ระบบประกันสังคมของเยอรมนี
บทที่ 6 ประชาธิปไตยในระดับอุตสาหกรรม
เมื่อปี 2544 สหพันธ์ฯ ได้ออกกฎหมายปฏิรูป Works Constitution Act เพื่อให้อุตสาหกรรมสัมพันธ์ในสถานประกอบการเกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและลูกจ้างอย่างมีประสิทธิผล กฎหมายนี้ทำให้ผู้แทนลูกจ้างมีโครงสร้างที่ทันสมัย จัดตั้งสภาแรงงาน (Work Councils) ได้ง่ายขึ้น เพิ่มการครอบคลุมสู่การจ้างงานรูปแบบพิเศษเช่นงานชั่วคราว ปรับปรุงสภาพการทำงานของสภาแรงงาน ผู้แทนของเยาวชน และผู้ฝึกงาน เพิ่มสิทธิในการตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับความมั่นคงของงานและการฝึกอบรม เกิดกระบวนการเลือกตั้งในสถานประกอบการที่เรียบง่าย ส่งเสริมโอกาสที่เท่าเทียมกันของผู้หญิงในสถานประกอบการ และยกเลิกการแบ่งแยกลูกจ้าง blue-collar และ white-collar
ขนาดของ Work Council ที่จะจัดตั้งนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของกำลังแรงงานดังนี้
จำนวนลูกจ้างที่มีสิทธิลงคะแนนในสถานประกอบการ | จำนวนสมาชิกที่กำหนดให้มีใน Work Council |
5-20 | 1 |
21-50 | 3 |
51-150 | 5 |
มากกว่า 150 | จำนวนมากขึ้นตามลำดับ |
หากในบริษัทเดียวกันมีหลาย Work Council ก็จะต้องจัดตั้ง Work Council กลาง โดยจะจัดตั้งกลุ่ม Work Council ได้ หากในกลุ่มบริษัทมี Work Council กลางมากกว่าสองแห่งขึ้นไป และหากบริษัทมีลูกจ้างมากกว่า 100 คนก็จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการการเงินซึ่งมีสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลและคำปรึกษาด้านการเงิน ทั้งนี้ Work Council จะเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการ นอกจากนั้นในกรณีที่ Work Council มีสมาชิกตั้งแต่เก้าคนขึ้นไปก็จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานเพื่อจัดการงานในแต่ละวัน ซึ่งผู้แทนสหภาพแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการก็อาจเข้าร่วมประชุม Work Council ได้
สิทธิของลูกจ้าง
ลูกจ้างจะได้รับสิทธิต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารและสิทธิในการให้นายจ้างรับฟังเรื่องที่เกี่ยวกับงานของลูกจ้างโดยตรง โดยสามารถ
- เรียกร้องให้ได้รับทราบเกี่ยวกับนวัตกรรมทางเทคนิคที่จะมีผลกระทบกับงาน
- ดูแฟ้มของลูกจ้าง
- ได้รับคำอธิบายการประเมินผลการทำงานของลูกจ้าง
- ได้รับคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการคำนวณค่าจ้าง
หากเห็นว่ายังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมหรือถูกเลือกปฏิบัติ ลูกจ้างก็สามารถร้องเรียนได้ และสามารถขอรับการสนับสนุนจาก Work Council ได้เช่นกัน เพื่อให้เป็นผู้แทนของลูกจ้างในการดำเนินการกับนายจ้าง
สำหรับสถานประกอบการเอกชนที่มีลูกจ้างอายุมากกว่า 18 ปี จำนวนห้าคนขึ้นไปจะสามารถออกเสียงเลือก Work Council ได้ แต่ต้องมีลูกจ้างอย่างน้อยสามคนที่ทำงานในสถานประกอบการนั้นนานกว่าหกเดือนขึ้นไป อนึ่ง ลูกจ้างอายุต่ำกว่า 18 ปีและผู้ฝึกงานอายุต่ำกว่า 25 ปี หากประสงค์จะเลือกผู้แทนเยาวชนและผู้ฝึกงานก็สามารถกระทำได้เช่นกัน
