Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : คนเยอรมันทำงานจนเลยวัยเกษียณมากขึ้น

 

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 37 /2558


คนเยอรมันทำงานจนเลยวัยเกษียณมากขึ้น

ผลการศึกษาโดยสถาบันเศรษฐกิจแห่งเยอรมัน ณ เมืองโคโลญจน์พบว่า ปัจจุบันมีจำนวนคนเยอรมันที่ทำงานจนเลยวัย 65 ปีเพิ่มมากขึ้น และผู้ที่มีฐานะดีมีแนวโน้มที่จะทำงานเลยวัยเกษียณมากขึ้น

ตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมหยุดทำงาน ได้แก่ นายเฮลมุท ชมิดท์ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดของคนเยอรมัน ซึ่งแม้ขณะนี้จะมีอายุ 96 ปีแล้วแต่ยังคงทำงานชั่วโมงละ 40 สัปดาห์ และยังมีผู้ต้องการขอรับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองจนถึงปัจจุบัน โดยนายชมิดท์ได้กล่าวต่อที่ประชุมซึ่งจัดโดยมูลนิธิ Zeit Stiftung ร่วมกับหอการค้าแห่งฮัมบวร์กเพื่อหาแนวทางเพื่อการขยายอายุการทำงานของคนเยอรมัน ว่าในอดีตประชากรอาจไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มากนักเพราะมักเสียชีวิตเสียก่อนวัยเกษียณ  แต่เมื่อประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น ก็มีความจำเป็นจะต้องทำงานให้นานขึ้น

ในช่วงหลังๆ มานี้ ฝ่ายการเมืองของเยอรมันได้หารือกันเรื่องการขยายกำหนดเกษียณอายุกันมากขึ้น เพราะเยอรมนีเป็นประเทศที่มีประชากรอายุมากที่สุดในโลก (และเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการเจริญพันธ์ต่ำสุด) จึงจำเป็นต้องหาหนทางเพื่อรับมือกับจำนวนผู้เกษียณอายุที่กำลังเพิ่มจำนวนมากยิ่งขึ้น ในขณะที่คนหนุ่มสาวที่จะมาทดแทนผู้เกษียณอายุเหล่านี้กลับน้อยลงตามลำดับ  

เมื่อปี 2550 ได้มีการหารือกันเรื่องการเพิ่มกำหนดเกษียณอายุเป็น 67 ปี แต่ในปี 2557 กลับมีการออกกฎหมายใหม่ที่สนับสนุนโดยพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำให้คำอธิบายว่า การลดอายุเกษียณให้เหลือ 63 ปีสำหรับผู้ที่จ่ายเงินประกันสังคมมาแล้วเป็นเวลา 45 ปีนั้นจะก่อให้ความเสียหายต่อเยอรมนีเป็นอย่างมาก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า เยอรมนีมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2548 มีคนเยอรมันที่อายุเกิน 65 ปี จำนวน 5.0 เปอร์เซนต์ที่ได้รับการจ้างงาน และปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 8.7 เปอร์เซนต์ ซึ่งเกินกว่าอัตราเฉลี่ยของอียูที่อยู่ที่ 8.5 เปอร์เซนต์  ส่วนอังกฤษมีถึง 15.5 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ ดอกเตอร์วิโด ไกลซ์ จากสถาบันเศรษฐกิจแห่งเยอรมัน ณ เมืองโคโลญจน์แจ้งกับหนังสือพิมพ์เดอะโลคอลว่า มีเหตุผลหลักสามประการที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้

ประการแรกคือในช่วง 10 ปีมานี้ ตลาดแรงงานมีความน่าสนใจมากขึ้น การว่างงานลดลงจากประมาณห้าล้านเหลือสามล้านคน สถานการณ์นี้ทำให้คนมีโอกาสมากขึ้นที่จะทำงานอย่างต่อเนื่องจนอายุเกิน 65 ปี

