Skip to main content

หน้าหลัก

ระบบประกันสังคมของเยอรมนี "สิทธิลางานสำหรับมารดาขณะตั้งครรภ์"

ระบบประกันสังคมของเยอรมนี

บทที่ 2 สิทธิลางานสำหรับมารดาขณะตั้งครรภ์

การคุ้มครองมารดาขณะตั้งครรภ์เป็นไปตามกฎหมาย Protection of Working Mothers Act และOrdinance on the Protection of Mothers at Work ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับกฎหมายด้านอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และเป็นส่วนสำคัญของนโยบายด้านครอบครัวและสังคม

มารดาตั้งครรภ์จะได้รับการคุ้มครองจากอันตรายในการทำงานและการถูกไล่ออกจากงานนับแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงสี่เดือนหลังคลอดบุตรมีสิทธิการลาตามกฎหมายเพื่อคลอดบุตรหกสัปดาห์ก่อนและอย่างน้อยที่สุดแปดสัปดาห์ภายหลังการคลอดบุตร หมายความว่ามารดาสามารถดูแลครอบครัวโดยไม่ต้องแบกรับภาระใน การทำงาน โดยสามารถขยายการลาคลอดบุตรได้ถึงสิบสองสัปดาห์หลังการคลอดบุตรแฝดหรือคลอดก่อนกำหนด ซึ่งช่วงเวลาในการลาก็จะขยายเพิ่มตามสัดส่วนของวันลาที่สูญเสียไปอันเนื่องจากการคลอดบุตรก่อนกำหนด

ในช่วงนี้  มารดาจะได้รับสิทธิประโยชน์การลาคลอดบุตรจากสำนักงานประกันสุขภาพของรัฐและจากนายจ้างเพิ่มเติมภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทและขอบเขตความคุ้มครองการประกันสุขภาพของมารดา นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร หากต้องการ ทั้งบิดามารดาสามารถขอรับสิทธิประโยชน์ในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรในเวลาเดียวกันได้ 

สิทธิของมารดาภายใต้กฎหมาย Protection of Working Mothers Act

สิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสุขภาพตามกฎหมาย

ในช่วงของการคุ้มครองทั้งก่อนและหลังการคลอดบุตร หากมารดาอยู่ภายใต้การประกันสุขภาพ (ทั้งแบบบังคับและแบบสมัครใจซึ่งรวมสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วย) ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์สำหรับมารดาจากกองทุนนี้ โดยมีเงื่อนไขดังนี้

  • มารดาได้รับการจ้างงานหรือเป็นผู้รับงานไปทำที่บ้าน
  • นายจ้างได้ยกเลิกการจ้างงานตามกฎหมายระหว่างมารดาตั้งครรภ์หรือ
  • หากการจ้างงานเริ่มต้นหลังเริ่มช่วงการคุ้มครอง หากมารดาเป็นผู้อยู่ในกองทุนประกันสุขภาพตามกฎหมายในขณะนั้นก็จะมีสิทธิที่จะได้รับสิทธิประโยชน์การลาคลอดตั้งแต่เริ่มการทำงาน
  • หากเป็นสมาชิกโดยสมัครใจของกองทุนประกันสุขภาพตามกฎหมาย และงานหลักคือการทำงานอิสระ มารดารายนั้นจะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์การคลอดบุตรก็ต่อเมื่อได้ยื่นความจำนงต่อกองทุนประกันสุขภาพว่าประสงค์จะรวมสิทธิประโยชน์เมื่อเจ็บป่วยในสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับด้วย (สามารถเลือกได้)

สิทธิประโยชน์สำหรับมารดาขึ้นอยู่กับรายได้เฉลี่ยช่วงสามเดือนสุดท้ายที่หักลดแล้วตามที่กฎหมายกำหนด ในกรณีของการจ่ายรายสัปดาห์ 13 สัปดาห์สุดท้ายก่อนการเริ่มระยะคุ้มครองก่อนการคลอดบุตรก็จะนำมาเป็นฐานในการคุ้มครอง ซึ่งสามารถรับสิทธิประโยชน์ได้สูงสุดถึง 13 ยูโรต่อวัน

สิทธิประโยชน์ในการลาคลอดบุตรจากสำนักประกันแห่งสหพันธ์ฯ
หากมารดาเป็นลูกจ้างแต่ไม่เป็นสมาชิกของกองทุนประกันสุขภาพ (หากมีการคุ้มครองโดยการประกันสุขภาพส่วนบุคคล หรือร่วมประกันตนในฐานะสมาชิกครอบครัวในการประกันสุขภาพตามกฎหมาย) ก็จะมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์การลาคลอดบุตรสูงสุดรวม 210 ยูโร 

การจ่ายเพิ่มโดยนายจ้าง
หากลูกจ้างมีค่าแรงสุทธิเฉลี่ยเกินวันละ 13 ยูโร (ค่าจ้างสุทธิเดือนละ 390 ยูโรขึ้นไป) นายจ้างจะต้องจ่ายส่วนต่างให้เพิ่ม สำหรับผู้ที่ทำงานเล็กๆ น้อยๆ (marginal employment)  หากค่าจ้างสุทธิเกิน 390 ยูโร นายจ้างก็ต้องจ่ายส่วนต่างเช่นเดียวกัน

การคุ้มครองการจ้างงาน
โดยปกติแล้วนายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างขณะลูกจ้างตั้งครรภ์หรือภายในสี่เดือนหลังคลอดบุตร ยกเว้นบางกรณีซึ่งขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของหน่วยงานที่กำกับดูแล (โดยปกติคือหน่วยงานด้านแรงงานหรือหน่วยงานด้านอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน)

นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างด้วยการบอกแจ้งล่วงหน้า แต่ลูกจ้างสามารถยกเลิกการจ้างงานได้ทุกเวลาในช่วงตั้งครรภ์หรือช่วงหลังคลอดบุตร โดยไม่จำเป็นต้องทำงานจนครบกำหนดการบอกแจ้งล่วงหน้า และการเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันสิ้นสุดการลา หากลูกจ้างต้องการยกเลิกการจ้างงานในช่วงก่อนหรือหลังจากนั้นก็จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือการแจ้งล่วงหน้าตามที่เห็นพ้องต้องกัน

ลูกจ้างจะได้รับการคุ้มครองการจ้างงานเป็นพิเศษ หากขอลาหยุดเลี้ยงดูบุตรเมื่อสิ้นสุดวันลาที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย การคุ้มครองนี้จะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ได้แจ้งให้นายจ้างทราบถึงความประสงค์ที่จะขอลาเลี้ยงดูบุตรแต่ต้องไม่เกินแปดสัปดาห์ก่อนเริ่มการลาเลี้ยงดูบุตรและระหว่างการลาเลี้ยงดูบุตร โดยอาจมีข้อยกเว้นในบางกรณี ซึ่งลูกจ้างสามารถยกเลิกการจ้างงานได้ในสองกรณีต่อไปนี้

  •  แจ้งสามเดือนล่วงหน้าก่อนสิ้นสุดวันลาเลี้ยงดูบุตร
  • หรือในช่วงเวลาใดระหว่างหรือภายหลังการลาเลี้ยงดูบุตร แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายหรือการตกลงร่วมกันหรือเป็นตามระยะเวลาการบอกแจ้งล่วงหน้าที่สัญญาจ้างงานกำหนด

การจัดการพื้นที่ในสถานประกอบการ

สำหรับลูกจ้างสตรีที่จะคลอดบุตรหรือต้องให้นมบุตร ทั้งลูกจ้างและบุตรต่างมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองด้านอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบการ ซึ่งนายจ้างต้องดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการคุ้มครองด้านอนามัยและความปลอดภัยด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานประกอบการอย่างเพียงพอ  หรือได้ดำเนินมาตรการป้องกันแล้วตามความจำเป็น ทั้งนี้ จะไม่อนุญาตให้ลูกจ้างตั้งครรภ์และลูกจ้างที่กำลังให้นมบุตรทำงานบางประเภท ตัวอย่างเช่น 

  • ทำงานที่ต้องใช้แรงงานหนัก
  • ทำงานที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสุขภาพจากสารอันตราย รังสี ฝุ่นละออง แก๊ส ไอระเหย ความร้อน ความเย็น ความชื้น การสั่นสะเทือนและเสียง
  • ทำงานเหมา
  • ทำงานเกินแปดชั่วโมงครึ่งต่อวันหรือ 90 ชั่วโมงในสองสัปดาห์ติดกัน มารดาตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในเวลากลางคืน (ระหว่าง 20.00 -06.00 น.) วันอาทิตย์หรือวันหยุดราชการ หรือชั่วโมงทำงานเกินจากชั่วโมงทำงานปกติ

อย่างไรก็ตามมีข้อจำกัดการยกเว้นเกี่ยวกับการห้ามทำงานในเวลากลางคืนและวันอาทิตย์ เช่น นับตั้งแต่เดือนที่สามของการตั้งครรภ์ ไม่อนุญาตให้ลูกจ้างขับรถขนส่ง รถโดยสารประจำทาง รถบรรทุก หรือแท็กซี่ได้ ซึ่งรวมถึงตัวแทนการขายที่ต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของชั่วโมงทำงานบนท้องถนน และนับตั้งแต่เดือนที่ห้าของการตั้งครรภ์ ลูกจ้างอาจไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานที่ต้องยืนต่อเนื่อง หากงานนั้นเกินสี่ชั่วโมงต่อวัน 

นอกเหนือจากงานที่กำหนดข้างต้นแล้ว ลูกจ้างยังอาจถูกห้ามมิให้ทำงานบางประเภทที่เคยทำหากผลการตรวจทางการแพทย์แสดงให้เห็นว่าการทำงานนั้นส่งผลต่อสุขภาพตนเองหรือบุตร ในบางกรณีอาจต้องลดชั่วโมงการทำงานลง

การห้ามมิให้ทำงานด้วยเหตุผลทางการแพทย์จะต่างไปจากการป่วย เนื่องจากลูกจ้างจะไม่สูญเสียค่าจ้างเพราะจะได้รับเงินคลอดบุตรจากนายจ้าง (มิใช่สิทธิประโยชน์การลาคลอดบุตร และสิทธิประโยชน์จากนายจ้างในระหว่างการลาคลอดบุตรตามกฎหมาย) โดยมากจะอัตราเดียวกันกับเงินค่าจ้างสุทธิที่ลูกจ้างได้รับ ซึ่งนายจ้างจะได้รับเงินค่าใช้จ่ายคืน (เงินค่าลาคลอด และเงินสิทธิประโยชน์ลาคลอดในส่วนของนายจ้าง) จากเงินสมทบที่นายจ้างทุกคนจ่าย

ที่มา: เรียบเรียงจากคู่มือประกันสังคม Social Security at a Glance 2014 ของกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมแห่งสหพันธ์ฯ

—————————————————-

ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 39 /2558 

ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน

 

 


671
TOP