บริษัทที่มีประกอบการหลายแห่งโดยสถานประกอบการแต่ละแห่งต่างมี Work Council หรือมี Work Council กลุ่มแล้ว มีความจำเป็นต้องจัดตั้ง Work Council กลาง สำหรับหน่วยงานราชการ (ระดับสหพันธ์ฯ ระดับรัฐ และระดับเทศบาล) และหน่วยงานอื่นของภาครัฐไม่จำเป็นต้องมี Work Council เนื่องจากอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยการเป็นผู้แทนของบุคลากรแห่งสหพันธ์ฯ หรือภายใต้กฎหมายลักษณะเดียวกันที่บังคับใช้ในแต่ละรัฐ
Work Council มิได้เป็นผู้แทนของเจ้าหน้าที่บริหารระดับอาวุโส แต่หากสถานประกอบการมีผู้จัดการอาวุโสสิบคนขึ้นไป ก็จะสามารถจัดตั้งคณะกรรมการบริหารได้ ตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการบริหาร โดยจัดตั้งคณะกรรมการบริหารของทั้งบริษัท หรือคณะกรรมการบริหารกลุ่มหากเป็นคณะกรรมการบริหารของกลุ่มบริษัท
สิทธิในการลงคะแนนเสียงให้ Work Council
หลังการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูป Works Constitution Act ทำให้ลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานในบริษัทนานเกินสามเดือนสามารถลงคะแนนเสียงคัดเลือก Work Council ได้ ลูกจ้างทุกคนที่อายุ 18 ปีหรือมากกว่ามีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงให้กับ Work Council อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างไม่มีสิทธิเป็นสมาชิก Work Council หากทำงานในสถานประกอบการเดียวกัน หรือสถานประกอบการอื่นในบริษัทเดียวกันหรือกลุ่มบริษัทเดียวกันไม่ถึงหกเดือน
ภายใต้กฎหมายที่ปรับปรุงใหม่มาตราที่ 5 ได้ถือว่าขณะนี้ ข้าราชการพลเรือน ลูกจ้างในภาครัฐ และทหารต่างเป็นลูกจ้างตามคำนิยามของกฎหมายเช่นเดียวกับการจ้างงานในสถานประกอบการที่เป็นของเอกชน และได้นำมาตรา 5(3) ซึ่งจำแนกลูกจ้างที่เป็นระดับผู้จัดการอาวุโสของสถานประกอบการของเอกชนมาบังคับใช้กับข้าราชการพลเรือนหรือทหาร ซึ่งเป็นการกำหนดทั่วไปให้ข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างภาครัฐลงคะแนนเสียงและรับการคัดเลือกเข้าสู่ Work Council คณะกรรมการที่ปรึกษา และคณะกรรมการบริหาร
งานของ Work Council
งานหลักของ Work Council ได้แก่การทำงานในนามของลูกจ้างเพื่อติดตามตรวจสอบให้นายจ้างทำตามกฎหมายและกฎระเบียบด้านความปลอดภัย การเจรจาต่อรองร่วมกัน และการตกลงภายในบริษัท ซึ่ง Work Council มีส่วนในการร่วมตัดสินใจในเรื่องต่อไปนี้
- ระเบียบภายในเกี่ยวกับสถานประกอบการ หรือความประพฤติของลูกจ้าง
- เมื่อประกาศวันหยุด ปิดประกาศวันหยุดหรือ (ในกรณีที่ลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันไม่ได้) การจัดสรรวันหยุดให้ลูกจ้างแต่ละราย
- สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสวัสดิการสังคมที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในสถานประกอบการ หรือภายในบริษัทหรือกลุ่มบริษัท และการจัดสวัสดิการสังคม
- การใช้กลไกในการตรวจสอบความประพฤติและผลการทำงานของลูกจ้าง
- การใช้มาตรการเพื่อขจัดอันตรายในการทำงาน (อุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย) หรือเมื่อมีประเด็น การคุ้มครองสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง
- การจัดสรรที่พักของทางบริษัทหรือเมื่อมีที่พักว่าง
- องค์ประกอบค่าจ้างในสถานประกอบการเมื่อทำระบบการจ่ายเงิน หรือชิ้นงานหรืออัตราโบนัสหรือ การกำหนดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง
- เมื่อตกลงเรื่องหลักการในการปฏิบัติงานกลุ่ม
Work Council จะดำเนินการในเรื่องต่อไปนี้