ประการที่สองคือความเชื่อที่ว่าคนมีความสามารถจนถึงอายุ 65 ปีนั้นได้เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เพราะปัจจุบันคนอายุช่วงวัยนี้ได้มองตนเองแตกต่างไปจากเดิม โดยมีความเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีโอกาสพัฒนาตนเองในวัยขนาดนี้

ประการสุดท้าย  คือ แรงกดดันด้านประชากรที่ส่งผลให้เกิดความต้องการให้คนสูงอายุทำงานต่อไปแม้จะมีอายุถึงช่วงวัยที่หากเป็นคนสมัยก่อนคงมีความสุขกับการเกษียณอายุไปแล้ว

การศึกษาข้างต้นได้ลบล้างความคิดที่ว่า ความยากจนคือแรงผลักดันให้คนทำงานแม้จะมีอายุเกิน 65 ปี เพราะมีผู้ที่อายุระหว่าง 65-74 ปี ซึ่งมีเงินได้หลังหักภาษีแล้วมากกว่า 4,500 ยูโรต่อเดือนถึง 24.3 เปอร์เซนต์ที่ยังคงทำงานอยู่ ในขณะที่มีผู้มีเงินได้หลังหักภาษีแล้วน้อยกว่า 1,100 ยูโรต่อเดือนเพียง 4.9 เปอร์เซนต์เท่านั้น ซึ่งรายงานการศึกษาดังกล่าวมองว่า การที่ผู้จ้างงานตนเองทำงานต่อภายหลังอายุเกิน 65 ปีนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่ยังมีกรณีของผู้มีคุณสมบัติสูง เช่น ศาสตราจารย์ที่ยังคงทำงานโดยไม่เกษียณอายุเพราะมองเห็นโอกาสที่จะเติมเต็มความสำเร็จของชีวิต นอกจากนั้นยังมีแนวโน้มว่าคนทำงานจะทำงานต่อหลังวัยเกษียณหากคู่ชีวิตยังทำงานอยู่

รายงานได้แสดงให้เห็นความแตกต่างระหว่างภูมิภาคของเยอรมนีอย่างชัดเจน เช่น รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก ที่ถือว่า การทำงานของคนเลยวัยเกษียณเป็นเรื่องปกติ  และมีคนเลยวัยเกษียณถึง 10.5 เปอร์เซนต์ที่ยังทำงานต่อ ในขณะที่รัฐเมคเลนบูร์ก-เวสเทิร์น พอเมอราเนีย มีคนเลยวัยเกษียณเพียง 4.9 เปอร์เซนต์ที่ยังทำงานต่อ ซึ่งเป็นผลจากความแตกต่างทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองรัฐ กล่าวคือรัฐเมคเลนบูร์ก-เวสเทิร์น พอเมอราเนีย เป็นรัฐในเยอรมันตะวันออกเก่าและยังคงมีจารีตสังคมเคร่งครัดเรื่องการเกษียณอายุในต้นวัยหกสิบ แต่รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก มีวัฒนธรรมการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็กหลากหลายแขนง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะให้ทางเลือกและความยืดหยุ่นแก่ลูกจ้างเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น การเกษียณอายุ เป็นต้น

นักเศรษฐศาสตร์ประมาณการว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า จะมีแรงงาน 50 เปอร์เซนต์เข้าสู่วัยเกษียณอายุ ดังนั้นเยอรมนีจึงต้องปรับทัศนคติเรื่องการทำงานหลังอายุ 65 ปี  ทั้งนี้ นายไกลซ์เสนอแนะว่าสัญญาจ้างที่มี ความยืดหยุ่นนั้นคือกุญแจสำคัญ ต้องมีการใช้กฎหมายที่ทำให้บริษัทสามารถเสนอสัญญาจ้างที่ลดชั่วโมงการทำงานแก่ลูกจ้างสูงวัยได้ โดยเสนอแนะว่า คนสูงอายุควรทำงานเพียง 15 ชั่วโมง แทนการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

ที่มา : ข่าวจากเว็บไซต์ http://www.thelocal.de/jobs/article/ever-more-germans-working-into-retir… ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2558

—————————————–

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
21   พฤษภาคม  2558

 

 

 


468
TOP