Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : แรงงานต่างด้าวในเยอรมนีส่งเงินกลับประเทศถึง 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 43 /2558


แรงงานต่างด้าวในเยอรมนีส่งเงินกลับประเทศถึง 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

 

รายงานจากกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (International Fund for Agricultural Development: IFAD) ระบุว่าในปี 2557 แรงงานต่างด้าวในเยอรมนีได้ส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิดเมืองนอนเป็นจำนวนถึง 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 12.5 พันล้านยูโร 

ยอดตัวเลขการส่งเงินกลับดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่แรงงานต่างด้าวได้ส่งกลับให้ครอบครัวอยู่เป็นประจำ และครอบครัวจะนำเงินที่แรงงานต่างด้าวส่งกลับซึ่งมากกว่า 50 เปอร์เซนต์ของรายได้รวมของครอบครัวไปใช้จ่ายในสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น  อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัย ยารักษาโรค และการศึกษา นายเปโดร เดอ วาสคอนเซโลส หัวหน้าโครงการส่งเงินกลับประเทศของ IFAD กล่าวว่า เงินดังกล่าวนี้ช่วยให้คนในครอบครัวสามารถดำรงชีพ ส่งบุตรไปโรงเรียน จ่ายเป็นค่าที่พักอาศัยและค่าอาหาร ทำให้ครอบครัวมีเงินเก็บออมและสามารถนำไปลงทุนได้

ประเทศที่แรงงานต่างด้าวเข้าไปทำงานและส่งเงินกลับประเทศมากที่สุดได้แก่ รัสเซีย จำนวน 20.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สหราชอาณาจักร จำนวน 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เยอรมนีจำนวน 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฝรั่งเศสจำนวน 10.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอิตาลีจำนวน 10.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สำหรับเยอรมนีนั้นจะต่างกับประเทศอื่นในแง่ที่แรงงานต่างด้าวในเยอรมนีจะส่งเงินกลับไปยังประเทศในอียูด้วยกันเป็นจำนวนมากที่สุด โดยส่งเงินกลับโปแลนด์มากที่สุดถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเลบานอนและฮังการีนั้นพบว่าได้รับเงินส่งกลับจากแรงงานต่างด้าวถึงประเทศละเกือบ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมโยงเกี่ยวกับแรงงานอพยพระหว่างตุรกีและเยอรมนีสะท้อนได้จากความจริงที่ว่า เงินที่แรงงานตุรกีส่งกลับประเทศนั้น 48 เปอร์เซนต์ส่งจากเยอรมนี แต่อย่างไรก็ตาม นายเปโดร เดอ วาสคอนเซโลส กล่าวว่าความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีและเยอรมนีได้เปลี่ยนแปลงไปมากจากหลังปี 1960s ช่วงที่มีโครงการ Guest worker ระหว่างเยอรมนีและตุรกีซึ่งทำให้มีแรงงานตุรกีหลั่งไหลเข้ามาในเยอรมนีเป็นจำนวนมาก นายเดอ วาสคอนเซโลสกล่าวว่า เมื่อทศวรรษที่ผ่านมา ตุรกีได้รับเงินที่แรงงานส่งกลับจากเยอรมนีถึงประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ปัจจุบันได้รับเพียงประมาณห้าร้อยล้านยูโรเท่านั้น เนื่องจากแรงงานเดินทางกลับ และความผูกพันกับครอบครัวในตุรกีลดลง เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของผลกระทบที่เยอรมนีมีต่อตุรกีและพัฒนาการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

สำหรับแรงงานไทยในเยอรมนีซึ่งมีประมาณ 100,000 คนพบว่าจากสถิติของ IFAD ระบุว่า ในปี 2557 ได้ส่งเงินกลับประเทศเป็นจำนวนถึง 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 1,700 ล้านบาท

  ที่มา: กองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม

แม้จะดูเหมือนว่าเงินที่แรงงานต่างด้าวส่งกลับประเทศนั้นจะมีจำนวนที่สูงมาก แต่ก็มิได้ทำให้เกิดผลกระทบต่อความมั่งคั่งของเยอรมนีแต่อย่างใด เพราะจำนวนเงิน 14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่แรงงานต่างด้าวส่งกลับประเทศนั้นคิดเป็นเพียง 0.38 เปอร์เซนต์ของ GDP ของเยอรมนีเท่านั้น 

โดยรวมแล้วแรงงานต่างด้าวในยุโรปต่างส่งเงินกลับประเทศตนประมาณ 109.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งสามารถนำไปช่วยคนได้กว่า 150 ล้านคนทั่วโลก และหนึ่งในสามของเงินที่ส่งกลับนี้ได้ส่งไปยังประเทศในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งยูเครน โปแลนด์ และโรมาเนีย

แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่ส่งเงินกลับประเทศประมาณคนละ 1,500 -3,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งรายงานของ IFAD ได้เรียกร้องให้มีการลดค่าใช้จ่ายในการส่งเงินกลับประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีค่าใช้จ่ายในการโอนเงินข้ามประเทศถึงปีละ 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดอะโลคอล ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2558

—————————————-

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
22 มิถุนายน  2558

 


546
TOP