- จัดทำ job descriptions กระบวนงาน และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- วางแผนบุคลากร
- การฝึกอบรมวิชาชีพ
Work Council ได้รับสิทธิให้มีส่วนร่วมด้านความมั่นคงในการทำงานและการฝึกอบรมเป็นอย่างมาก เช่น การจัดทำข้อเสนอต่อนายจ้างถึงเรื่องชั่วโมงทำงานที่ยืดหยุ่น การทำงาน part-time และการเกษียณอายุงานบางส่วน การฝึกอบรมลูกจ้างในบริษัท รูปแบบใหม่ขององค์กรและเปลี่ยนแปลงกระบวนงาน
หากนายจ้างวางแผนเปลี่ยนโครงสร้างในสถานประกอบการ (ลดคน ปิดกิจการ หรือย้ายสถานที่ประกอบการ) ผู้แทน Work Council สามารถใช้แผนทางสังคมเพื่อชดเชยหรือบรรเทาผลทางเศรษฐกิจที่ลูกจ้างจะได้รับจากการเปลี่ยนแปลงนั้น
นายจ้างต้องแจ้งให้ Work Council ทราบล่วงหน้าถึงเรื่องทางธุรกิจ เช่น การเทคโอเวอร์ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดการ โดย Work Council ต้องเข้าร่วมในการดำเนินการเทคโอเวอร์ด้วยในกรณีที่ไม่มีคณะกรรมการการเงิน
หากบริษัทมีลูกจ้างที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงยี่สิบคนขึ้นไป นายจ้างจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก Work Council เสียก่อนหากจะดำเนินการเรื่องบุคลากรดังนี้
- แต่งตั้งใหม่
- แบ่งระดับ
- แบ่งระดับใหม่
- โอนย้าย
ในบางกรณี Work Council มีสิทธิตามกฎหมายที่จะไม่ให้ความเห็นชอบ และหากนายจ้างยังคงต้องการใช้มาตรการที่ Work Council ได้ปฏิเสธไปแล้วก็จะต้องนำเรื่องขึ้นสู่ศาลแรงงาน
***นายจ้างต้องรับฟังความคิดเห็นของ Work Council ก่อนไล่ลูกจ้างออก มิฉะนั้นจะถือว่าการไล่ออกเป็นโมฆะ
อนึ่ง Work Council ยังมีสิทธิคัดค้านเรื่องการไล่ออก เช่น หากนายจ้างบอกแจ้งล่วงหน้าว่าจะไล่ลูกจ้างออก Work Council มีสิทธิคัดค้านด้วยเหตุผลตามกฎหมาย และสามารถยื่นดำเนินการได้ว่าเป็นการไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งตามกฎหมายแล้วนายจ้างจะต้องรับลูกจ้างไว้ทำงานต่อไป มีเพียงศาลแรงงานเท่านั้นที่สามารถพิจารณาตัดสินว่านายจ้างควรพ้นภาระจากการต้องจ้างลูกจ้างต่อไปหรือไม่ ซึ่งหาก Work Council มีเหตุผลที่ดีก็จะทำให้เรื่องการถูกไล่ออกอย่างไม่เป็นธรรมของลูกจ้างมีน้ำหนักมากขึ้น
ลูกจ้างทุกคนจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของนายจ้างและ Work Council ที่จะต้องประกันว่าหลักการนี้ได้รับการถือปฏิบัติ กล่าวคือจะไม่มีลูกจ้างใดได้รับการปฏิบัติแตกต่างจากเพื่อนร่วมงานรายอื่นด้วยเหตุของความเป็นมา ศาสนา ความเชื่อ อายุ เพศ ฯลฯ
Work Council ต้องจัดประชุมทุกสี่เดือน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกจ้าง และต้องรายงานกิจกรรมต่อที่ประชุมเพื่อให้ลูกจ้างได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการตัดสินใจของ Work Council และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา
ประชาธิปไตยระดับอุตสาหกรรมในยุโรป
กฎหมายว่าด้วยสภาแรงงานแห่งยุโรป (European Works Councils: EWC) พ.ศ. 2539 ได้นำ EU Directive on European Works Councils มาไว้ในกฎหมายเยอรมันเพื่อให้ข้อมูลและคำแนะนำข้ามพรมแดนแก่ลูกจ้างในสถานประกอบการหรือกลุ่มบริษัทที่ดำเนินงานในอียู หรือในเขตเศรษฐกิจอียู สองประเทศหรือมากกว่า โดยใช้กับสถานประกอบการและกลุ่มบริษัทซึ่งดำเนินงานในเยอรมนีโดยมีลูกจ้างอย่างน้อย 1,000 คนในประเทศสมาชิกและสถานประกอบการที่มีลูกจ้างในสองประเทศอย่างน้อยประเทศละ 150 คน
