่า นาง Schwesig ต้องการให้ครอบคลุมบริษัททุกแห่งทุกขนาด โดยได้แจ้งให้สหภาพแรงงานและผู้แทนนายจ้างทราบแล้วในการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งเยอรมัน สภาหอการค้าและอุตสาหกรรม และสภานายจ้างแห่งเยอรมันต่างเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวจะนำไปสู่บรรยากาศแห่งความไม่ไว้วางใจ และได้ออกมาเตือนว่าหากมีการผ่านกฎหมายฉบับนี้ก็อาจเกิดความปั่นป่วนและความไม่พึงพอใจขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงกันด้วยหากแผนของนาง Schwesig ในการออกกฎหมายนี้ประสบผลสำเร็จก็อาจเกิดคำถามขึ้นว่าจะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้เป็นไปตามระเบียบความมั่นคงด้านข้อมูลของเยอรมนีได้อย่างไร
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดอะโลคอล ฉบับวันที่ 2, 5 และ 20 มีนาคม 2558
—————————————–
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
31 มีนาคม 2558