Skip to main content

หน้าหลัก

ฝ่ายแรงงาน ประจำ สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน : ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่องานมินิจ๊อบ

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 48 /2558


ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่องานมินิจ๊อบ

 

สถิติจากศูนย์มินิจ๊อบเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 ระบุว่ามีผู้ทำงานมินิจ๊อบลดลงในช่วงสามเดือนแรกของปี 2558 หลังการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 ที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นชั่วโมงละ 8.50 ยูโร และเมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 2558 พบว่ามีผู้ทำงานมินิจ๊อบลดลง 237,000 คนเหลือ 6.6 ล้านคนหรือคิดเป็น 3.5 เปอร์เซนต์

งานมินิจ๊อบในบริบทของเยอรมนีนั้นคืองานที่ลูกจ้างได้รับค่าจ้างไม่เกิน 450 ยูโรต่อเดือน ทำให้คนที่มีชั่วโมงทำงานน้อยไม่ต้องเสียภาษี เดิมลูกจ้างที่ทำงานมินิจ๊อบจะได้รับค่าจ้างประมาณ 5-10 ยูโรต่อชั่วโมง ในขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำได้กำหนดไว้ที่ 8.50 ยูโรต่อชั่วโมง และลูกจ้างที่ทำงานมินิจ๊อบจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นผู้ทำงานประจำ

งานมินิจ๊อบได้แก่ งานขายปลีก งานด้านดูแลสุขภาพ และงานบ้าน ซึ่งมีผู้มองว่างานมินิจ๊อบให้โอกาสที่ดีกับผู้ที่อยู่กับบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นมารดา ผู้ที่เกษียณอายุ นักศึกษา  และเป็นงานที่ช่วยให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นด้านกำลังแรงงานมากขึ้น  แต่ก็มีผู้วิจารณ์ระบบนี้ด้วยเช่นกันว่า เจตนาที่กำหนดให้มีงานมินิจ๊อบก็คือเพื่อให้เป็นก้าวแรกสำหรับผู้ที่จะขยับขยายไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ผลก็คือระบบมินิจ๊อบกลับไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้กับนายจ้างที่จะปรับงานมินิจ๊อบให้เป็นงานประจำ  และนายจ้างยังอาจใช้งานมินิจ๊อบมาทดแทนงานประจำด้วยเช่นกัน 

ยอดตัวเลขงานมินิจ๊อบที่ลดลงจากผลของค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะเห็นได้ชัดในรัฐทางตะวันออกของเยอรมนี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าทางตะวันตก โดยที่รัฐแซกโซนี-อันฮัลต์มีอัตราการลดลงสูงสุดถึง 7.7 เปอร์เซนต์ และที่รัฐทูรินเจียลดลงถึง 6.6 เปอร์เซนต์

สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจได้ออกมาเตือนผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่องานมินิจ๊อบ อีกทั้งโฆษกหน่วยงานเพื่อการมีงานทำแห่งสหพันธ์ฯ ยังได้กล่าวว่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้นมีบทบาทอย่างมากต่อการลดลงของงานมินิจ๊อบ โดยเฉพาะในช่วงสองเดือนหลังการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งเห็นได้ชัดว่างานมินิจ๊อบลดลงเป็นสองเท่าจากจำนวนที่ลดลงเมื่อปีก่อน 

ผลการศึกษาโดยกระทรวงกิจการครอบครัวแห่งเยอรมนีในปี 2555 พบว่าสตรีอาจมีความเสี่ยงต่อการที่จะต้องทำงานมินิจ๊อบเป็นเวลายาวนาน ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่ได้มีความตั้งใจให้มินิจ๊อบเป็นระบบที่สร้างสตรีซึ่งไร้อำนาจทางเศรษฐกิจและต้องพึ่งพิงคนอื่น

สถิติจากศูนย์มินิจ๊อบระบุว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ทำงานมินิจ๊อบช่วงต้นปี 2558 เป็นสตรีถึง 60.8 เปอร์เซนต์และเป็นชาย 39.2 เปอร์เซนต์ ส่วนภาคงานที่มีงานมินิจ๊อบเพิ่มขึ้นคืองานบ้านส่วนบุคคล สถิติ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558พบว่ามีผู้ทำงานบ้านถึง 284,000 คน เพิ่มจากปีก่อนหน้าประมาณ 6.1 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ ดร. อีริค ทอมเซน หัวหน้าศูนย์มินิจ๊อบแห่งเมืองเอสเซนกล่าวว่า ลูกจ้างทำงานบ้านมีแนวโน้มที่จะจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผู้หญิงทำงานบ้านแบบมินิจ๊อบถึง 91.4 เปอร์เซนต์ และพบว่าจำนวนลูกจ้างมินิจ๊อบในกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 60-65 ปีเพิ่มขึ้นถึง 2.8 เปอร์เซนต์ ส่วนกลุ่มผู้มีอายุเกิน 65 ปีนั้นเพิ่มขึ้น 1.7 เปอร์เซนต์

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดอะโลคอล http://www.thelocal.de/jobs/article/minimum-wage-is-killing-the-minijob ฉบับวันที่ 20 พฤษภาคม 2558

—————————————–

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
6 กรกฎาคม  2558


542
TOP