EWC เป็นองค์กรผู้แทนข้ามชาติของลูกจ้างซึ่งรับผิดชอบในการแจ้งและให้คำปรึกษาลูกจ้างของสถานประกอบการและกลุ่มบริษัทข้ามชาติ เพื่อสนับสนุนผู้แทนลูกจ้างในระดับชาติโดยไม่กระทบต่อกฎหมายในประเทศนั้น
การจัดตั้ง EWC และการจัดระบบข้อมูลและการให้คำปรึกษาแก่ลูกจ้างข้ามพรมแดนจะเป็นความรับผิดชอบจากส่วนกลางและส่วนที่ทำหน้าที่เจรจาต่อรองเป็นการเฉพาะประกอบด้วยผู้แทนจากประเทศอียูที่เกี่ยวข้องโดยให้เป็นไปตามข้อตกลงด้วยความสมัครใจ แม้ EU Directive จะให้แนวทางกว้างๆ แก่ผู้แทนนายจ้างลูกจ้างในการจัดตั้ง EWC แต่ทั้ง EU Directive และกฎหมายของเยอรมนีว่าด้วย EWC ก็วางระเบียบเพื่อเป็นแนวทาง อันจะต้องมีการตกลงเกี่ยวกับความรับผิดชอบและงานของ EWC ขั้นตอนการแจ้งข้อมูลและให้คำปรึกษาแก่ลูกจ้าง สถานที่ ครั้งและระยะเวลาในการประชุม การจัดสรรทรัพยากรและวัสดุ
ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้ EU Directive และกฎหมายเยอรมันว่าด้วย EWC ได้ระบุให้ทำการจัดตั้ง EWC ตามกฎหมายโดยให้รับผิดชอบและมีขั้นตอนในการแจ้งข้อมูลและให้คำปรึกษาตามที่กฎหมายกำหนด
ในการจัดตั้ง EWC นั้น EWC ต้องแจ้งข้อมูลและปรึกษาหารืออย่างน้อยที่สุดปีละหนึ่งครั้งถึงการพัฒนาธุรกิจและโอกาสของสถานประกอบการหรือกลุ่มบริษัท ซึ่งรวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและการเงิน แนวโน้มธุรกิจ การผลิตและการขาย ระดับกำลังแรงงาน การลงทุน การย้ายสถานที่ผลิต การรวมบริษัท การลดหรือปิดบริษัท การดำเนินการหรือสัดส่วนของการดำเนินการและการปลดคนงานออกพร้อมกัน ซึ่งส่วนมากมักระบุไว้ใน Germany’s Works Constititution Act
นอกจากการประชุมแล้ว EWC จะต้องได้รับแจ้ง และหากมีการร้องขอจะต้องได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องข้ามพรมแดนในส่วนที่กระทบต่อกำลังแรงงานและผลประโยชน์ของลูกจ้าง ซึ่งหมายความว่าหากมีสถานการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น ส่วนกลางต้องรายงาน EWC และจัดเอกสารจำเป็นให้โดยเร็วและต้องหารือกับ EWC หาก EWC ร้องขอ โดยปกติแล้วจะต้องหารือ EWC ให้ทันเวลาเพื่อให้มั่นใจว่าข้อเสนอและข้อกังวลนั้นได้นำไปสู่การพิจารณาก่อนตัดสินใจใดๆ ในธุรกิจ
ในปี 2552 ได้มีการปรับเปลี่ยน Directive on European Works Councils โดยการหารืออย่างใกล้ชิดของสมาคมนายจ้างและลูกจ้าง และเปลี่ยนนิยามของคำว่า ข่าวสาร และการปรึกษาหารือ เพื่อประกันว่า EWC จะได้รับการแจ้งข่าวล่วงหน้าทันเวลาก่อนที่จะมีการตัดสินใจปรับโครงสร้างข้ามชาติ ทั้งนี้ EWC มีอำนาจในประเด็นข้ามชาติ และต้องได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ เพื่อให้เป็นตัวแทนกำลังแรงงานร่วมกัน และต้องมีการเจรจากันถึงข้อตกลงการจัดตั้ง EWC อีกครั้งหากมีการปรับโครงสร้างหลักๆของบริษัทหรือกลุ่มบริษัท รวมทั้งสมาชิก EWC ต้องได้รับการฝึกอบรมตามความจำเป็น ซึ่งข้อกำหนดใหม่นี้ได้บรรจุไว้ในกฎหมายเยอรมันคือกฎหมายว่าด้วย EWC ฉบับปรับปรุงซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2554
ที่มา : เรียบเรียงจากคู่มือประกันสังคม Social Security at a Glance 2014 ของกระทรวงแรงงานและกิจการสังคมแห่งสหพันธ์ฯ
—————————————————-
ข่าวแรงงาน ลำดับที่ 14 /2559
ฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน
28 ธันวาคม 2558